สบน. เตือนความเสี่ยงการเมืองปะทุ อาจฉุด ศก. ทรุดหนัก ชี้หากสถานการณ์ไปถึงขั้นเกิดสงครามกลางเมือง ประเทศจะถูกปรับลดเครดิตทันที พร้อมยอมรับแนวโน้มหนี้สาธารณะของไทยปรับเพิ่มขึ้นสูงจริง เพราะเศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ต่ำกว่าที่ประมาณการไว้
นายสุวิชญ โรจนวานิช รองผู้อำนวยการสำนักบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยว่า ขณะนี้สถาบันจัดอันดับชั้นนำของโลกต่างๆ จะยังคงอันดับเครดิตความน่าเชื่อถือของประเทศไทยว่าที่ระดับ BBB ที่มุมมองมีเสถียรภาพ เนื่องจากต่างเห็นว่าปัญหาการเมืองของไทยจะได้รับการแก้ไข และประเทศเข้าสู่ภาวะปกติได้ภายในครึ่งแรกของปีนี้ ทำให้เศรษฐกิจไทยเดินหน้าต่อไปได้
โดยที่ผ่านมา สถาบันจัดอันดับเครดิตความน่าเชื่อถือต่างๆ ที่ได้เข้ามาเก็บข้อมูลกับกระทรวงการคลัง ก็มีข้อแม้ว่า หากครึ่งปีหลังประเทศไทยยังไม่สามารถตั้งรัฐบาลใหม่ได้ จะส่งผลกระทบต่อการบริหารประเทศในเรื่องของเศรษฐกิจที่จะไม่ได้รับการแก้ไข ซึ่งอาจจะทำให้ไทยถูกปรับลดเครดิตจากที่เป็นอยู่ปัจจุบัน เพราะสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือต้องปกป้องนักลงทุนให้สามารถปรับตัวการลงทุนจากประเทศไทยที่มีเสถียรภาพน้อยลง
“สถาบันจัดอันดับมองว่า หากครึ่งปีหลังประเทศไทยยังไม่ได้รัฐบาลใหม่ การบริหารเศรษฐกิจไทยจะมีปัญหารุนแรงเพิ่มขึ้น ไม่สามารถออกนโยบายใหม่มาดูแลเศรษฐกิจ เงินกู้จาก พ.ร.ก. 3.5 แสนล้านบาท และ พ.ร.บ. 2 ล้านล้านบาท เบิกจ่ายไม่ได้ และยังไม่สามารถทำงบประมาณปี 2558 มาใช้ได้ทันอีก จะกระทบต่อเศรษฐกิจปีนี้ และปีหน้ารุนแรง”
นอกจากนี้ หากปัญหาการเมืองเกิดความรุนแรงถึงขั้นสงครามกลางเมืองตามที่หลายๆ ฝ่ายกังวล ก็เป็นอีกปัจจัยที่จะทำให้ประเทศไทยถูกปรับลดเครดิตของประเทศไทยทันที เพราะถือว่าประเทศไม่มีเสถียรภาพเหมือนกับเกิดขึ้นที่ประเทศยูเครน
นายสุวิชญ กล่าวว่า แนวโน้มหนี้สาธารณะของไทยปรับเพิ่มขึ้นสูงจริง เพราะเศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ต่ำกว่าที่ประมาณการไว้ ทำให้สัดส่วนหนี้เพิ่มขึ้น เช่น ในปี 2556 คลังคาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวได้ 4-5% ต่อปี แต่ขยายได้จริง 2.9% ต่อปี เช่นเดียวกับในปี 2557 นี้ ที่ประมาณการไว้ว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวได้ 4% ต่อปี แต่ตอนนี้ผ่านไปไม่กี่เดือนกลับเกิดวิกฤตมากมาย ทำให้มองว่าเศรษฐกิจขยายตัวได้ไม่ถึง 3% ต่อปี และหน่วยงานบางแห่งคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจไทยอาจจะไม่ขยายตัวเลย หรือขยายตัวติดลบ ซึ่งหากเป็นจริงย่อมทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะของไทยเพิ่มขึ้นมาก
นายสุวิชญ ยืนยันว่า ปัจจุบันหนี้สาธารณะของไทยยังอยู่ในระดับไม่สูงที่ 45% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) หากคิดแต่หนี้สาธารณะของรัฐบาลเพียงอย่างเดียวอยู่ที่ 32% ต่อจีดีพีเท่านั้น
ปัจจุบัน กระทรวงการคลัง ให้สถาบันจัดอันดับ 6 แห่ง จัดอันดับเครดิตให้กับไทย โดย 3 แห่ง กระทรวงการคลัง ว่าจ้างคือ มูดี้ส์ อินเวสเตอร์เซอร์วิส สแตนดาร์ดแอนด์พัวร์ส และ ฟิทช์ เรทติ้ง ส่วนสถาบันจัดอันดับนอกเหนือจากนี้กระทรวงการคลังประมาณ 3 แห่ง (สถาบันจัดอันดับของญี่ปุ่น 2 แห่ง และเกาหลีใต้ 1 แห่ง) กระทรวงการคลัง ไม่ได้เป็นผู้ว่าจ้าง แต่บริษัทดังกล่าวมีการจัดอันดับเพราะมีนักลงทุนเกาหลีใต้ และญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนในไทยจำนวนมาก
โดยก่อนหน้านี้ บริษัทมูดี้ส์ อินเวสเตอร์เซอร์วิส เตือนว่า ปัจจัยที่อาจส่งผลต่อการ “ปรับเพิ่ม” ความน่าเชื่อถือ ได้แก่ (1) มีความคืบหน้าในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางการเงินของภาครัฐ ซึ่งรวมถึงการลดการขาดดุลงบประมาณ และการลดใช้จ่ายนอกงบประมาณ และการจำกัดภาระผูกพันทางการคลังที่เกิดขึ้นจากนโยบายประชานิยม (2) สถานะดุลการชำระ เงินต่างประเทศมีความเข้มแข็งขึ้น รวมถึงการที่ดุลบัญชีเดินสะพัดกลับมาเกินดุลอีกครั้งและ (3) การปรับตัวดีขึ้นของสถานการณ์การเมือง และธรรมาภิบาลที่จะช่วยสนับสนุนเสถียรภาพในระยะยาว และประสิทธิภาพของรัฐบาล
ส่วนปัจจัยที่อาจส่งทำให้มีการ “ปรับลด” อันดับความน่าเชื่อถือ ได้แก่ (1) เหตุการณ์ทางการเมืองที่หาข้อสรุปไม่ได้ และยืดเยื้อไปจนถึงครึ่งหลังของปี 2557 (2) ความขัดแย้งทางการเมืองที่เพิ่มขึ้น หรือมีการขยายตัวอย่างมากไม่ว่าจะในกรุงเทพมหานคร หรือนอกเขต (3) การชุมนุมที่รุนแรงขึ้น และมุ่งเป้าหมายให้เกิดผลกระทบโดยตรงต่อสินทรัพย์ทางเศรษฐกิจ หรือก่อให้เกิดผลกระทบระยะยาวต่อภาคการท่องเที่ยว และการผลิต (4) การเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของต้นทุนในการระดมทุนของรัฐบาลที่เป็นผลจากความไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองในประเทศ หรือการขาดวินัยทางการคลัง และ (5) การถดถอยลงอย่างรุนแรงของดุลการชำระเงิน และการลดลงอย่างมีนัยสำคัญของเงินทุนสำรองระหว่างประเทศของรัฐบาล