ไทยพาณิชย์ลดประมาณการจีดีพีปีนี้เหลือโต 3.4% เหตุโครงการลงทุนรัฐฝืด-ส่งออกซบหนัก คาดปีหน้าโต 4.5% หลังประเทศคู่ค้าเริ่มฟื้น หวังโครงการรัฐได้เริ่มต้น เตือนธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ เงินทุน-ค่าบาทยังผันผวน ต้นทุนการกู้ยืมผ่านบอนด์เริ่มขยับสูง อาจกระทบการระดมทุน
นางสุทธาภา อมรวิวัฒน์ Chief Economist และผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (EIC) กล่าวว่า EIC ได้ปรับประมาณการอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยในปี 2556 ลงมาเหลือ 3.4% จากเดิม 4% โดยปัจจัยหลักเนื่องมาจากการลงทุนในโครงการต่างๆ ของภาครัฐที่ล่าช้า และการส่งออกที่อ่อนตัวลงเกินกว่าที่คาดการณ์ไว้ ซึ่งประเมินว่าส่งออกจากเติบโตเพียง 1.5%เท่านั้น จากในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา ที่มีขยายตัวเพียง 0.1% แต่หากในช่วง 3 เดือนที่เหลือของปีมีมูลค่าการส่งออกในระดับ 20,000 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี ก็จะน่าจะขยายตัวได้ในระดับ 1.5% ตามที่ประเมินไว้
สำหรับในปี 2557 ประมาณการเศรษฐกิจเติบโตไว้ที่ 4.5% ปัจจัยสนับสนุนหลักๆ มาจากภาคการส่งออกที่มีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้น จากประเทศคู่ค้าของไทยที่เริ่มจะฟื้นตัวขึ้น ไม่ว่าจะเป็น สหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น โดยคาดว่าการส่งออกจะขยายตัว 8% รวมถึงการลงทุนในโครงการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของรัฐที่น่าจะเริ่มขึ้นได้ ซึ่งคาดการณ์เม็ดเงินลงทุนไว้ที่ 150,000 ล้านบาท กลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลดีก็จะเป็นกลุ่มก่อสร้าง วัสดุก่อสร้าง และขนส่ง เป็นต้น แต่หากเป็นกรณีเลวร้ายที่เงินลงทุนไม่สามารถเบิกจ่ายได้ ก็จะมีเม็ดเงินลงทุนที่กระทรวงการคลังสำรองไว้เพื่อเบิกจ่ายได้ทันที 60,000 ล้านบาท และจะส่งผลต่อจีดีพีให้เติบโตเหลือ 4.1%
นางสุทธาภา กล่าวว่า ปัจจัยเสี่ยงหลักๆ ในปีหน้า EIC มองว่ามาจากปัจจัยต่างประเทศเป็นหลัก โดยเฉพาะในส่วนของความไม่แน่นอนของการลดวงเงินการซื้อพันธบัตร (QE) ของสหรัฐฯ ที่เป็นปัจจัยเสี่ยงตั้งแต่กลางปีนี้ไปจนถึงปีหน้า ซึ่งจะทำให้เงินทุนไหลเข้า-ออกในประเทศที่กำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชีย รวมถึงประเทศไทยมีความผันผวน ค่าเงินบาทแกว่งทำให้ผู้ที่ทำธุรกิจการค้าระหว่างประเทศต้องระวัง โดยเหตุการณ์เหล่านี้จะยังคงอยู่จนกว่าจะมีความชัดเจนถึงระยะเวลาในการเริ่มลดวงเงิน ดังนั้น จึงประเมินค่าเงินบาทในปี 2557 ไว้ที่ 31-32 บาทต่อสหรัฐ และอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.5%
นอกจากนี้ ยังมีผลทำให้ต้นทุนในการกู้ยืมเงินบาทในพันธบัตรอายุ 10 ปี เพิ่มขึ้นถึง 100% ซึ่งตรงนี้จะส่งผลถึงต้นทุนในการระดมเงินทุนขององค์กรต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น บริษัทขนาดใหญ่ หรือธนาคารพาณิชย์บางแห่งที่มีการระดมเงินทุนจากต่างประเทศ หรือถึงเวลาที่จะต้องออกบอนด์ใหม่เพื่อทดแทนบอนด์เก่าที่ครบกำหนด ดังนั้น ธุรกิจที่จำเป็นต้องใช้เงินดอลลาร์ หรือมีความจำเป็นต้องระดมเงินในตลาดพันธบัตร ควรติดตามแนวโน้มการปรับมาตรการ QE อย่างใกล้ชิด เพื่อหลีกเลี่ยงช่วงเวลาที่มีความผันผวน อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าสิ่งที่เกิดขึ้นดังกล่าวเป็นเรื่องที่สามารถคาดการณ์ได้ล่วงหน้า จึงน่าจะมีการเตรียมความพร้อมในเรื่องดังกล่าวอยู่แล้ว
“เราคงบอกว่าไม่ได้ว่าสหรัฐฯ จะลด QE เมื่อไหร่ แต่ที่แน่ๆ คือ ต้องลด ลดเมื่อตามตัวแปรต่างๆอยู่ในเกณฑ์ที่เขากำหนดไว้ ซึ่งก็จะทำให้เงินทุนผันผวนไปอีกระยะหนึ่ง และที่ต้องจับตาดูก็คือ การปัญหาเพดานหนี้ ซึ่งหากยืดเยื้อไปเรื่อยๆ ก็อาจส่งผลกระทบด้านความเชื่อมั่นได้”
ส่วนปัจจัยเสี่ยงภายในประเทศนั้น เป็นกรณีของการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐที่อาจจะมีความล่าช้าออกไปอีก กับปัจจัยทางการเมืองที่อาจจะเริ่มมีความร้อนแรงเพิ่มขึ้น ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ต้องจับตามอง เท่าที่ผ่านมา ก็มักจะเห็นผลกระทบในระยะสั้น แต่ก็เป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวัง เพราะหากมีปัญหต่อเนื่องยาวนานก็จะกระทบในด้านของความเชื่อมั่นในการลงทุนด้วย ด้านหนี้ภาคครัวเรือนที่สูงขึ้นนั้น เท่าที่ดูตัวเลขล่าสุดเริ่มชะลอตัวลงแล้ว ซึ่งอาจจะเป็นเพราะเต็มเพดานหนี้ และสถาบันการเงินมีความเข้มงวดในการปล่อยกู้เพิ่มขึ้น