xs
xsm
sm
md
lg

ค้ำกู้เหลือเงิน2.5แสนล. สบน.ป้องรัฐหนี้ไม่เกิน50%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - ถังแตก! สบน.เผยวงเงินค้ำประกันเงินกู้ รสก.เหลือเพียง 2.5 แสนล้านบาท ป้องรัฐบาลก่อหนี้ต่อเนื่อง 7 ปี จากโครงการ 2 ล้านล้าน และบริหารจัดการระบบน้ำ 3.5 แสนล้าน ส่งผลก่อหนี้เฉลี่ยปีละ 6.9 แสนล้าน ยังไม่เกิน 50% ของจีดีพี

น.ส.จุฬารัตน์ สุธีธร ผู้อำนวยการ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยถึงแผนการกู้เงินเพื่อใช้ในโครงการรับจำนำข้าว ฤดูกาลผลิต 2556/2557ว่า ยังไม่มีความชัดเจนในรูปแบบของเงินที่จะมาใช้ดำเนินการ แต่ขณะนี้ สบน.เหลือวงเงินค้ำประกันเงินกู้ยืมให้กับรัฐวิสาหกิจ (รสก.) เพียง 2.5 แสนล้านบาท เท่านั้น ก็จะเต็มเพดานการค้ำประกันเงินกู้ที่ไม่เกิน 20% ของงบประมาณรายจ่าย
อย่างไรก็ตาม แต่ยังมีวงเงินกู้ยืมเหลือบางส่วนจากมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เดิมที่อนุมัติวงเงินไว้ 4.1 แสนล้านบาท หลังจากได้รับเงินชำระคืนจากการระบายข้าวของกระทรวงพาณิชย์ที่สามารถนำมาใช้ได้
ทั้งนี้ สบน.ได้ประมาณการการก่อหนี้ภาครัฐต่อเนื่อง 7 ปี คือตั้งปี 2557-2563 ตามแผนก่อหนี้ในพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งของประเทศ 2 ล้านล้านบาท และ พ.ร.บ.เงินกู้เพื่อการบริหารจัดการน้ำอีก 3.5 แสนล้านบาท โดยรัฐบาลจะก่อหนี้เฉลี่ยปีละ 6.9 แสนล้านบาท ซึ่งยังทำให้หนี้สาธารณะยังอยู่ในกรอบความยั่งยืนทางการเงินการคลัง ที่ไม่เกิน 50% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ
น.ส.จุฬารัตน์กล่าวว่า เมื่อวันที่ 12 กันยายน สบน.ได้เชิญตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สถาบันการเงินและผู้ค้าตราสารหนี้ เพื่อรับฟังแผนการระดมทุนภาครัฐในปีงบประมาณ 2557 ที่มีแผนในการก่อนหนี้ทั้งสิ้น 7.6 แสนล้านบาท โดยเป็นการกู้ใหม่ 3.9 แสนล้านบาท เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ 2.5 แสนล้านบาท และเพื่อลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่ต่อเนื่อง 1.37 แสน ล้านบาท ส่วนอีก 3.6 แสนล้านบาทเป็นการกู้เพื่อปรับโครงสร้างหนี้พันธบัตรรัฐบาล 2.31 แสนล้านบาท และกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (เอฟไอดีเอฟ) อีก 1.3 แสนล้านบาท และเป็นเงินกู้ตามโครงการบริหารจัดการน้ำอีก 9 พันล้านบาท
สำหรับรูปแบบการระดมทุนจะออกพันธบัตรรัฐบาลอายุ 5-50 ปี เพื่อเป็นอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงมาตรฐานประมาณ 40-50% ของการระดมทุนทั้งหมด 7.6 แสนล้านบาท หรือ 3.7 แสนล้านบาท พันธบัตรออมทรัพย์ 7.1 หมื่นล้านบาท พันธบัตรอ้างอิงอัตราเงินเฟ้อ (ไอแอลบี) 7.5 หมื่นล้านบาท และตราสารหนี้ที่ทยอยคืนเงินต้นอีก 5.5 หมื่นล้านบาท และยังมีเครื่องมือใหม่ที่จะใช้ในการกระจายความเสี่ยงและลดต้นทุนการบริหารจัดการออกพันธบัตร เช่น switching bond และ consolidation bond.
กำลังโหลดความคิดเห็น