โปรกเกอร์คาดดัชนีหุ้นไทยสัปดาห์นี้เริ่มอ่อนตัว จากหลายปัจจัยทั้งการเมืองในประเทศ และสถานการณ์สำคัญจากต่างประเทศ
นายประกิต สิริวัฒนเกตุ เจ้าหน้าที่วิเคราะห์เทคนิค ฝ่ายกลยุทธ์ การลงทุน บล.เอเซีย พลัส คาดการณ์ความเคลื่อนไหวดัชนีหุ้นไทยสัปดาห์นี้ ว่า น่าจะเข้าสู่ช่วงของการทรงตัว ถึงอ่อนตัวลงเล็กน้อย เนื่องจากปัจจัยลบเริ่มเด่นชัดทั้งปัจจัยภายนอกประเทศ โดยเฉพาะวิกฤตในประเทศยูเครน ที่คาดว่าผลการลงมติประชาชนส่วนใหญ่คงเลือกที่จะไปอยู่กับรัสเซีย จึงต้องจับตาท่าทีของสหรัฐฯ และยุโรป ส่วนวิกฤตเศรษฐกิจในประเทศจีน น่าจะเป็นปัญหาใหญ่ในระยะกลาง เนืองจากอาจส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจในประเทศญี่ปุ่น และไต้หวัน
นอกจากนี้ ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ FOMC คงมีมติปรับลดปริมาณเงินอัดฉีดลง 10,000 ล้านเหรียญอย่างแน่นอน ซึ่งคงต้องจับตาความเคลื่อนไหวดัชนีตลาดหุ้นสำคัญทั่วโลกประกอบ
สำหรับปัจจัยภายในประเทศ สัปดาห์นี้มีเรื่องเกี่ยวกับกฎหมายเข้ามากระทบหลายเรื่องทั้งการพิจารณาเรื่องการเลือกตั้งวันที่ 2 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ให้เป็นโมฆะ / คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช.เตรียมชี้มูลคดี 308 ส.ส. และ ส.ว.แก้ รธน.ที่มา ส.ว.มิชอบ นอกจากนี้ ศาลรัฐธรรมนูญยังเตรียมพิจารณามูลความผิดเกี่ยวกับโครงการรับจำนำข้าว ของรัฐบาล รวมถึงการที่รัฐบาลจะพิจารณาว่าจะยกเลิกพระราชบัญญัติบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หรือปล่อยให้หมดอายุไปเอง ซึ่งหากพิจารณายกเลิกจะส่งผลทางจิตวิทยาให้หุ้นปรับตัวขึ้นทันที แต่หากปล่อยให้หมดอายุก็ต้องไปลุ้นในวันที่ 23 มีนาคมอีกครั้ง พร้อมให้กรอบความเคลื่อนไหวของดัชนีไว้ที่ 1355-1370
สอดคล้องกับ นายคมศร ประกอบผล นักกลยุทธ์การลงทุนอาวุโส ทิสโก้ เวลธ์ ที่ระบุว่า สถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างรัสเซีย และยูเครนที่เพิ่มมากขึ้นในสัปดาห์ที่ผ่านมา จากการที่รัสเซียได้ทำการฝึกซ้อมกำลังทหารที่ชายแดนระหว่างรัสเซีย และยูเครน โดยอ้างว่าเพื่อปกป้องผลประโยชน์ และพลเมืองเชื้อสายรัสเซีย ซึ่งสร้างความไม่พอใจแก่สหรัฐฯ และยุโรปที่จะดำเนินการคว่ำบาตรรัสเซีย โดยมองว่ามาตรการคว่ำบาตรดังกล่าวไม่มีผลต่อเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ และความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย และชาติตะวันตกจะไม่ลุกลามเป็นสงคราม ดังนั้น จึงเป็นปัจจัยกดดันตลาดระยะสั้นเท่านั้น
โดยในสัปดาห์ที่ผ่านมา หุ้นต่างประเทศส่วนใหญ่ปรับตัวลดลง เช่น ดัชนีหุ้นยุโรป Euro STOXX50 ปรับลดลง 1.5%,ดัชนีหุ้นสหรัฐฯ S&P500 ปรับลดลง 1.2%, ดัชนีหุ้นญี่ปุ่น Nikkei 225 ปรับลดลง 3%, ดัชนีหุ้นจีน HSCEI ปรับลดลง 4.2% ดังนั้น กลยุทธ์การลงทุนในช่วงนี้จึงควรทยอยขายหุ้นไทยที่เริ่มมีอัปไซด์จำกัด และเข้าลงทุนในหุ้นต่างประเทศ โดยเฉพาะภูมิภาคเอเชียเหนือ และญี่ปุ่น ซึ่งปรับตัวลงแรงแต่ตัวเลขเศรษฐกิจยังมีแนวโน้มแข็งแกร่งในระยะยาว
ขณะที่ตลาดหุ้นไทยปรับตัวขึ้นจากการเมืองที่เริ่มผ่อนคลาย โดย SET มีแนวโน้มปรับเข้าใกล้ 1,400 จุด และมีอัปไซด์เหลือไม่ถึง 5%จากเป้าหมายปีนี้ที่ 1,450 จุด จึงแนะนำให้นักลงทุนขายหุ้นไทยไปลงทุนในต่างประเทศ โดยแนะนำให้ทยอยสะสมหุ้นญี่ปุ่น และหุ้นเอเชียเหนือ