“สุภา” เผย “อคส.-อ.ต.ก.” ยอมคายตัวเลขรับจำนำข้าวแล้ว คาดปิดบัญชีขาดทุนพุ่ง 2 แสนล้านบาท พร้อมเป็นห่วง “มูดี้ส์” อาจลดเครดิตประเทศ ย้ำให้เลิกโครงการ ก่อนเกิดความเสียหายหนัก
น.ส.สุภา ปิยะจิตติ รองปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าว เปิดเผยว่า องค์การคลังสินค้า (อคส.) และองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) ยอมส่งข้อมูลจำนำข้าว ณ วันที่ 31 พ.ค.2556 มาให้แล้ว เพื่อใช้ปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าว
สำหรับการปิดบัญชีก่อนหน้านี้ หรือ ณ วันที่ 31 มกราคม 2556 ของฤดูกาลรับจำนำข้าวปี 2554/55 พบว่า มีผลขาดทุน 1.36 แสนล้านบาท จะขาดทุนเพิ่มเท่าไรยังบอกไม่ได้ แต่คาดว่าจะใกล้เคียงกับข้อมูลของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ประมาณการไว้
“ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เคยเป็นทั้งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รมว.คลัง และประธานธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ท่านมีความรู้ดีว่าผลขาดทุนโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลเป็นเท่าไร ขอให้ไปดูข้อมูลของท่านที่ทำไว้”
น.ส.สุภา กล่าวว่า ที่ผ่านมา ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ออกมาระบุว่า การปิดบัญชีอนุกรรมการที่ปีแรกขาดทุน 1.3 แสนล้านบาท และการประเมินผลขาดทุนของสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส ว่า ขาดทุน 2 แสนล้านบาท ถือว่าถูกต้องทั้งคู่ เพราะทั้ง 2 หน่วยงานใช้สมมติฐานต่างกัน ของอนุกรรมการปิดบัญชีนำราคา ณ วันปิดบัญชีไปคิดมูลค่าข้าวที่เหลือว่าจะขายได้เท่าไรทำให้ผลขาดทุนยังออกมาน้อย ส่วนของมูดี้ส์ คำนวณแล้วว่ารัฐบาลจะขายทั้งหมดภายใน 4 ปี ทำให้ผลขาดทุนออกมามากกว่า เพราะข้าวจะมีการเสื่อมทำให้มูลค่าลดลงปีละ 10%
อย่างไรก็ตาม ม.ร.ว.ปีดิยาธร ระบุว่า ในอดีตหากรัฐบาลรับจำนำข้าวเกินปีละ 5 ล้านตัน ต้องใช้เวลาการระบายข้าวถึง 4 ปี แต่รัฐบาลปัจจุบันรับจำนำข้าวถึงปีละ 21 ตัน ทำให้การระบายข้าวต้องใช้เวลามากกว่าคาดว่าอาจจะถึง 6 ปี จะทำให้มีผลขาดทุนเพิ่มปีละไม่ต่ำกว่า 2 แสนล้านบาท
ทั้งนี้ หากรัฐบาลไม่หยุดดำเนินการจะทำให้หนี้สาธารณะเกินกรอบความยั่งยืนทางการคลัง 60% ของผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ทำให้สถาบันความน่าเชื่อถือลดเครดิต (เรตติ้ง) ของประเทศไทยได้ในที่สุด
รายงานข่าวจากกระทรวงการคลัง ยอมรับว่า การปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวที่ล่าช้าทำให้ไม่สะท้อนความเป็นจริง โดยผลที่ขาดทุนที่ออกมาจะต่ำความเป็นจริง เพราะรัฐบาลไม่ต้องการให้ผลขาดทุนออกมาดูสูงทำให้โครงการดูล้มเหลวไม่ประสบความสำเร็จ เพราะที่ผ่านมา โครงการรับจำนำข้าวถูกนำไปเปรียบเทียบกับโครงการรับประกันของรัฐบาลชุดก่อนที่ใช้เงินปีละ 7 หมื่นล้านบาท เทียบกับโครงการรับจำนำข้าวที่ขาดทุนปีละ 2 แสนล้านบาท จะทำให้โครงการรับจำนำข้าวเสียหายมากกว่าโครงการรับประกันถึง 3 เท่า