ธปท.ชี้สินเชื่อรวมปีหน้าโตได้ 7% ต่ำกว่าช่วง 20 เดือนที่ผ่านมา ระบุการเติบโตยังปกติตามภาวะเศรษฐกิจจริง ขณะที่ปีหน้าคาดรัฐเบิกจ่ายเงินกู้ 2 ล้านล้านบาท ได้แค่ 5 หมื่นล้านบาท ส่วนการลดคิวอีจะอาจมีผลให้เงินไหลออกบ้าง ชี้มีแผนรับมือไว้แล้ว ปีหน้า ธปท.จะผสมผสานเครื่องมือเพื่อรักษาความเชื่อมั่นกรอบนโยบายการเงิน
นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า จากการสำรวจล่าสุด ธปท.คาดว่าการขยายตัวสินเชื่อโดยรวมของธนาคารพาณิชย์ไทยตลอดปี 56 อยู่ที่ระดับกว่า 9% เทียบช่วงต้นปีประเมินไว้ 14% เป็นระดับนี้ต่อเนื่อง 10-20 เดือนที่ผ่านมา และคาดว่าในปี 57 สินเชื่อโดยรวมอยู่ที่ 7% ซึ่งการขยายตัวสินเชื่อระดับนี้เทียบกับก่อนหน้ากว่า 10% ถือว่าเป็นอัตราปกติ สมเหตุสมผลตามภาวะเศรษฐกิจจริงที่เกิดขึ้น อีกทั้งขณะนี้เริ่มคลายความกังวลเสถียรภาพการเงินได้ระดับหนึ่ง
นอกจากนี้ เห็นว่าในภาวะการเมืองในขณะนี้อาจจะมีผลต่อการเบิกจ่ายงบประมาณประจำปี 57 ไม่มาก หรืออาจจะมีแผนสำรองด้วยการตั้งงบประมาณกลางปีแทน หากโครงการนอกงบประมาณต่างๆ ยังมีปัญหาอยู่ ส่วนของ พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้าน ธปท.ประเมินว่าจะสามารถเบิกจ่ายเม็ดเงินได้ 5 หมื่นล้านบาท
ฉะนั้น บทบาทภาคการคลังจะช่วยผลักดันเศรษฐกิจไม่มากนัก สำหรับภาวะต่างประเทศจะยังมีความไม่แน่นอนสูงอย่างมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (คิวอี 3) ก็มีสัญญาณไม่ชัดเจนว่าจะดำเนินการเมื่อไร และลดเท่าไร ทำให้บางเวลามีเงินทุนไหลออกบ้าง แต่เชื่อว่าเงินทุนไหลออกจะไม่มากเกินไปจนกระทบเศรษฐกิจไทยมากนัก อีกทั้ง ธปท.ระมัดระวัง และติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งเตรียมแผนรองรับรูปแบบต่างๆ ไว้แล้ว
ผู้ว่าการ ธปท.กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยช่วงปี 56 จะประคองต่อไปยังปี 57 โดยเห็นว่าปัจจัยบวกสนับสนุนเศรษฐกิจไทย ได้แก่ การฟื้นตัวเศรษฐกิจโลกจะส่งผลดีต่อภาคส่งออกไทย การอุปโภคบริโภคปรับตัวดีขึ้นจากปีนี้เป็นช่วงปรับฐาน และปัญหาหนี้ครัวเรือนเริ่มดีขึ้น ขณะที่การลงทุนคาดว่าจะมีมาบ้างจากกิจกรรมของภาครัฐบ้าง เพื่อให้ประเทศเดินหน้าไปได้ แม้ก่อนหน้านี้จะหวังภาคเอกชนจะลงทุนตามโครงการลงทุนภาครัฐเต็มที่ ทั้งนี้ ถ้าปัจจัยเหล่านี้กลับกันก็จะเป็นความท้าทายสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยต่อไป
สำหรับนโยบายการเงินในปีหน้า ธปท.จะสมผสานเครื่องมือต่างๆ เข้าไว้ด้วยกัน เพื่อรักษาความเชื่อมั่นกรอบนโยบาย พยายามให้กรอบนโยบายมีความยืดหยุ่น และมีเครื่องมือหลากหลาย รวมถึงพยายามเสริมพื้นฐานเศรษฐกิจไทย โดยด่านแรกสุดจะดูแลให้ค่าเงินบาทมีความยืดหยุ่นในการรักษาเสถียรภาพการเคลื่อนย้ายเงินทุน ถัดมาการเพิ่มความยืดหยุ่นการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศ และการใช้อัตราดอกเบี้ยนโยบายให้มีความยืดหยุ่น
“การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% ครั้งที่ผ่านมา เนื่องจากชี้ชัดว่าช่วงไตรมาส 3 ของปีนี้ การขยายตัวเศรษฐกิจไทยในปีนี้ต่ำกว่าคาดการณ์ไว้มาก ประกอบกับเมื่อมองไปในปี 57 อัตราการขยายตัวเศรษฐกิจต่ำกว่าที่คาดการณ์ และเมื่อเทียบกับศักยภาพต่ำมาก ซึ่งล่าสุด ประเมินไว้ 3% ปีนี้และปีหน้ากว่า 4% แต่ยังไม่รวมผลการเมืองที่เกิดขึ้น” นายประสารกล่าว