xs
xsm
sm
md
lg

กนง.เสียงแตก!คงดอกเบี้ย2.25%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - กนง.เสียงแตก มติ 4 ต่อ 3 เสียงให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 2.25% เหตุระดับดอกเบี้ยปัจจุบันยังเอื้อต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจไทยและห่วงเรื่องประสิทธิผลในการใช้เครื่องมือในช่วงการดูแลเศรษฐกิจชะลอ จึงควรหาจังหวะเวลาเหมาะสมกับสถานการณ์ พร้อมกันนี้ปี 57 คาดการขยายตัวเศรษฐกิจไทยประมาณ 3% ส่วนตลอดปี 56 เศรษฐกิจต่ำกว่า 2%

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า การประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวานนี้มีมติ 4 ต่อ 3 เสียงให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 2.25%ต่อไป โดยกรรมการเสียงส่วนใหญ่เห็นว่านโยบายการเงินผ่อนปรนยังคงเอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในสถานการณ์การเมืองเป็นปัจจัยเสี่ยงระยะสั้น แต่พื้นฐานเศรษฐกิจไทยยังสามารถรองรับความเสี่ยงได้อยู่ ประกอบกับการรักษาเสถียรภาพทางการเงินของประเทศยังเป็นปัจจัยสำคัญ เพื่อวางพื้นฐานที่มั่นคงต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า
“การพิจารณาดอกเบี้ยนโยบายพยายามดูรอบด้าน พยายามหาความพอดีเรื่องต่างๆ ดูสาเหตุปัญหาที่เป็นอยู่ขณะนี้ เครื่องมือควรใช้จังหวะใดให้เกิดประสิทธิผลมากที่สุด ที่สำคัญการวิเคราะห์และความเห็นกรรมการระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายปัจจุบันสนับสนุนการฟื้นตัวเศรษฐกิจ หากสามารถคลี่คลายปัจจัยอื่นๆ ที่ไม่ใช่ปัจจัยเศรษฐกิจได้ซึ่งกนง.ทราบดีถ้าสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป หากมีความจำเป็นใช้เครื่องมือขึ้นมาและมีประสิทธิผลก็พร้อมในโอกาสต่อไป ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ยุ่งยากจนเกินไป” ผู้ว่าการธปท.กล่าว
สำหรับเหตุผลกรรมการกนง.เสียงสูสีกันระหว่างการปรับการคงดอกเบี้ยและอีก 3 เสียงให้ลดดอกเบี้ยลง 0.25%นั้น ผู้ว่าการธปท.กล่าวว่า การประเมินภาวะเศรษฐกิจโดยรวมชะลอตัว มีความจำเป็นต้องดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจ ซึ่งความเห็นไม่ได้ต่างกัน แต่แตกต่างกันค่อนข้างมาก คือ หากปรับลดดอกเบี้ยในสถานการณ์ขณะนี้ ประสิทธิผลในการดูแลช่วงชะลอเศรษฐกิจเพียงใด จึงมีการเปรียบเทียบจังหวะเวลาในการใช้เครื่องมือของธปท.ให้มีความสมดุลเหมาะสมกับสถานการณ์
โดยกรรมการ กนง. 4 เสียงให้คงดอกเบี้ยมองว่าการชะลอตัวเศรษฐกิจค่อนข้างมาก ส่วนใหญ่เกิดจากการลงทุนและการอุปโภคบริโภคภายในประเทศ ซึ่งไม่ใช่ผลเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยตรง แต่เป็นผลจากความไม่สงบทางการเมืองมากกว่า ส่วนกรรมการเสียงข้างน้อยไปในทางที่ว่า การลดดอกเบี้ยจะเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยประคองเศรษฐกิจไทยได้ ในช่วงอัตราเงินเฟ้อต่ำแม้ประสิทธิผลไม่ชัดเจนก็ตาม
