xs
xsm
sm
md
lg

ปะทะเดือนฉุดหุ้นไทยร่วงนักลงทุนผวารัฐขอคืนพื้นที่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTV ผู้จัดการรายวัน - หุ้นไทยปี57 รอความชัดเจนปัญหาภายในประเทศยุติ เพื่อมีรัฐบาลใหม่เข้าเดินหน้า ยอมรับส่งผลกระทบหุ้นใหม่เข้าตลาด อีกทั้งกดวอลุ่มเทรดมกราคมอยู่ที่ 3หมื่นล้านบาท ล่าสุดปิดตลาดดัชนีลดลง 6 จุด หลังรัฐบาลปฏิบัติการขอคืนพื้นที่จนเกิดการปะทะกับผู้ชุมนุม คาดวันนี้ยังผันผวนต่อ

นายภากร ปีตธวัชชัย รองผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวถึงทิศทางตลาดหุ้นไทยในปี 2557 ยังต้องรอความชัดเจนเรื่องการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ และการฟื้นตัวกลับมาของเศรษฐกิจไทย โดยหวังให้มีรัฐบาลใหม่โดยเร็ว เพราะเมื่อมีรัฐบาลใหม่จะสามารถเบิกจ่ายงบประมาณได้ตามปกติ หลังจากนั้น ภาคการบริโภค และการลงทุนน่าจะค่อยๆ ฟื้นตัวกลับมา ซึ่งเมื่อรวมภาคการส่งออกที่ฟื้นตัวขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ เครื่องยนต์ทั้ง 4 ตัวจะทำงานเต็มที่ และทำให้เศรษฐกิจไทยมีอัตราการขยายตัวได้ตามปกติที่ร้อยละ 5-6 ซึ่งจะเป็นผลดีต่อบรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นไทย

โดยขณะนี้หุ้นในบางกลุ่มเริ่มมีการฟื้นตัวกลับขึ้นมาบ้างแล้ว เพราะพื้นฐานเศรษฐกิจไทยยังแข็งแกร่งดี ทำให้นักลงทุนต่างชาติยังสนใจลงทุนในตลาดหุ้นไทย แม้ที่ผ่านมา จะมีการเทขายออกกว่า 2 แสนล้านบาท แต่เป็นขายส่วนที่กำไร เพราะต่างชาติเข้าซื้อหุ้นตั้งแต่ดัชนีอยู่ในระดับต่ำที่ประมาณ 800 จุด

ทั้งนี้ เมื่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ออกไปโรดโชว์ต่างประเทศ จะเน้นเสนอความแข็งแกร่งของบริษัทจดทะเบียนไทย (บจ.) ที่สามารถผ่านปัญหาการเมืองในประเทศ และวิกฤตทางเศรษฐกิจมาหลายครั้ง แต่ยังทำกำไรได้ดี และยังมีเสถียรภาพดี แต่ก็ยอมรับว่าหุ้นใหม่ที่จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นน่าจะชะลอการเข้าจดทะเบียนออกไปก่อน เพื่อรอความชัดเจนทางการเมือง และบรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นที่สดใสขึ้น โดยมองว่าหุ้นที่จะเข้าระดมทุนใหม่ และประสบความสำเร็จต้องไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง เช่น หุ้นกลุ่มโรงพยาบาล

ขณะเดียวกัน นายภากร มั่นใจว่า หุ้นในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ไม่ได้รับผลกระทบจากกรณีที่มีประชาชนแห่ถอนเงินออกจากธนาคารออมสิน เพราะไม่พอใจที่ไปปล่อยกู้ในโครงการรับจำนำข้าว เพราะระบบธนาคารพาณิชย์มีความแข็งแกร่ง สัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือเอ็นพีแอลต่ำ ดังนั้น หากจะเกิดปัญหากับสถาบันการเงินใด จะเกิดขึ้นเฉพาะบางธนาคารที่เกิดจากการที่ผู้ฝากเงินไม่พอใจนโยบายการบริหารงานที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการเมือง จนมีการถอนเงินออก ไม่ใช่มาจากระบบของสถาบันการเงิน

