สบน.เผยหนี้สาธารณะไทย เดือน ส.ค.56 เพิ่มขึ้น 7.42 หมื่นล้าน คิดเป็น 44.63% ของจีดีพี ขณะที่ทุนสำรองประเทศลดลง 600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คาดปล่อยสภาพคล่องเงินดอลลาร์สหรัฐ และลดภาระการถือครอง
น.ส.จุฬารัตน์ สุธีธร ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กล่าวว่า หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือน ส.ค. 2556 มีจำนวน 5.3 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 44.63% ของจีดีพี เป็นหนี้ของรัฐบาล 3.67 ล้านล้านบาท หนี้รัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงิน 1.09 ล้านล้านบาท หนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงิน (รัฐบาลค้ำประกัน) 5.24 แสนล้านบาท และหนี้หน่วยงานอื่นของรัฐ 834 ล้านบาท
ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้า หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นสุทธิ 7.42 หมื่นล้านบาท โดยหนี้ของรัฐบาลเพิ่มขึ้น 3.74 หมื่นล้านบาท หนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงิน (รัฐบาลค้ำประกัน) 3.22 หมื่นล้านบาท หนี้รัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงิน 4,502 ล้านบาท
ด้านธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานฐานะเงินทุนสำรองระหว่างประเทศของ ณ วันที่ 11 ต.ค. ที่ผ่านมา อยู่ที่ระดับ 1.716 แสนล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 5.374 ล้านล้านบาท ลดลง 600 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1.86 หมื่นล้านบาท หากคิดอัตราแลกเปลี่ยนในปัจจุบันซึ่งเคลื่อนไหวที่ระดับ 31 บาท/เหรียญสหรัฐ เมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้าทุนสำรองฯ อยู่ที่ระดับ 1.722 แสนล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 5.390 ล้านล้านบาท
ด้านฐานะซื้อเงินตราต่างประเทศล่วงหน้าสุทธิ (Forward) อยู่ที่ระดับ 2.16 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนที่ 2.15 หมื่นเหรียญสหรัฐ ส่งผลให้ทุนสำรองระหว่างประเทศสุทธิ ซึ่งรวมทุนสำรองฯ ในปัจจุบัน และ Forward แล้ว อยู่ที่ระดับ 1.932 แสนล้านเหรียญสหรัฐ
ทั้งนี้ สาเหตุที่ทุนสำรองฯ ลดลงน่าจะเป็นผลจากการเคลื่อนย้ายของเงินทุนผันผวนน้อยลง เนื่องจากสัปดาห์ที่ผ่านมา นักลงทุนรอความชัดเจนการแก้ปัญหาการหยุดทำการชั่วคราวของหน่วยงานราชการ (Government Shutdown) และการขยายเพดานหนี้สาธารณะซึ่งมีเส้นตายในวันที่ 17 ต.ค. ที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม มีเงินทุนบางส่วนไหลออกจากไทย และภูมิภาคเพื่อความปลอดภัย ส่งผลให้สภาพคล่องเงินเหรียญสหรัฐในตลาดอาจจะตึงตัวขึ้นเล็กน้อย ทำให้ทางการสามารถทยอยปล่อยเงินเหรียญสรัฐออกมาเพิ่มสภาพคล่องในตลาด และลดภาระการถือครองเงินตราต่างประเทศลงได้บ้าง โดยค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบแคบๆ ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา
สำหรับฐานเงิน หรือเงินสดหมุนเวียนในมือภาคเอกชน และเงินฝากของสถาบันการเงินที่ ธปท. ในปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 1.351 ล้านล้านบาท ลดลงจากสัปดาห์ก่อนหน้าที่ 1.409 ล้านล้านบาท สะท้อนปริมาณสภาพคล่องเงินสดในระบบเศรษฐกิจลดลง ตามความต้องการจับจ่ายใช้สอยที่ชะลอลงตามภาวะเศรษฐกิจ