“คลัง” กำหนด ดบ.พันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อ อายุ 15 ปี วงเงิน 4 หมื่นล้าน ที่ระดับ 1.25% ระบุ ผลการจำหน่ายพันธบัตรดังกล่าวขายเกลี้ยง 4 หมื่นล้านบาท แต่มีผู้สนใจถึง 1.21 แสนล้านบาท สบน.ขยายวงเงินเพิ่ม
น.ส.จุฬารัตน์ สุธีธร ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) แถลงผลการจำหน่ายพันธบัตรรัฐบาลประเภทอัตราดอกเบี้ยแปรผันตามการเปลี่ยนแปลงของเงินเฟ้อ (Inflation-Linked Bond : ILB) รุ่นอายุ 15 ปี (ILB283A) โดยระบุว่า สบน. ร่วมกับธนาคารผู้ร่วมจัดจำหน่าย (Joint Lead Managers : JLMs) ทั้ง 4 แห่ง ได้แก่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BBL) ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) (KTB) ธนาคารดอยช์แบงก์ สาขากรุงเทพฯ (DB) และธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้แบงกิ้งคอร์ปอเรชั่น จำกัด (HSBC) ทำการสำรวจความต้องการลงทุนของนักลงทุน (Book Build) ที่มีต่อพันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อ (Inflation-Linked Bond : ILB) รุ่นอายุ 15 ปี เพื่อทำการออก ILB รุ่นอายุ 15 ปี วงเงิน 40,000 ล้านบาท โดยการเสนออัตราดอกเบี้ยหน้าตั๋วที่ร้อยละ 1.25 ถึง 1.40 ซึ่งผลการ Book Build สามารถสรุปได้ดังนี้
1.นักลงทุนจำนวน 82 ราย แสดงความสนใจลงทุนใน ILB รุ่นอายุ 15 ปี เป็นวงเงินทั้งสิ้นกว่า 121,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 3 เท่า ของวงเงินจำหน่ายพันธบัตร
2.เนื่องจากนักลงทุนมีความต้องการลงทุนในพันธบัตรเกินวงเงินจำหน่ายพันธบัตรเป็นจำนวนมากจึงส่งผลให้ สบน. สามารถกำหนดอัตราดอกเบี้ยหน้าตั๋ว (Coupon rate) ของ ILB รุ่นอายุ 15 ปี ได้ที่ร้อยละ1.25 โดยมีนักลงทุนแสดงความสนใจลงทุนในพันธบัตรฯ ที่อัตราดอกเบี้ยดังกล่าวกว่า 81,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 2 เท่า ของวงเงินจำหน่ายพันธบัตรซึ่งสามารถแบ่งเป็นนักลงทุนในประเทศประมาณ 1 ใน 3 ส่วน และนักลงทุนต่างชาติประมาณ 2 ใน 3 ส่วน
ในการนี้ สบน. ได้มีการจัดสรรพันธบัตรตามความต้องการของนักลงทุน ดังนี้
- จัดสรรให้นักลงทุนในประเทศร้อยละ 40 ของวงเงินจำหน่ายพันธบัตร (ประมาณ 16,000 ล้านบาท)ได้แก่ นักลงทุนในประเทศจำนวนประมาณ 30 ราย ซึ่งประกอบด้วย กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ สำนักงานประกันสังคม สถาบันการเงินกองทุน กลุ่มผู้ค้าหลักของกระทรวงการคลัง (MOF Outright Primary Dealer) บริษัทประกันชีวิต ตลอดจนสหกรณ์ และนักลงทุนรายใหญ่ (High Net Worth)
- จัดสรรให้นักลงทุนต่างชาติร้อยละ 60 ของวงเงินจำหน่ายพันธบัตร (ประมาณ 24,000 ล้านบาท) โดยทำการจัดสรรพันธบัตรให้แก่นักลงทุนต่างชาติทั้งหมด 35 ราย จาก 11 ประเทศทั่วโลก ซึ่งล้วนเป็นนักลงทุนระยะยาวประเภทกองทุนบริหารสินทรัพย์ระดับโลก (Global Investment Fund) ขนาดใหญ่ทั้งสิ้น
เนื่องจากนักลงทุนมีความต้องการลงทุนใน ILB รุ่นอายุ 15 ปี อย่างท่วมท้น ดังนั้น สบน. จึงมีแผนการที่จะออก ILB รุ่นอายุ 15 ปี เพิ่มเติมบนรุ่นเดิม (Re-open) ผ่านการประมูลระบบอิเล็กทรอนิกส์ (E-auction) อย่างต่อเนื่องโดย สบน. จะทำการติดตามและสังเกตการณ์สภาพคล่องของ ILB รุ่นอายุ 15 ปี ก่อนที่จะประกาศช่วงเวลาการออก ILB รุ่นอายุ 15 ปี ให้ผู้ร่วมตลาดทราบต่อไป
ทั้งนี้ สบน. ขอขอบคุณธนาคารผู้ร่วมจัดจำหน่าย 4 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BBL) ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) (KTB) ธนาคารดอยช์แบงก์ สาขากรุงเทพฯ (DB) และธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้แบงกิ้งคอร์ปอเรชั่น จำกัด (HSBC) และนักลงทุนทุกท่านที่ให้การตอบรับ ILB รุ่นอายุ 15 ปีอย่างดียิ่ง