xs
xsm
sm
md
lg

เปิดแผนระดมเงินกู้ลงทุน 2.2 ล้านล้านบาท เน้นใช้ตลาดบอนด์เป็นหลัก “คลัง” ลั่นเป็นโอกาสที่เหมาะสมที่สุด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“คลัง” แนะประชาชนมีส่วนร่วมโครงการลงทุน 2.2 ล้านล้านบาท “สบน.” ชี้ สภาพคล่องในประเทศปัจจุบันเหมาะแก่การกู้เงินมาลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ แย้มดำเนินการผ่านพันธบัตรรัฐบาลที่มีหลายประเภท ตลอดการลงทุนก่อสร้างช่วง 7 ปี เฉลี่ยปีละ 100,000-200,000 ล้านบาท โดยกระทรวงการคลังมีพันธบัตรที่เปิดจำหน่าย เช่น พันธบัตรอายุ 3 ปี, 5 ปี, 7 ปี, 10 ปี, 15 ปี, 20 ปี, 30 ปี, 50 ปี และยังมีพันธบัตรอ้างอิงอัตราเงินเฟ้อ โดยจะกระจายการกู้ไปยังหลายประเภท

น.ส.จุฬารัตน์ สุธีธร ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กล่าวระหว่างร่วมงานสัมมนา “ยุทธศาสตร์การลงทุนเพื่ออนาคตของประเทศ” โดยระบุว่า สภาพคล่องในประเทศปัจจุบันเหมาะแก่การกู้เงินมาลงทุนในโครงการเงินกู้ 2.2 ล้านล้านบาท

น.ส.จุฬารัตน์ กล่าวว่า กระทรวงการคลังรับผิดชอบในการกู้เงินจากตลาด โดยแต่ละปีหน่วยงานต่างๆ กู้เงินจากระบบประมาณ 1 ล้านล้านบาทต่อปี แบ่งเป็นธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กู้สัดส่วนประมาณร้อยละ 37 รัฐบาลกู้ร้อยละ 36 รัฐวิสาหกิจกู้ประมาณร้อยละ 7 ส่วนที่เหลือเป็นภาคเอกชนกู้เพื่อขยายการลงทุน

สำหรับการกู้เงินรองรับโครงการลงทุน 2.2 ล้านล้านบาทนั้น จะดำเนินการผ่านพันธบัตรรัฐบาลที่มีหลายประเภท ตลอดการลงทุนก่อสร้างช่วง 7 ปี เฉลี่ยปีละ 100,000-200,000 ล้านบาท โดยกระทรวงการคลังมีพันธบัตรที่เปิดจำหน่าย เช่น พันธบัตรอายุ 3 ปี, 5 ปี, 7 ปี, 10 ปี, 15 ปี, 20 ปี, 30 ปี, 50 ปี และยังมีพันธบัตรอ้างอิงอัตราเงินเฟ้อ โดยจะกระจายการกู้ไปยังหลายประเภท

ปัจจุบัน พันธบัตรออมทรัพย์เปิดจำหน่ายให้แก่ประชาชนทั่วไปในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3.75 ขณะที่พันธบัตรอายุ 10 ปี ให้ดอกเบี้ยประมาณร้อยละ 3.6 อายุ 10-30 ปี ให้ผลตอบแทนดอกเบี้ยร้อยละ 4.2-4.6 นับว่าเป็นต้นทุนที่ต่ำมาก หากไม่รีบกู้ในช่วงนี้ไม่รู้จะกู้ช่วงไหนจึงเหมาะสม และอาจพลาดโอกาสได้ จึงต้องการให้ประชาชนช่วยกันสนับสนุนโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของรัฐบาล ด้วยการซื้อพันธบัตรที่รัฐบาลได้เตรียมออกมาระดมทุนในช่วงนี้

การกู้เงินรองรับโครงการดังกล่าวไม่เป็นห่วงต่อภาระหนี้สาธารณะของประเทศ โดยยอดหนี้สาธารณะ ณ วันที่ 31 มกราคม 2556 มีสัดส่วนร้อยละ 45 แบ่งเป็นภาระหนี้ในประเทศสัดส่วนร้อยละ 93 อีกร้อยละ 7 เป็นภาระหนี้ต่างประเทศ และหนี้ต่างประเทศส่วนใหญ่ปิดความเสี่ยงไว้หมดแล้ว เหลือเพียงร้อยละ 3-4 ยังต้องดูแล ดังนั้น การบริหารหนี้ของประเทศจึงไม่น่าเป็นห่วงว่าจะกระทบต่อฐานะทางการคลัง
กำลังโหลดความคิดเห็น