“มูดี้ส์” ยืนยันอันดับความน่าเชื่อถือของไทย พร้อมทั้งให้แนวโน้มมีเสถียรภาพ ชี้การต่อสู้ทางการเมืองไม่มีผลบั่นทอนอย่างมีนัยสำคัญ
นายสุวิชญ โรจนวานิช ที่ปรึกษาด้านตลาดตราสารหนี้ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยว่า เมื่อเช้าวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2557 บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส (Moody’s Investors Service) ได้ยืนยันอันดับความน่าเชื่อถือของพันธบัตรรัฐบาลของประเทศไทยที่ระดับ Baa1 โดยมีแนวโน้มความน่าเชื่อถือที่มีเสถียรภาพ (Stable Outlook) ขณะเดียวกัน ได้ยืนยันอันดับความน่าเชื่อถือระยะสั้นของไทยที่ระดับ Prime-2 และอันดับความน่าเชื่อถือสำหรับการออกตราสารหนี้แบบ MTN หรือแบบ Shelf Registration ที่ (P) Baa
ทั้งนี้ การยืนยันอันดับความน่าเชื่อถือของมูดี้ส์ฯ ของประเทศไทยมีพื้นฐานจากมุมมองว่า พื้นฐานความน่าเชื่อถือมีความโดดเด่นกว่าความไม่สงบทางการเมืองในประเทศที่เกิดขึ้นตั้งแต่มีการปฏิวัติเมื่อปี 2549 แนวโน้มความน่าเชื่อถือที่มีเสถียรภาพสะท้อนถึงการคาดการณ์ว่า การกลับมาของการต่อสู้ทางการเมืองที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ จะไม่บั่นทอนความแข็งแกร่งของความน่าเชื่อถือของไทยลงอย่างมีนัยสำคัญ
ปัจจัยหลักที่ทำให้มูดี้ส์ฯ ตัดสินใจยืนยันอันดับความน่าเชื่อถือที่ Baa1 คือ (1) โครงสร้างหนี้ที่ดีของรัฐบาล (2) ความรอบคอบระมัดระวังในการดำเนินนโยบายการเงิน และเศรษฐกิจมหภาคโดยรวม รวมถึงการบริหารการคลัง (3) ความแข็งแกร่งของภาคต่างประเทศที่ยังดำรงอยู่ แม้ว่าดุลบัญชีเดินสะพัดเริ่มถูกกัดกร่อน และ (4) แนวโน้มความแข็งแกร่งของการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจที่สมเหตุสมผล
โดยในส่วนของเพดานอันดับความน่าเชื่อถือของไทยยังคงไม่เปลี่ยนแปลง โดยเพดานความน่าเชื่อถือของหนี้สกุลเงินตราต่างประเทศอยู่ที่ระดับ A2/P-1 ในขณะที่เพดานความน่าเชื่อถือของเงินฝากธนาคารสกุลเงินตราต่างประเทศอยู่ที่ Baa1/P-2 เพดานความเสี่ยงของประเทศสำหรับภาระผูกพันที่เป็นสกุลเงินบาทยังคงอยู่ที่ระดับ A1 ซึ่งเพดานความน่าเชื่อถือดังกล่าวเป็นการจำกัดอันดับความน่าเชื่อถือที่มูดี้ส์ฯ จะให้แก่ผู้ที่ทำภาระผูกพันที่เป็นสกุลเงินตราต่างประเทศและเงินบาทที่มีถิ่นฐานในประเทศไทย พร้อมกันนี้ มูดี้ส์ฯ ได้ยืนยันอันดับความน่าเชื่อถือดังกล่าวแก่ธนาคารแห่งประเทศไทยด้วย
มูดี้ส์ฯ ยังเห็นว่า พื้นฐานด้านความน่าเชื่อถือของไทยยังไม่กระทบกระเทือน และแข็งแกร่งเพียงพอที่จะรองรับความกดดันของวงจรเศรษฐกิจ และความไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองที่เกิดซ้ำ ปัจจัยที่ 1 โครงสร้างหนี้ที่ดีของรัฐบาล ปัจจัยที่ 2 ความรอบคอบระมัดระวังในการดำเนินนโยบายการเงิน และเศรษฐกิจมหภาคโดยรวม รวมถึงการบริหารการคลัง ปัจจัยที่ 3 ความแข็งแกร่งของภาคต่างประเทศที่ยังดำรงอยู่ แม้ว่าดุลบัญชีเดินสะพัดเริ่มถูกกัดกร่อน ปัจจัยที่ 4 แนวโน้มความแข็งแกร่งของการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจที่สมเหตุสมผล
มูดี้ส์ฯ มองว่า แนวโน้มการเจริญเติบโตในระยะกลางของประเทศไทยยังไม่ได้รับผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญจากพัฒนาการทางการเมืองที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน และยังคงอยู่ในระดับที่ดีกว่า โดยเปรียบเทียบกับในกลุ่มอันดับความน่าเชื่อถือเดียวกัน ในขณะที่การชุมนุมต่อต้านรัฐบาลจะทำให้อัตราการเจริญเติบโตที่แท้จริงอยู่ที่ประมาณร้อยละ 3 ในปี 2557
แต่บริษัทฯ เห็นว่าหากสถานการณ์ทางการเมืองกลับเข้าสู่สภาวะปกติในช่วงครึ่งหลังของปี 2557 การเติบโตทางเศรษฐกิจน่าจะปรับตัวสูงขึ้นอีกครั้งในปี 2558 โดยมีค่าเฉลี่ยที่ร้อยละ 4.5 ตั้งแต่ปี 2557-2561 ขณะที่ประมาณการค่ากลางเฉลี่ยของการเติบโตของประเทศในกลุ่มอันดับความน่าเชื่อถือ Baa อยู่ที่ร้อยละ 3.7 และกลุ่มอันดับความน่าเชื่อถือ A ที่ร้อยละ 3.4