xs
xsm
sm
md
lg

“ธาริษา” เตือนไทยอย่าสร้างหนี้เกินตัว แนะให้ดูบทเรียนสหรัฐฯ ชัตดาวน์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ธาริษา” มองสถานการณ์สหรัฐฯ “ชัตดาวน์” สร้างความกังวลให้นักลงทุนทั่วโลก แต่อาจเป็นแค่ในระยะสั้น เชื่อท้ายสุดแล้วคงสามารถหาข้อสรุปการปรับเพิ่มเพดานหนี้ได้ พร้อมแนะไทยต้องตั้งรับให้ดี อย่าให้มีหนี้สินมากเกินไป

นางธาริษา วัฒนเกส อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยถึงกรณีที่สหรัฐฯ ยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องการพิจารณาขยายเพดานหนี้สาธารณะ รวมถึงการปิดหน่วยงานภาครัฐบางแห่ง หลังจากไม่ได้ข้อสรุปในเรื่องงบประมาณรายจ่าย อยู่ในภาวะชัตดาวน์ ว่า ปัจจัยดังกล่าวคาดว่าจะส่งผลกระทบเพียงระยะสั้นต่อความกังวลของนักลงทุนทั่วโลก

ทั้งนี้ ปัญหาเพดานหนี้ที่ยังไม่มีความชัดเจน อาจส่งผลกระทบต่อทิศทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ได้ แต่ยังเชื่อมั่นว่าสหรัฐฯ จะหาข้อสรุปในการปรับเพิ่มเพดานหนี้ได้ เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อปัญหาการชำระหนี้จนนำมาสู่การปรับลดความน่าเชื่อถือ (ดาวน์เกรด) และกระทบต่อความเชื่อมั่นของสหรัฐฯ

“คงมีผลแค่ช่วงสั้น และคิดว่าจะจบลงได้ แต่ที่กังวลมากคือเรื่องเพดานหนี้ ซึ่งสหรัฐฯ น่าจะมีการปรับเพิ่มขึ้นเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบ ถ้าไม่สามารถปรับขึ้นได้ก็จะมีปัญหาเรื่องชำระหนี้ จนทำให้โดนดาวน์เกรด และกระทบความเชื่อมั่น ถ้าเป็นจริง สหรัฐฯ จะใช้เวลานานกว่าจะฟื้นความเชื่อมั่นได้ แต่ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับสหรัฐฯ ตลาดการเงินโลกก็ยังเชื่อมั่นในการลงทุนในตราสารหนี้ที่ยังดี รวมถึงเรื่องค่าเงินด้วย เพราะยังคงมองว่าเป็นสกลุเงินหลัก และยังกลับเข้ามาลงทุนอยู่”

อย่างไรก็ตาม ผลกระทบต่อการเคลื่อนไหวเงินทุนที่กลับมายังภูมิภาคเอเชีย รวมถึงไทยนั้นมองว่า ภาวะในปัจจุบันการเคลื่อนไหวของค่าเงินถือว่าคาดการณ์ได้ยาก เนื่องจากมีปัจจัยแวดล้อมที่ค่อนข้างสูง รวมถึงโมเมนตัม และมุมมองของนักลงทุนทั่วโลกในช่วงเวลานั้นเป็นสำคัญ

อย่างไรก็ดี ยังคงเชื่อมั่นว่าเครื่องมือทางการเงินของ ธปท.ยังอยู่ในระดับที่เพียงพอ และรับมือได้ โดยจะเป็นการปล่อยให้ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวไปตามกลไกของตลาด และพยายามดูแลไม่ให้เคลื่อนไหวไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่งมากเกินไป ขณะเดียวกัน ยอมรับว่าปัญหาที่เกิดขึ้นอาจทำให้ค่าเงินบาทเกิดความผันผวนในระดับสูง แต่เนื่องจากเป็นเพียงปัจจัยระยะสั้นจึงยังไม่ถือเป็นประเด็นที่น่ากังวลมากนัก

ดังนั้น ผลกระทบของไทยตอนนี้คงคาดการณ์ไม่ได้ว่าในที่สุดแล้วจะเกิดอะไรขึ้น แต่ทุกประเทศคงมองเหมือนกันในแง่ความไม่แน่นอนสูง ซึ่งเราต้องตั้งรับให้ดี ทำให้ตัวเองแข็งแกร่งด้านเศรษฐกิจเข้าไว้ ทั้งในภาคสถาบันการเงิน ธุรกิจ ครัวเรือน และอย่าให้มีหนี้สินมากเกินไป แง่นโยบายก็ต้องติดตามใกล้ชิด และเก็บกระสุนไว้ให้มีพอใช้ในช่วงที่มีความจำเป็น
กำลังโหลดความคิดเห็น