SET ชี้หุ้นปรับลดลงทั้งภูมิภาคทั่วโลกจากปัญหาการเมืองในประเทศ และการปรับลดเงินอัดฉีดของเฟด ที่สะท้อนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังไม่ชัดเจน ในขณะที่ดัชนีชี้วัดด้านความเชื่อมั่นในการลงทุนของประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ทางเศรษฐกิจของจีน และสหรัฐฯ ที่ปรับตัวลดลง พร้อมเป็นแกนนำตั้งศูนย์ GMS Link
นายภากร ปีตธวัชชัย รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร และการเงิน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือ ตลท. กล่าวสรุปภาวะการซื้อขายในตลาดหุ้นไทยประจำเดือนมกราคม ว่า ดัชนี SET INDEX ปรับตัวลดลงในทิศทางเดียวกันกับตลาดหุ้นทั่วโลกจาก 2 ปัจจัยหลัก คือ จากปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองภายในประเทศ และการประกาศลดวงเงินอัดฉีดหนุนเศรษฐกิจของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟดในเดือนกุมภาพันธ์ ประกอบกับปัจจัยด้านความเชื่อมั่นในการลงทุนของประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ โดยพิจารณาจากดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจของจีน และสหรัฐฯ ที่ปรับตัวลดลง
อย่างไรก็ดี SET INDEX โดยเฉลี่ยในเดือนมกราคมที่ผ่านมา ปิดที่ 1,274.28 จุด ลดลง 1.88% เทียบกันจากสิ้นเดือนธันวาคม 2556 เนื่องจากความผันผวนจากตลาดการเงินในต่างประเทศ และปัจจัยการเมืองในประเทศที่มีผลค่อนข้างจำกัดต่อปริมาณธุรกรรมการซื้อขายหลักทรัพย์ โดยมูลค่าเฉลี่ยซื้อขายต่อวันรวมของ SET และ mai อยู่ที่ 31,765 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.07% จากเดือนก่อน ซึ่งหุ้นไทยโดยเฉลี่ยในระยะเวลา 2-3 เดือนที่ผ่านมา เคลื่อนใหวอยู่ที่ 1,200-1,300 จุด
“หากเทียบกับตลาดหุ้นทั่วโลกตลาดเกิดใหม่ปรับตัวลดลงทั้งหมด ซึ่งสถานะหุ้นไทยในตอนนี้ถือว่ายากที่จะลง ขณะเดียวกัน ก็ถือได้ว่าปรับตัวขึ้นได้ง่าย แต่ทั้งนี้อยู่ที่ปัจจัยความเชื่อมั่นทางการเมืองที่มีต่อนักลงทุนเป็นหลัก ซึ่งนักลงทุนต่างประเทศจะมองว่า การลงทุนภาครัฐนั้นจะลงทุนเมื่อไหร่มากกว่าที่จะดูว่าลงทุนได้หรือไม่ ซึ่งโดยพฤติกรรมของนักลงทุนต่างประเทศจะไม่ชอบความลังเลไม่แน่นอนของนโยบายรัฐที่ไม่มีความชัดเจน”
ขณะเดียวกัน คาดว่ากลุ่มหุ้นที่จะฟื้นตัว ได้แก่ หุ้นในกลุ่มส่งออกที่ไม่อิงกับนโยบายของรัฐ จากกำลังซื้อของต่างประเทศที่เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวขึ้น ในขณะที่หุ้นกลุ่มที่เกี่ยวเนื่องกับโครงการภาครัฐ เช่น รับเหมาก่อสร้างขนาดใหญ่ อาจจะได้รับผลกระทบต่อเนื่องไปจนกว่าสถานการณ์ปัญหาความวุ่นวายทางการเมืองจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ
ส่วนหุ้นกลุ่มธนาคารที่อยู่ในช่วงที่หลายฝ่ายจับตามอง จากประเด็นที่รัฐบาลเจรจาเพื่อขอกู้นำไปจ่ายจำนำข้าวนั้น อาจไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เนื่องจากมีการตั้งสำรองเงินมากขึ้นหากเทียบกับเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ซึ่งถือว่าไม่มีอันตรายแต่อย่างใด แต่จะมีผลต่อความรู้สึกโดยรวมมากกว่า เช่น ธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
ทั้งนี้ หากพิจารณาตลาดหุ้นไทยโดยรวมในไตรมาสที่ 4 ที่ผ่านมาเทียบกับตลาดหุ้นเกิดใหม่ในภูมิภาค แม้ว่าจะมีผลกระทบจากปัญหาการชุมนุมทางการเมือง และปัญหาทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ยังมีการซื้อขายหุ้นไทยโดยเฉลี่ยกว่า 3 หมื่นล้านบาท ส่วนหนึ่งนั้นมาจากการที่ประเทศไทยได้มีการพัฒนาระบบการซื้อขายหุ้น และคัดกรองหุ้นที่มีคุณภาพเพิ่มมากขึ้น โดยมีหุ้นของบริษัทจดทะเบียนไทยที่ถูกคำนวณใน MSCI (Morgan Stanley Capital International) มากถึง 25 บจ. และเปิดให้มีทางเลือกของการลงทุนที่หลากหลายตามความต้องการของนักลงทุน พร้อมทั้งเตรียมพัฒนาระบบการซื้อขายหลักทรัพย์ให้มีความเป็นนานาชาติเพิ่มมากขึ้น ซึ่งคาดว่าแนวโน้มตลาดหุ้นไทยจะเติบโตอย่างต่อเนื่องถึง 2 เท่า ใน 1 ปี โดยได้มีการเสนอต่อ ก.ล.ต. ในการเป็นศูนย์กลาง GMS Link ที่จะระดมทุนทั้งทางด้านโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) และ Dual Listing ตลอดจนถึง TDR เนื่องจากการลงทุนประเภทนี้มีการจ่ายเงินปันผลที่แน่นอน ซึ่งอยู่ในช่วงของการพิจารณาของ ก.ล.ต. โดยคาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในปีนี้ ซึ่งการลงทุนของกลุ่มประเทศ GMS นั้น ที่จะดำเนินการร่วมได้แก่ จีน พม่า และกัมพูชา เข้ามาจดทะเบียน GMS BORD โดยบริษัทจดทะเบียนเหล่านั้นจะต้องลงทะเบียนผ่านทาง AI (Accredited investor) โดยพิจารณาจากเกณฑ์ ก.ล.ต.เป็นหลัก ซึ่งจำเป็นที่จะต้องชี้แจงต่อนักลงทุนถึงความเสี่ยงสูง
ขณะเดียวกันต ลาดหุ้นไทยพร้อมที่จะเป็นแกนนำในการจัดตั้ง GMS BORD เพื่อเตรียมความพร้อมของบริษัทจดทะเบียนในประเทศกลุ่ม GMS ให้มีคุณภาพได้ตามมาตรฐานเทียบเท่าตลาดหุ้นอื่นๆ พร้อมทั้งการเจรจากับบริษัทนายหน้าตัวแทนค้าหลักทรัพย์ต่างๆ ที่จะออกใบสำคัญแสดงสิทธิ เพื่อซื้อขายหุ้นในตลาดต่างประเทศได้ง่ายขึ้น