ThaiBMA เผย ตลาดตราสารหนี้ไทย 9 เดือนแรกมีมูลค่าคงค้าง 8.92 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4% จากปีก่อน ชี้ 9 เดือนแรกต่างชาติเข้าถืออยู่ 62,000 ล้านบาท ระบุเรื่อง QE สหรัฐฯ ยังเป็นปัจจัยหลักของเงินเข้าออก
นายนิวัฒน์ กาญจนภูมินทร์ กรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) กล่าวถึงภาพรวมของตลาดตราสารหนี้ไทยในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ว่า ในส่วนของตลาดแรก (Primary Market) มีการซื้อขายที่ค่อนข้างทรงตัว แต่ในส่วนของตลาดรอง (Secondary Market) มีการซื้อขายที่ปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับช่วงไตรมาสก่อนหน้า โดย ณ สิ้นเดือนกันยายน 2556 มูลค่าคงค้าง (Outstanding) ในตลาดตราสารหนี้ทุกประเภทรวมกันอยู่ที่ 8.92 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 4% จากช่วงสิ้นปี 2555 โดยพันธบัตรรัฐบาลเพิ่มขึ้น 8.1% พันธบัตรรัฐวิสาหกิจ 14.6% และหุ้นกู้เอกชน ซึ่งในช่วง 9 เดือนแรกมีตราสารหนี้ภาคเอกชนระยะยาวออกใหม่ 282,021 ล้านบาท โดยกลุ่มที่ออกสูงสุดได้แก่ กลุ่มการเงิน กลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และกลุ่มวัสดุก่อสร้าง
ขณะเดียวกัน ตราสารหนี้ภาคเอกชนระยะสั้นก็ปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากกลุ่มธนาคารพาณิชย์ยังเสนอขายตราสารหนี้ระยะสั้นที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าเงินฝากเพื่อแข่งขันรักษาฐานลูกค้ารายใหม่ โดยในปีนี้พบว่ามีธนาคารพาณิชย์ออกหุ้นกู้เพียง 25,860 ล้านบาท เมื่อเทียบกับในปี 2555 ที่ผ่านมาซึ่งมีสูงถึง 180,210 ล้านบาท โดยคาดว่าในช่วงไตรมาส 4 ของปีนี้ 2556 น่าจะมีหุ้นกู้เอกชนออกอีกประมาณ 90,000-120,000 ล้านบาท เพราะผลตอบแทนที่ปรับตัวลง รวมทั้งปีจึงคาดว่าจะมีหุ้นกู้เอกชนออกใหม่ทั้งหมด 400,000-420,000 ล้านบาท
ส่วนทางด้านตลาดรอง การซื้อขายในช่วงไตรมาสที่ 3 ปรับตัวลง 21% เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 2 ตามทิศทางเงินทุนต่างประเทศที่ผันผวน แต่ยังมีการซื้อขายที่สูงกว่า 10% เมื่อเทียบกับ 9 เดือนแรกของปีก่อน ซึ่งการซื้อขายส่วนใหญ่ยังคงเน้นไปที่ตราสารหนี้ระยะสั้น เช่น พันธบัตรรัฐบาลธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นหลัก ส่วนการซื้อขายตราสารหนี้ระยะยาวอายุมากกว่า 1 ปี ในช่วง 9 เดือนแรกปีนี้มีมูลค่าการซื้อขายวันละ 30,644 ล้านบาท หรือเเพิ่มขึ้นในช่วงเดียวกันของปี 2555 ถึง 48%
ทั้งนี้ แม้ว่าในช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาจะมีเม็ดเงินไหลออกไปกว่า 92,000 ล้านบาทจากความกังวลเรื่องการลดขนาดของ QE ในสหรัฐฯ แต่ในเดือนกันยายนต่างชาติกลับมาเข้าซื้อ 72,000 ล้านบาท หลังจากธนาคารกลางสหรัฐฯ ตัดสินใจคงขนาดของ QE ไว้ที่ระดับ 85,000 ล้านเหรียญต่อเดือน ซึ่งช่วง 9 เดือนแรกที่ผ่านมานักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิในตราสารหนี้ระยะยาว 120,000 ล้านบาท และซื้อสุทธิในตราสารหนี้ระยะสั้น 290,000 ล้านบาท และตราสารหนี้ระยะสั้นที่ต่างชาติถือครองและหมดอายุไป 350,000 ล้านบาท
“โดยรวมเม็ดเงินลงทุนต่างชาติไหลเข้าสู่ตลาดตราสารหนี้ไทยในช่วง 9 เดือนแรกรวม 62,000 ล้านบาท และส่งผลให้ยอดการถือครองตราสารหนี้ของนักลงทุนต่างประเทศ ณ สิ้นเดือนกันยายนปรับขึ้นมาอยู่ที่ 770,500 ล้านบาท”
นายนิวัฒน์ ยังกล่าวต่อว่า ปัจจัยที่ต้องติดตามในช่วงไตรมาสที่ 4 คือ ปัญหาภายในประเทศ เรื่องการเติบโตของเศรษฐกิจ และปัญหาน้ำท่วม และปัจจัยต่างประเทศ คือเรื่องการดำเนินมาตรการของ QE และการแก้ไขปัญหาเพดานหนี้สหรัฐฯ ซึ่งมีแนวโน้มว่าสหรัฐฯ น่าจะยังคงใช้ QE ต่อไปอีก และหากเศรษฐกิจเริ่มกลับมาฟื้นตัวก็อาจจะเห็นการลด QE อย่างเร็วในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปีหน้า ดังนั้นจึงน่าจะเห็นเม็ดเงินต่างชาติเข้ามาลงทุนในตราสารหนี้ของไทยในช่วงไตรมาสที่ 4 ประมาณ 70,000-100,000 ล้านบาททั้งในตราสารหนี้ระยะสั้นและระยะยาว แต่เชื่อว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ไม่น่าจะกลับไปถดถอยอีกครั้ง ส่วนอัตราดอกเบี้ยของไทยนั้นคาดว่า กนง.อาจจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงหากเศรษฐกิจมีการเติบโตลดลง