นอกจากนี้ ในการประชุมกนง.ครั้งนี้ได้มีการปรับประมาณการเศรษฐกิจไทย โดยตลอดทั้งปี 56 เศรษฐกิจไทยหย่อนกว่าครั้งก่อนที่ประเมินไว้ 3% ทำให้ครั้งนี้คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะต่ำกว่า 3% และในปี 57 เดิมมองไว้ 4% อยู่ที่ประมาณ 3% สะท้อนการชะลอตัวเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม แม้สถานการณ์การเมืองไม่ปกติ 2-3 เดือน ด้านธนาคารพาณิชย์เข้มแข็ง รวมถึงภาวะตลาดการเงินทำงานปกติดีไม่ว่าอัตราแลกเปลี่ยน ตลาดดอกเบี้ยในประเทศ ตลาดพันธบัตร ระบบชำระเงินทุกอย่างเรียบร้อยไม่น่าตกใจ
แม้เศรษฐกิจไทยยังสามารถรองรับความเสี่ยงระยะสั้นได้อยู่ แต่เท่าที่ด้านธปท.ดูแลอยู่ทั้งพื้นฐานระหว่างประเทศยังไม่มีอะไรแสดงขาดความเชื่อมั่น โดยดูจากค่าเงินบาทมีเสถียรภาพพอสมควร เมื่อเกิดเหตุการณ์พิเศษความไม่สงบทางการเมือง ทำให้เงินบาทอ่อนค่าบ้าง แต่ไม่ใช่อ่อนไปในทิศทางเดียว จึงมีการปรับตัวมีเสถียรภาพพอสมควร การขายออกของหุ้นและพันธบัตร ก่อนหน้ามีการซื้อมากจากต่างประเทศ ระยะหลังมีการขายออกไปบ้าง แต่ก็ยังมีถืออยู่
โดยต่างชาติขายหุ้นหรือตราสารหนี้ของไทยออกไป ส่วนหนึ่งมาจากปัจจัยต่างประเทศที่มีการฟื้นตัวขึ้น และยอมรับก่อนหน้านี้ต่างชาติเข้ามาลงทุนซื้อค่อนข้างมากอย่างในตลาดหุ้น โดยเฉพาะปีก่อนการไหลออกค่อนข้างมาก แต่เมื่อเทียบดัชนีปรับตัวสูงขึ้น ฉะนั้นต่างชาติถือหุ้นไทยอยู่ยังมีค่อนข้างมากและระยะหลังการไหลออกของเงินทุนไม่มากมายนัก
ส่วนเงินทุนเคลื่อนย้ายไม่มากเมื่อเทียบกับปริมาณเงินทุนสำรองทางการระหว่างประเทศ ซึ่งเทียบตัวเลขปัจจุบันกับสิ้นปี 55 ทุนสำรองลดลงกว่า 1.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งทุนสำรองลดลงครึ่งหนึ่งเกิดจากเงินทุนไหลออกไปของนักลงทุนต่างชาติ อีกครึ่งหนึ่งเกิดจากตีค่าสินทรัพย์ในทุนสำรองในทางบัญชี โดยยามเงินดอลลาร์แข็งค่า สินทรัพย์อื่นๆที่ไม่ใช่เงินดอลลาร์ ทำให้ได้จำนวนเงินดอลลาร์ลดลง ฉะนั้น ไม่ใช่ตัวเลขใหญ่มากเกินไป
การประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 60 วันมีผลต่อความเชื่อมั่นเศรษฐกิจไทยมากน้อยแค่ไหนนั้น นายประสาร กล่าวว่า ไม่ว่าจะเป็นการประกาศใช้ พ.ร.บ.มั่นคงหรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉินเป็นเครื่องมือ โดยความไม่สงบของประเทศ ทาง ธปท.มีความเป็นห่วงเหมือนคนไทยทุกคน หวังให้มีทางออกโดยสันติสามารถหาทางแก้ไขปัญหาเหล่านั้นโดยไม่เกิดความรุนแรงและสามารถหยิบยกประเด็นประเทศแก้ไขด้วยเป็นกรณีทางออกที่ดีที่สุด
นอกจากนี้ ยังได้ประเมินไว้ว่ากรณีเกิดความรุนแรงจนมีการปะทะกัน โจทย์ต่างๆ ไม่ได้รับการแก้ไข ถือเป็นกรณีเลวร้าย ซึ่งกระทบพื้นฐานเศรษฐกิจไทย กรณีปัญหาต่างๆ ยืดเยื้อก็อาจจะซึมยาวจะกลายเป็นปัญหาประเทศได้ ซึ่งปัจจัยการเมืองจะมีการพัฒนาไปรูปแบบต่างๆ ในระยะยาวหากทุกฝ่ายไม่ช่วยกันดูแลมีข้อเสียตามมาด้านต่างๆ อาทิ
ความสามารถในการแข่งขันของประเทศจะได้รับผลกระทบเป็นอันดับแรกๆ ภูมิคุ้มกันของไทยที่มีอยู่อาจจะพร่องลงได้ ค่าใช้จ่ายในการทำธุรกรรมเศรษฐกิจปรับตัวเพิ่มขึ้น เป็นต้น
“การลงทุนภาครัฐจะเห็นชะลอตัวได้ชัดเจน โดยในส่วนของงบประมาณฯ ประจำไม่มีปัญหาสามารถเบิกจ่ายได้ ส่วนการลงทุนนอกงบประมาณฯ โดยเฉพาะโครงการลงทุนขนาดใหญ่อาจจะต้องล่าช้าออกไป ขณะที่การลงทุนของภาคเอกชนที่สัมพันธ์กับภาครัฐอาจจะชะลอตัวออกไป ซึ่งแผนการลงทุนมีมากพอสมควรก็อาจจะต้องรอการอนุมัติออกไป”.
กำลังโหลดความคิดเห็น