“คลัง” เตรียมชงปรับโครงสร้างหนี้สาธารณะ ครั้งที่ 1 ในสัปดาห์นี้ คาดขอให้มีการกู้เพิ่ม 7 หมื่นล้าน เพื่อใช้ในโครงการ “จำนำข้าว” พร้อมขยายเงินกู้ให้ “ธ.ก.ส.-บินไทย” เพื่อลดหนี้
น.ส.จุฬารัตน์ สุธีธร ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กล่าวว่า คลังจะเสนอปรับโครงสร้างหนี้สาธารณะ ครั้งที่ 1 ให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบในการประชุมสัปดาห์นี้ โดยการปรับโครงสร้างหนี้ครั้งใหม่มีทั้งในส่วนที่ปรับเพิ่มขึ้น และลดลง
สำหรับหนี้ที่ปรับเพิ่มขึ้น คือ ขอให้มีการกู้เงินอีก 7 หมื่นล้านบาท เพื่อใช้ในการจำนำพืชผลทางการเกษตร โดยเป็นการใช้เงินของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ที่ใช้เงินสภาพคล่องของธนาคารจำนำข้าวปี 2554/2555 ไปก่อน จำนวน 5.3 หมื่นล้านบาท และส่วนที่เหลือ 1.7 หมื่นล้านบาท ธ.ก.ส. จะขอนำไปใช้รับจำนำพืชผลทางการเกษตรชนิดอื่นที่ไม่ใช่ข้าว
นอกจากนี้ ยังมีการปรับแผนเงินกู้ของบริษัท การบินไทย ที่ขอซื้อเครื่องบินเพิ่มขึ้นที่ประมาณ 1,000 ล้านบาท
ขณะที่การกู้เงินของกองทุนประกันภัยพิบัติ มีการขอปรับลดลงจากเดิมตั้งวงเงินไว้ 5 หมื่นล้านบาท ก็จะขอกู้เพียง 3,000 ล้านบาทเท่านั้น ทำให้เงินกู้ลดลงไป 4.7 หมื่นล้านบาท
น.ส.จุฬารัตน์ กล่าวว่า การปรับโครงสร้างหนี้สาธารณะครั้งใหม่นี้ จะทำให้หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นประมาณ 2.7 หมื่นล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ปีงบประมาณ 2556 ที่ผ่านความเห็นชอบจาก ครม.ก่อนหน้านี้ วงเงิน 1.92 ล้านล้านบาท โดยแบ่งเป็นแผนก่อหนี้ใหม่รวม 9.59 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะทำให้การก่อหนี้ใหม่เพิ่มขึ้นจากแผนเดิมไม่มาก
“การประมาณการของ สบน. สัดส่วนหนี้ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ยังอยู่ในกรอบไม่เกิน 50% ของจีดีพี แม้ว่าจะมีการกู้ตาม พ.ร.บ. 2 ล้านล้านบาท ที่จะให้ ครม. เห็นชอบภายในไม่กี่สัปดาห์นี้” น.ส.จุฬารัตน์ กล่าว
ผู้อำนวยการ สบน. กล่าวว่า ในส่วนของการกู้เงินเพื่อใช้ในโครงการจำนำพืชผลทางการเกษตรทั้งหมด คลังได้มีการกำหนดไว้ไม่เกิน 4.1 แสนล้านบาท รวมกับการใช้สภาพคล่องของ ธ.ก.ส. อีก 9 หมื่นล้านบาท รวมเป็นวงเงิน 5 แสนล้านบาท ซึ่งรัฐบาลจะดำเนินการหมุนเงินจำนวนนี้เพื่อการดูแลพืชผลทางการเกษตรทั้งหมดต่อไป
แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า ในวันที่ 26 ก.พ. ที่ประชุม ครม.จะพิจารณาการออก พ.ร.บ.กู้เงิน 2.1 ล้านล้านบาท เพื่อลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งจะเป็นการอนุมัติในกรอบให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน จะระบุว่า เป็นการลงทุนในโครงการน้ำ ระบบรางเท่าไหร่ เป็นต้น ส่วนรายละเอียดของโครงการจะกำหนดในภายหลัง
แหล่งข่าวเปิดเผยว่า พ.ร.บ.นี้ไม่ถือเป็นการผูกมัดรัฐบาลชุดใหม่ว่าต้องดำเนินการต่อไป แต่ถ้าจะดำเนินการต่อจะมีเงินเตรียมไว้แล้ว ช่วยให้ดำเนินการได้ง่าย และมีความโปร่งใส แม้จะก่อสร้างไม่ทันเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 ก็ไม่เป็นไร เพราะเชื่อว่าประเทศเพื่อนบ้านก็ไม่พร้อมเช่นกัน แต่เราต้องทำให้ดีก่อน