xs
xsm
sm
md
lg

นักลงทุน Sell on fact หลังสหรัฐฯ คง QE การเมืองเข้าสู่โหมด “รุนแรง” กดดันตลาดฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นักวิเคราะห์ฯ คาดตลาดหุ้นไทยเช้านี้ปรับตัวลงแนวเดียวกับตลาดภูมิภาคที่ต่างปรับตัวลดลง นักลงทุน Sell on fact หลังสหรัฐฯ คง QE ส่วนความร้อนแรงทางการเมืองยังกดดันภาวะการลงทุน

นายณาศิส ประเสิรฐกุล รองผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บล.เคเคเทรด กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยเช้านี้คาดว่าจะปรับตัวลงในทิศทางเดียวกับตลาดหุ้นอื่นในภูมิภาคเอเชียที่ต่างปรับตัวลงกัน เนื่องจากตลาดฯ คงจะมีแรงขายทำกำไร (Sell on fact) หลังจากที่สหรัฐฯ ได้คงมาตรการอัดฉีดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจรอบ 3 (QE) เอาไว้

ขณะเดียวกัน ตลาดบ้านเราก็คงจะได้รับแรงกดดันจากปัจจัยทางการเมือง เนื่องจากสภาผู้แทนราษฎรจะพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ในวาระที่ 2-3 ที่มีการปรับแก้ไขเป็นฉบับสุดซอย ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ รวมตัวชุมนุมต่อต้านเย็นวันนี้ ซึ่งก็ต้องติดตามดูอย่างใกล้ชิดต่อไป พร้อมให้กรอบการแกว่งไว้ที่ 1,425-1,410 จุด

ทั้งนี้ แม้เราจะประเมินว่าไม่ง่ายที่ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม จะสามารถนำมาใช้ได้ เนื่องจากยังมีขั้นตอนการพิจารณาของวุฒิสภา (อีก 3 วาระ) และต้องมีผู้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความแน่นอน ซึ่งคาดว่าจะต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 3-6 เดือน และมีโอกาสถูกคว่ำที่ศาลรัฐธรรมนูญด้วย อย่างไรก็ดี การชุมนุมประท้วงที่เพิ่มขนาดขึ้นจะสร้างแรงกดดันต่อ SET ในระยะสั้น โดยที่ในเชิงแนวโน้มกรณี SET ดีดกลับมายืน 1,425 (+/-5) จุดไม่ได้ มีโอกาสไหลลงไปที่ 1,380-1,350 จุดเร็วมาก แต่ถ้ากลับมาปิดเหนือ 1,425 (+/-5) จุด ยังมีโอกาสเห็นดีดกลับไปในกรอบ 1,465-1,480 จุด

เราเริ่มกังวล และแนะนำให้จับตามองกับเม็ดเงินของนักลงทุนต่างชาติอย่างใกล้ชิด หลังจากวานนี้นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิในตลาดหุ้นเพียง 26 ล้านบาทเท่านั้น และยังขายสุทธิในตลาดพันธบัตรราว 1.9 พันล้านบาท ซึ่งโอกาสที่ SET จะปิดเหนือบริเวณ 1,425 (+/-5) จุดได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่าวันนี้จะมีแรงขายจากนักลงทุนต่างชาติเข้ามาผสมโรงกับกองทุนในประเทศหรือไม่ เนื่องจากสถิติ 93 วันที่ SET ปรับตัวลงในปีนี้ (จาก 206 วันทำการ) มีถึง 63 วันหรือ 68% ที่ SET ปรับตัวลงในทิศทางเดียวกับแรงขายของนักลงทุนต่างชาติ สะท้อนให้เห็นว่าแรงขายของนักลงทุนต่างชาติมีนัยสำคัญต่อการปรับตัวลงของ SET ในปีนี้มากกว่ากองทุนในประเทศ

โดยเมื่อคืนนี้ ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ประกาศคงเป้าหมายอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น (fed funds rate) ในกรอบ 0-0.25% เป็นระดับที่ได้กำหนดไว้ในการประชุมเดือน ธ.ค.2008 โดยย้ำว่า เฟดจะยังไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ตราบใดที่อัตราการว่างงานยังคงอยู่สูงกว่าระดับ 6.5% และอัตราเงินเฟ้อรายปีอยู่ต่ำกว่าระดับ 2.5%

นอกจากนี้ คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของเฟด (FOMC) ยังมีมติที่จะเดินหน้ากระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ ผ่านทางการซื้อตราสารหนี้ หรือการใช้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) โดยจะยังคงดำเนินโครงการซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ในวงเงิน 4.5 หมื่นล้านดอลลาร์ และซื้อหลักทรัพย์ที่ได้รับการค้ำประกันจากสัญญาจำนอง (MBS) ในวงเงิน 4 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อเดือน รวมเป็นจำนวน 8.5 หมื่นล้านดอลลาร์ทุกเดือนต่อไป เพื่อพยุงเศรษฐกิจสหรัฐฯ และกดดันให้อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ

คณะกรรมการเฟดยอมรับว่า แนวโน้มเศรษฐกิจได้อ่อนแอลง โดยส่วนหนึ่งเกิดจากความขัดแย้งทางด้านการคลังระหว่างทำเนียบขาว และสภาคองเกรส ซึ่งส่งผลให้มีการปิดหน่วยงานรัฐบาลสหรัฐฯ บางส่วนเป็นเวลา 16 วันในช่วงต้นเดือนนี้ นอกจากนี้ เฟดยังระบุว่าการใช้จ่ายในภาคครัวเรือน และการลงทุนในสินทรัพย์คงที่ของภาคธุรกิจได้เพิ่มมากขึ้น แต่การฟื้นตัวในภาคที่อยู่อาศัยได้ชะลอตัวลงในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา
กำลังโหลดความคิดเห็น