โดยพอพิศ ยอดแสง
ฝ่ายวิจัยและพัฒนา
สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย
ดูเหมือนว่าเมื่อใดก็ตามที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ส่งสัญญาณใดๆ ที่มีความเกี่ยวข้องกับมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) มักจะส่งผลกระทบต่อบรรยากาศการลงทุนในตลาดการเงินของโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยความผันผวนของการเคลื่อนย้ายกระแสเงินทุนในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ล้วนมีสาเหตุสำคัญมาจากความกังวลในเรื่องของการลดขนาด (Tapering) มาตรการ QE
ทั้งนี้ มุมมองของนักลงทุนในตลาดที่ว่า Fed จะเริ่มทยอยลดขนาดของมาตรการ QE ลงในปีนี้เริ่มมีทิศทางที่เปลี่ยนแปลงไป ภายหลังที่สหรัฐฯ เผชิญกับปัญหาเพดานหนี้และปัญหางบประมาณรายจ่ายฯ จนมีผลให้หน่วยงานภาครัฐฯ บางส่วนต้องปิดทำการไปในระหว่างวันที่ 1 ถึง 16 ตุลาคมที่ผ่านมา และถึงแม้ว่าสภาคองเกรสจะบรรลุข้อตกลงเกี่ยวกับร่างกฎหมายงบประมาณฉุกเฉิน และการขยายเพดานหนี้ชั่วคราวจนทำให้หน่วยงานภาครัฐกลับมาเปิดทำการได้อีกครั้ง แต่ก็ดูเหมือนว่าจะเป็นการแก้ไขสถานการณ์ในช่วงสั้นๆ เนื่องจากการขยายเพดานหนี้ในครั้งนี้ครอบคลุมระยะเวลาเพียง 3 เดือน โดยสหรัฐฯ จะสามารถทำการก่อหนี้ใหม่ได้ถึงเพียงแค่วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2557 ขณะที่หน่วยงานราชการในสหรัฐฯ จะมีงบประมาณเพื่อใช้จ่ายไปจนถึงวันที่ 15 มกราคม 2557 เท่านั้น
ปัญหาเพดานหนี้ที่เป็นเหมือนระเบิดเวลาในอีกสามเดือนข้างหน้า ทำให้ตลาดคาดการณ์ว่า Fed น่าจะยังไม่ทำการลดขนาดของมาตรการ QE ในช่วงนี้ เพราะอาจส่งผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจโดยรวมของสหรัฐฯ และนักลงทุนยังคาดว่ามีความเป็นไปได้สูงที่ Fed จะคงขนาดของมาตรการ QE ไปเรื่อยๆ จนสิ้นไตรมาส 1 ของปี 2557
อย่างไรก็ตาม แม้นักลงทุนจะคาดว่าไม่น่าจะมีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ในมาตรการ QE ในระยะเวลาอันใกล้นี้ แต่เงินทุนต่างชาติที่ไหลเข้ามาลงทุนในตลาดการเงินของไทยกลับไม่ได้มากเหมือนในช่วงต้นปีที่ผ่านมา เนื่องจากราคาสินทรัพย์ ไม่ว่าจะเป็นราคาหุ้นหรือราคาพันธบัตรที่ปรับสูงขึ้นมาค่อนข้างมาก ทำให้โอกาสในการเข้ามาซื้อเพื่อทำกำไรมีน้อยลง ภาพรวมของการลงทุนในตลาดตราสารหนี้ไทยนับตั้งแต่วันที่สหรัฐฯ ผ่านพ้นปัญหาเพดานหนี้ไปได้จึงไม่ได้คึกคักมากขึ้นเท่าไรนัก โดยในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมามีเม็ดเงินต่างชาติไหลเข้าสู่ตลาดตราสารหนี้ประมาณ 20,000 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นซื้อสุทธิตราสารหนี้ระยะสั้น 42,000 ล้านบาท และซื้อตราสารหนี้ระยะยาว 4,000 ล้านบาท
ขณะที่มีตราสารหนี้เดิมที่ต่างชาติเคยถือครองและหมดอายุไปประมาณ 26,000 ล้านบาท ซึ่งแรงซื้อในตราสารหนี้ระยะสั้นจะเห็นได้ค่อนข้างชัดเจนว่าเป็นการซื้อเพื่อชดเชยตราสารหนี้เดิมที่หมดอายุไป (Roll-over) ขณะที่แรงซื้อในตราสารหนี้ระยะยาวยังมีอยู่ไม่มากนัก ทางด้านเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Yield Curve) มีการปรับตัวลดลงเล็กน้อยตลอดทั้งเส้น หรือเฉลี่ยแล้วลดลงในช่วงประมาณ -5 ถึง -7 Basis Point (100 Basis Point มีค่าเท่ากับ 1%)
โดยสรุปแล้ว ถึงแม้สหรัฐฯ จะผ่านพ้นวิกฤตเพดานหนี้มาได้อย่างฉิวเฉียด และแนวโน้มการเริ่มลดขนาดของมาตรการ QE น่าจะเกิดขึ้นในช่วงปีหน้า แต่ตลาดการเงินในภูมิภาคเอเชีย รวมทั้งประเทศไทยยังคงมีความเสี่ยงจากความผันผวนของกระแสเงินทุนต่างชาติ ตราบเท่าที่ยังมีกระแสข่าวหรือเกิดเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่น จนทำให้นักลงทุนมีความกังวล และเริ่มชะลอการลงทุน จนกระทั่งพากันเทขายสินทรัพย์ต่างๆ และหันไปถือครองเงินสดได้ทุกเมื่อ และแม้เงินทุนที่จะไหลเข้ามาลงทุนในตลาดการเงินของไทยในช่วงนี้อาจไม่มากเมื่อเทียบกับช่วงต้นปีที่ผ่านมา แต่นักลงทุนยังจำเป็นต้องมีความระมัดระวังในการลงทุน และการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อจะได้มีความพร้อมในการรับมือกับความผันผวนทางการเงินที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต