xs
xsm
sm
md
lg

กังวล ศก.ทรุดยาวถึงปี 58 ภาวะเงินไหลออกรุมซ้ำ เตือนหนี้สาธารณะท่วม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สศค. กังวล ศก.ทรุดยาวถึงปี 58 หากถึงกลางปีนี้ยังไม่ได้ รบ.ใหม่เข้ามาทำงาน อาจฉุด “จีดีพี” ปี 57 ต่ำกว่าที่ประมาณการไว้ 3% แถมเจอภาวะเงินไหลออกซ้ำเติมภาวะให้แย่ลงอีก คาดส่งตัวเลขหนี้สาธารณะทะลุ 50% ของจีดีพี เพราะตัวเลขการเติบโต ศก. ต่ำกว่าตัวเลขสมมัติฐานที่ใช้คำนวณสัดส่วนหนี้ ขณะที่เครดิตประเทศกำลังน่าเป็นห่วง เพราะปัญหาการเมืองที่รุนแรงยืดเยื้อ

นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า หากการเลือกตั้งไม่สามารถเกิดขึ้นได้ก็จะทำให้ไม่สามารถตั้งรัฐบาลชุดใหม่ได้ ซึ่งทางคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)ได้ระบุไว้ว่า ต้องใช้เวลาเลือกตั้งไปถึงกลางปีถึงจะเลือกตั้งได้หมด ซึ่งจะทำให้กระทบกับเศรษฐกิจไทยอย่างรุนแรง จากที่ผ่านมา ก็มีปัจจัยลบทำให้ขยายตัวได้ต่ำอยู่แล้ว ซึ่งประมาณการเดิมตัวเลขจีดีพีทั้งปี 57 คาดว่าจะขยายตัวได้ 3.1% ต่อปี บนพื้นฐานที่ว่าสามารถเกิดรัฐบาลชุดใหม่ได้ในเดือน มี.ค. หรือ เม.ย.นี้

“การไม่มีรัฐบาลในกลางปีนี้จะกระทบต่อการทำงบประมาณปี 2558 ล่าช้าไปด้วย เพราะไม่มีเงินลงทุนใหม่เข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจ จากปัจจุบันการเบิกจ่ายงบลงทุนของงบประมาณปี 2557 ก็ล่าช้ามากอยู่แล้ว รวมถึงเม็ดเงินจาก พ.ร.ก.น้ำ 3.5 แสนล้านบาท และ พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท ก็ไม่สามารถเบิกจ่ายมากระตุ้นเศรษฐกิจได้”

นอกจากนี้ การที่ไม่มีรัฐบาลใหม่ยังทำให้คลังไม่สามารถออกมาตรการภาษี และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่ ซึ่งเป็นข้อจำกัดสำคัญของการบริหารเศรษฐกิจในช่วงที่มีปัญหาชะลอตัวรุนแรง

นายสมชัย กล่าวอีกว่า ส่วนการส่งออกของไทยก็ยังต้องลุ้นว่าจะสามารถฉวยโอกาสจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกได้มากน้อยขนาดไหน หากทำได้ดีก็จะช่วยเศรษฐกิจไทยได้มาก แต่ถ้าทำได้ไม่ดีเหมือนปีที่ผ่านมา จะทำให้เศรษฐกิจแย่เพิ่มขึ้น รวมถึงการท่องเที่ยวของไทยก็ยังได้รับผลกระทบการเมืองทำให้ช่วยเศรษฐกิจไทยปีนี้ไม่ได้อย่างที่คาดหวังไว้

“เศรษฐกิจไทยตอนนี้สุ่มเสี่ยงมาก ดูไม่ดีเลย เพราะกว่าจะได้รัฐบาลใหม่ต้องรอถึงกลางปี หรือปลายปีนี้ จะทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ไม่ถึง 3% ต่อปีอย่างแน่นอน ส่วนจะเหลือ 1-2% ต่อปี หรือต่ำกว่านั้นหรือไม่ต้องประเมินวันต่อวัน ซึ่งจะกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจปีหน้าให้ได้น้อยอีกด้วย”

นายสมชัย กล่าวว่า นอกจากปัญหาทางการเมืองแล้ว เศรษฐกิจไทยยังได้รับผลกระทบจากความผันผวนการไหลออกของเงินทุนจากที่ประเทศสหรัฐฯ ลดมาตรการคิวอี ซึ่งเชื่อว่าหากเศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบรุนแรง ทางคณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) ก็อาจจะเห็นใจให้กระทรวงการคลัง หรือรัฐบาลออกมาตรการใหม่ออกมาดูแลเศรษฐกิจได้บ้าง

สำหรับเครดิตของประเทศไทยตอนนี้ก็มีความน่าเป็นห่วง ซึ่งต้องดูว่าการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินจะกินเวลานานหรือไม่ หากยกเลิกได้ไว และไม่มีความรุนแรง เครดิตของประเทศไทยก็ยังสามารถยืนอยู่ระดับเดิมได้ แต่หากมีความรุนแรง และตั้งรัฐบาลได้ช้า เครดิตประเทศไทยก็เสี่ยงที่จะถูกลด เพราะสถาบันจัดอันดับชั้นนำของโลกติดตามสถานการณ์ของประเทศไทยตอนนี้อย่างใกล้ชิด

รายงานข่าวจากกระทรวงการคลัง ยอมรับว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้ที่ขยายตัวต่ำกว่าเป้ามาก ถือเป็นปีที่ 2 ต่อเนื่องจากปี 2556 ที่ขยายตัวได้ 2.8% ต่อปี จะส่งผลให้สัดส่วนหนี้สาธารณะของไทยที่ปัจจุบันอยู่ที่ 45.34% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) เพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมา การบริหารหนี้สาธารณะอยู่ภายใต้สมมติฐานที่เศรษฐกิจขยายตัวได้ไม่น้อยกว่า 4% ต่อปี ทำให้ปีนี้สัดส่วนหนี้สาธารณะของไทยจะเกิน 50% ของจีดีพีได้

โดยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมาระบุว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้จะขยายตัวไม่ถึง 3% ต่อปี จากปัญหาการเมืองยืดเยื้อ ขณะที่บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ธนชาต คาดการเศรษฐกิจปีนี้ขยายตัวได้แค่ 2% ต่อปี จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 3.2% ต่อปี เนื่องจากโครงการประชานิยมอ่อนแรง และคาดว่าปี 2558 เศรษฐกิจจะขยายตัวได้ 3.8% ต่อปี จากเดิมที่คาดไว้ 4% ต่อปี
กำลังโหลดความคิดเห็น