xs
xsm
sm
md
lg

กนง. ชี้เศรษฐกิจไทยปีนี้ และปีหน้ามีแนวโน้มต่ำกว่า 4.2% และ 5.0%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เปิดรายงานประชุม กนง. ชี้เศรษฐกิจไทยปีนี้ และปีหน้ามีแนวโน้มต่ำกว่า 4.2% และ 5.0% พร้อมคาด 2 สาเหตุ “การบริโภค-ส่งออก-ลงทุนภาครัฐ” ชะลอตัว

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยรายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (ฉบับย่อ) ของการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อ 21 ส.ค.ที่ผ่านมาว่า กนง. ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2556 และ 2557 อาจจะขยายตัวต่ำกว่าประมาณการเดิมที่คาดไว้เมื่อเดือน ก.ค.ว่า ปี 2556 อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) จะขยายตัวที่ 4.2% และปี 2557 จะขายตัวที่ 5% ภายใต้เงินเฟ้อทั่วไปที่ระดับ 2.3% และ 2.6% ตามลำดับ

ทั้งนี้ เพราะ กนง. เห็นว่าการบริโภคภาคเอกชน และการส่งออกอาจชะลอตัวนานกว่าคาด ประกอบกับแรงกระตุ้นจากภาครัฐยังมีความเสี่ยงที่จะล่าช้า อย่างไรก็ดี ในระยะสั้นแม้เศรษฐกิจจะชะลอลงแต่ก็เป็นอัตราการขยายตัวที่ใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้ในการประชุมครั้งก่อน และเศรษฐกิจยังมีแรงขับเคลื่อนต่อไปได้ ภายใต้ภาวะการเงินที่ผ่อนปรนซึ่งน่าจะช่วยสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้ในระดับหนึ่ง

สำหรับตลาดการเงิน กนง. มองว่า ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลต่อค่าเงินบาทในระยะต่อไป ได้แก่ (1) แนวโน้มเศรษฐกิจของประเทศหลัก และจีน รวมทั้งภูมิภาค และ (2) ช่วงเวลาของการทยอยปรับลดวงเงินการทำธุรกรรมในมาตรการผ่อนคลายทางปริมาณเงิน (คิวอี) ของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด)

นอกจากนี้ กนง.ยังได้อภิปรายถึงความผันผวนในตลาดการเงินของประเทศในภูมิภาค โดยเฉพาะอินโดนีเซีย อินเดีย และมาเลเซีย ว่า 2 ประเทศแรกมีความเสี่ยงจากการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดที่อยู่ในระดับสูง ขณะที่ มาเลเซีย มีความเสี่ยงจากภาคการคลังที่อ่อนแอลง ทั้งนี้ การถือครองพันธบัตรของนักลงทุนต่างชาติในตลาดพันธบัตรมาเลเซียมีสัดส่วนค่อนข้างสูง ทำให้มาเลเซียมีความเสี่ยงทางด้านความผันผวนของค่าเงินจากการเคลื่อนย้ายเงินทุน แม้ว่าพื้นฐานเศรษฐกิจโดยรวมยังอยู่ในเกณฑ์ดี

สำหรับภาวะตลาดการเงิน กนง.ประเมินว่า เงินเหรียญสหรัฐมีแนวโน้มอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับค่าเงินสกุลหลัก จากคำแถลงของเฟดที่ยังไม่กำหนดเวลาชัดเจนในการทยอยปรับลดวงเงินคิวอี ประกอบกับตัวเลขเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศยูโรโซน และญี่ปุ่นปรับตัวดีขึ้น อย่างไรก็ดี เงินเหรียญสหรัฐปรับแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับค่าเงินสกุลในภูมิภาค หลังจากตลาดเริ่มให้น้ำหนักมากขึ้นกับความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ จากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน และภูมิภาค และปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจในบางประเทศ

ส่วนเงินบาทเคลื่อนไหวผันผวน และมีทิศทางอ่อนค่าลง โดยเฉพาะหลังการประกาศตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในไตรมาสที่ 2 ที่ต่ำกว่าที่ตลาดคาด
กำลังโหลดความคิดเห็น