ด้านนายเกียรติพงศ์ อริยปรัชญา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพืี่อตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ตลท. กล่าวว่า เดือนมกราคมที่ผ่านมา เป็นเดือนที่ท้าทายจากปัญหาการเมืองในประทศ การลดขนาดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ (คิวอี) ของธนาคารกลางสหรัฐฯ และปัญหาค่าเงินอ่อนค่าในประเทศเกิดใหม่ ส่งผลให้สถิติเดือนมกราคมปรับลดลงเกือบทุกด้าน

โดยสิ้นเดือนมกราคม 2557 ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ ลดลงร้อยละ 1.9 จากสิ้นปี 2556 โดยมูลค่าตามราคาตลาด หรือมาร์เกตแคป อยู่ที่ 1.13 ล้านล้านบาท ลดลงร้อยละ 4.05 จากเดือนธันวาคม 2556 ตามทิศทางของตลาดหุ้นที่ปรับลดลง ขณะที่มาร์เกตแคปของตลาดเอ็มเอไอ อยู่ที่ 157,494 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 11.20

ขณะที่อัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิ หรือพีอีโรโช ของตลาดหุ้นไทยอยู่ที่ 11.63 เท่า ต่ำสุดในรอบ 3 ปี ลดลงจากช่วงเดียวกันในปี 2556 ขณะที่ค่าเฉลี่ยของภูมิภาคอยู่ที่ 12.50 เท่า ส่วนพีอีเรโช ของตลาดเอ็มเอไอ อยู่ที่ 12.41 เท่า ลดลงจาก 20.82 เท่าในเดือนก่อนหน้า ส่วนด้านมูลค่าเฉลี่ยซื้อขายต่อวันรวมของ SET และ mai อยู่ที่ 31,765 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.07% จากเดือนก่อน ซึ่งหุ้นไทยโดยเฉลี่ยในระยะเวลา 2-3 เดือนที่ผ่านมา เคลื่อนใหวอยู่ที่ 1,200-1,300 จุด

หุ้นไทยร่วง 6 จุดรับข่าวตร.ใช้กำลัง

ขณะที่ตลาดหุ้นไทยวานนี้ (18ก.พ.) ปรับตัวในแดนลบตลอดทั้งวันโดย ปรับตัวลดลงร่วม 17 จุด เป็นผลมาจากสถานการณ์การเมืองภายในประเทศเมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ ปฏิบัติการขอคืนพื้นที่ชุมนุมเป็นเหตุให้มีการปะทะกัน อย่างไรก็ตามเมื่อสถานการณ์คลี่คลาย ก็ผ่อนคลายให้ดัชนีฟื้นตัวกลับขึ้นมาปิดที่ระดับ 1,326.21 จุด ลดลง 6.16 จุด หรือ0.46% มูลค่าการซื้อขาย 34,400.44 ล้านบาท

นายอดิศักดิ์ ผู้พิพัฒน์หิรัญกุล นักกลยุทธ์การลงทุน บล.ธนชาต กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยวานนี้ผันผวนไปตามสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ ทำให้ตลาดดูอ่อนกว่าตลาดหุ้นอื่นในภูมิภาค เหตุการณ์สำคัญคือการที่รัฐบาลปฏิบัติการขอคืนพื้นที่ ทำให้เกิดการปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่กับผู้ชุมนุม กดดันตลาดฯให้ปรับตัวลงในช่วงเช้า แต่ช่วงบ่ายหลังจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)มีมติให้ทำหนังสือแจ้งน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหมเข้ามารับทราบข้อกล่าวหากรณีทุจริตการขายข้าวรัฐต่อรัฐ(G to G)ในวันที่ 27 ก.พ.ทำให้ตลาดฯรีบาวด์ขึ้นได้บ้างแม้ยังอยู่ในแดนลบ

ทั้งนี้ นักลงทุนคงจะต้องติดตามการนัดชุมนุมใหญ่ของกลุ่มชาวนา และคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข(กปปส.) รวมถึงศาลแพ่งจะพิจารณาคำร้องขอเพิกถอน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ หรือไม่ ทำให้แนวโน้มการลงทุนวันนี้(19 ก.พ.) ภาพรวมดัชนีคงคงจะแกว่งผันผวนตามสถานการณ์ทางการเมือง พร้อมให้แนวรับ 1,300-1,310 จุด ส่วนแนวต้าน 1,360 จุด
กำลังโหลดความคิดเห็น