xs
xsm
sm
md
lg

นายแบงก์มั่นใจ “เงินบาท” ไม่โดนถล่มร่วงหนักซ้ำรอย “รูปี-รูเปียห์” ครม.ถกด่วน! คาดรับมือพายุการเงินโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นายแบงก์มั่นใจ “เงินบาท” ไม่โดนถล่มร่วงหนักซ้ำรอย “รูปี-รูเปียห์” เพราะเศรษฐกิจไทยแข็งแกร่ง ทุนสำรองระหว่างประเทศยังมีอยู่สูง และเพิ่งเริ่มขาดดุลบัญชีเดินสะพัดในปีนี้ แตกต่างจากอินโดนีเซีย ที่มีปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเรื้อรัง ขณะที่นายกฯ ถกด่วน ครม.เศรษฐกิจ คาดรับมือเงินไหลออก บาทอ่อนสุดรอบ 3 ปี หลุดระดับ 32 บาท/ดอลลาร์

นายบันลือศักดิ์ ปุสสะรังษี ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย สายบริหารความเสี่ยง ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงกรณีที่นักวิเคราะห์ และนักเศรษฐศาสตร์เป็นห่วงค่าเงินบาทจะอ่อนค่าหนักเหมือนกับเงินรูปี อินเดีย และ รูเปียห์ อินโดนีเซีย โดยมั่นใจว่า การอ่อนค่าของเงินบาทจะไม่รุนแรงเหมือนกับ 2 เงินสกุลดังกล่าว

ทั้งนี้ เนื่องจากมองว่าพื้นฐานเศรษฐกิจไทยมีความแข็งแกร่ง ทุนสำรองระหว่างประเทศยังมีอยู่สูง และไทยเพิ่งเริ่มขาดดุลบัญชีเดินสะพัดในปีนี้ แตกต่างจากอินโดนีเซีย ที่มีปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเรื้อรังมานาน ดังนั้น มั่นใจว่าสถานการณ์เงินบาทที่อ่อนค่าไม่น่าห่วง

ส่วนแนวโน้มเงินบาทในระยะยี้ยังอ่อนค่าต่อเนื่อง เนื่องจากนักลงทุนต่างชาติลดขนาดการลงทุนในตลาดหุ้น และตลาดพันธบัตรของไทย และหันไปเก็งกำไรเงินดอลลาร์สหรัฐ หลังจากคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน ธนาคารกลางสหรัฐฯ (FOMC) ยังไม่กำหนดกรอบเวลาที่ชัดเจนในการชะลอมาตรการอัดฉีดสภาพคล่อง (QE)

นักบริหารเงินยอมรับว่า เงินบาทเช้านี้ยังมีทิศทางอ่อนค่าต่อเนื่อง อยู่ที่ระดับ 32.02-32.04 บาทต่อดอลลาร์ สาเหตุเพราะเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น เมื่อเทียบกับทุกสกุล โดยเป็นผลมาจากการประชุม FOMC ที่ยังไม่กำหนดกรอบเวลาที่ชัดเจนในการชะลอ QE ประกอบกับมีเงินไหลออกจากตลาดหุ้น และตลาดพันธบัตรอย่างต่อเนื่อง พร้อมคาดว่าแนวโน้มวันนี้เงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าต่อเนื่อง โดยมองกรอบการเคลื่อนไหวไว้ที่ 32-32.20 บาทต่อดอลลาร์

โดยเมื่อช่วงเช้าวันนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจเพื่อหารือทิศทางเศรษฐกิจช่วงครึ่งปีหลัง หลังสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ปรับเป้าจีดีพีปีนี้เหลือร้อยละ 3.8-4.3 จากเดิมที่คาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 4.2-5.2 เนื่องจากการส่งออกในไตรมาส ที่ 2 ติดลบร้อยละ 1.9 และการบริโภคในประเทศชะลอตัว โดยรัฐบาลจะหาแนวทางกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงครึ่งปีหลังให้เติบโตได้ใกล้เคียงร้อยละ 5 ตามที่เคยคาดการณ์ไว้

พร้อมกันนี้ ยังคาดว่าจะมีการหารือสถานการณ์เงินบาทอ่อนค่าแตะ 32 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งถือว่าเป็นการอ่อนค่าสุดในรอบ 3 ปี และอาจมีการหารือผลกระทบเงินทุนไหลออกต่อเนื่อง รวมถึงภาวะผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่กำลังผันผวน
กำลังโหลดความคิดเห็น