xs
xsm
sm
md
lg

แบงก์ห่วงการเมืองลากยาว ศก.วูบ ลุ้นอัดนโยบายการเงินพยุง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

จากสถานการณ์การชุมนุมทางการเมืองที่ลากยาวมาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนปี 56 ซึ่งเป็นที่จับตามองของทุกๆ ภาคส่วน เนื่องจากถือเป็นปัจจัยเสี่ยงหลักต่อการขยายตัวเศรษฐกิจ แต่จนกระทั่งปัจจุบัน ก็ยังไม่เห็นทางออกที่จะยุติปัญหาดังกล่าวได้ และยังจะมีทีท่าจะยืดเยื้อกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ว่าหาทางออก และสามารถจัดตั้งคณะรัฐบาลได้ครึ่งปีแรก ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงได้ทำการประมาณการผลกระทบต่อการใช้จ่าย-ลงทุนภาครัฐ ภายใต้ข้อสมมติฐานความเป็นไปได้ที่ภาวะสุญญากาศทางการเมืองจะลากยาวไปถึงครึ่งหลังของปี 2557 ดังนี้

ในส่วนผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจจริงนั้น จะพบว่า เม็ดเงินการใช้จ่าย-ลงทุนของภาครัฐที่เบิกจ่ายล่าช้า และยังไม่มีความแน่นอนว่าจะสามารถเบิกจ่ายได้มากน้อยเพียงใด นอกจากจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อจีดีพีผ่านการบริโภค และการลงทุนภาครัฐที่คงมีโอกาสหดตัวแล้ว ยังจะส่งผลต่อการบริโภค และการลงทุนของภาคเอกชนอีกด้วย เนื่องจากสถานะของรัฐบาลรักษาการไม่เอื้อต่อการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นชุดใหม่ ขณะที่ภาคเอกชนที่รับงานก่อสร้างโครงการภาครัฐ รวมถึงธุรกิจที่เกี่ยวกับกิจการสาธารณูปโภค ก็คงต้องชะลอการลงทุนจนกว่าการเมืองจะมีเสถียรภาพมากขึ้น นอกจากนี้ เมื่อมองในระยะยาว ความไม่ต่อเนื่องของนโยบายการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ จะทำให้ประเทศไทยสูญเสียโมเมนตัมเชิงความสามารถทางการแข่งขัน เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ที่การเมืองมีเสถียรภาพมากกว่า

อย่างไรก็ตาม กรอบคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปี 2557 ของศูนย์วิจัยกสิกรไทยที่ 2.2-3.7% ได้รองรับความเสี่ยงทางการเมืองดังกล่าวไปแล้วส่วนหนึ่ง แต่หากปัญหาทางการเมืองพัฒนาไปในทิศทางที่แย่กว่าคาด ก็คงเป็นความเสี่ยงขาลงที่จะต้องทำการประเมินต่อไป

คาดใช้นโยบายการเงินพยุง ศก.

ด้านผลกระทบต่อนโยบายการเงิน ด้วยข้อจำกัดของนโยบายทางการคลังดังกล่าว นโยบายการเงินอาจเป็นเพียงกลไกเดียวที่จะสามารถประคับประคองการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยได้ ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ซึ่งปัจจัยดังกล่างคงมีน้ำหนักมากขึ้นต่อท่าทีคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในการดำเนินนโยบายการเงินในระยะถัดไป แม้ว่าประสิทธิผลส่วนเพิ่มของนโยบายการเงินอาจลดน้อยลง สอดคล้องกับระดับหนี้ครัวเรือนที่เร่งตัวขึ้น และความเชื่อมั่นของภาคเอกชนที่ถดถอย ขณะที่ระดับเงินเฟ้อยังคงทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ อย่างไรก็ตาม ปัจจัยภายนอกประเทศที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นปัญหาความไม่มีเสถียรภาพของประเทศตลาดเกิดใหม่ และความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้าย ก็คงทำให้การตัดสินใจเชิงนโยบายการเงินของ กนง. มีความซับซ้อน และท้าทายมากขึ้น

นอกจากนี้ หากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ และการเมืองไถลลึกลงเกินกว่าที่คาด มีความเป็นไปได้ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะใช้กลไกทางนโยบายการเงินอื่นๆ นอกเหนือจากอัตราดอกเบี้ย ไม่ว่าจะเป็นการทำธุรกรรมในตลาดพันธบัตร การเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการดำรงเงินสำรองของธนาคารพาณิชย์ รวมไปถึงนโยบายการเงินรูปแบบใหม่ ดังเช่นที่ธนาคารกลางหลายแห่งทั่วโลกได้ดำเนินการในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เพื่อรักษาโมเมนตัมของระบบเศรษฐกิจก่อนที่จะสายเกินแก้

เผยยื้อถึงปี 58 คลังกระทบหนัก

ท้ายที่สุด หากการเมืองยังไร้เสถียรภาพ และประเทศต้องตกอยู่ภาวะที่ไม่มีรัฐบาลที่มีอำนาจชอบธรรมในการบริหารประเทศยาวนานจนถึงปี 2558 ผลกระทบต่อการใช้จ่าย-ลงทุนภาครัฐ คงขยายวงกว้างขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประกาศใช้ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2558 ที่มีความล่าช้าออกไป ซึ่งจะทำให้งบลงทุนที่เป็นโครงการใหม่ทั้งหมดจะไม่สามารถดำเนินการได้ รวมไปถึงเงินอุดหนุนให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นบางส่วนด้วย ซึ่งหมายถึงเม็ดเงินอีกประมาณ 100,000-200,000 ล้านบาท ที่อาจจะหายไปจากระบบเศรษฐกิจในปีปฏิทิน 2558 ซึ่งทำให้จำเป็นต้องจับตาดูพัฒนาการทางการเมืองในส่วนนี้อย่างใกล้ชิดต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น