xs
xsm
sm
md
lg

GGLB อีกทางเลือกของการลงทุนในตลาดพันธบัตรรัฐวิสาหกิจ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โดยดวงฤทัย ซื่อตรงประเสริฐ
ฝ่ายวิจัยและพัฒนาตลาด
สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย
duangreuthai@thaibma.or.th

หากท่านใดได้ติดตามข่าวสารเกี่ยวกับการลงทุนในตลาดตราสารหนี้ช่วงนี้ คงจะคุ้นเคยกับพันธบัตรที่มีตัวย่อว่า “GGLB” หรือมีชื่อเต็มว่า “พันธบัตรธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)” ที่เปิดประมูลเป็นครั้งแรกในช่วงปลายปีที่ผ่านมาและได้รับการตอบรับจากนักลงทุนเป็นอย่างดี   GGLB จัดอยู่ในกลุ่มของพันธบัตรรัฐวิสาหกิจ แต่มีคุณลักษณะคล้ายกับพันธบัตรรัฐบาล   หลายคนอาจจะยังไม่ทราบว่าจริงๆ แล้วพันธบัตรรัฐวิสาหกิจคืออะไร ภาพรวมของตลาดพันธบัตรประเภทนี้เป็นอย่างไร โครงสร้างและรูปแบบการค้ำประกันจากรัฐบาล รวมถึงพันธบัตรรัฐวิสาหกิจที่มีลักษณะพิเศษรุ่นนี้แตกต่างจากรุ่นอื่นในแง่มุมไหนบ้าง วันนี้เราจะมาทำความรู้จักกับพันธบัตรประเภทนี้ให้มากขึ้นกันค่ะ

พันธบัตรรัฐวิสาหกิจ (State Owned Enterprise Bond: SOE Bond) เป็นตราสารหนี้ภาครัฐที่ออกโดยหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาตัวเลขการออกพันธบัตรรัฐวิสาหกิจไทยในปีที่ผ่านมา พบว่ามี SOE Bond ออกใหม่รวมมูลค่า 252,506 ล้านบาท โดยเป็นส่วนที่ออกโดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) 159,800 ล้านบาท หรือคิดเป็น 63% ของ SOE Bond ที่ออกใหม่ทั้งหมด   ทั้งนี้ ยอดคงค้างรวมของ SOE Bond ณ วันที่ 20 มกราคม 2557 มีจำนวน 513 รุ่น หรือมีมูลค่า 725,385 ล้านบาท คิดเป็น 8% ของตราสารหนี้ทั้งตลาด โดยพันธบัตรที่ออกโดย ธ.ก.ส. มีสัดส่วนมากสุดอยู่ที่ 228,800 ล้านบาท หรือคิดเป็น 32% ของพันธบัตรฯ ทั้งหมด

จากภาพรวมของตลาดพันธบัตรรัฐวิสาหกิจ จะเห็นได้ว่า ธ.ก.ส.ถือเป็นผู้ออกหลักในช่วงที่ผ่านมา โดยการออกพันธบัตรรุ่นล่าสุดของ ธ.ก.ส.มีการตั้งรหัสหลักทรัพย์ใหม่ว่า “GGLB” หรือ “Government Guaranteed Loan Bond” ซึ่งแตกต่างจากพันธบัตรรุ่นก่อนๆ ที่มีรหัสแทนชื่อผู้ออกว่า “BAAC”   โดยพันธบัตร ธ.ก.ส. รหัส “GGLB” นั้น กระทรวงการคลังจะเป็นผู้ค้ำประกันทั้งในส่วนของเงินต้นและดอกเบี้ยกรณีที่มีเหตุผิดนัด (Default) และรัฐบาลเป็นผู้รับผิดชอบในการจ่ายชำระทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย ทำให้พันธบัตร ธ.ก.ส.รุ่นนี้มีลักษณะเหมือนกับพันธบัตรรัฐบาลที่ออกโดยกระทรวงการคลัง (Loan Bond: LB)   ทั้งนี้ การออกพันธบัตรรุ่น GGLB มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาตลาดพันธบัตรรัฐวิสาหกิจในแนวทางเดียวกับการพัฒนาตลาดพันธบัตรรัฐบาล กล่าวคือ ต้องการใช้ GGLB เป็นตราสารอ้างอิงให้แก่รัฐวิสาหกิจอื่นๆ และช่วยเพิ่มสภาพคล่องในตลาดรองควบคู่กันไป

ด้วยความพิเศษในแง่ของความเสี่ยงที่อยู่ในระดับต่ำเช่นเดียวกับพันธบัตรรัฐบาลนี้เอง ทำให้การประมูลรอบล่าสุด (23 ม.ค.) ของพันธบัตร ธ.ก.ส. รุ่น GGLB16NA ซึ่งเป็นการเปิดขายเพิ่มเติมจากที่เคยประมูลไปแล้วครั้งแรกในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนของปีก่อนได้รับความสนใจจากนักลงทุนอย่างมาก เพราะนอกจากจะเป็นพันธบัตรที่มีความเสี่ยงค่อนข้างต่ำ จากรูปแบบการค้ำประกันที่แตกต่างจากพันธบัตรรัฐวิสาหกิจรุ่นอื่นๆ แล้ว ผลตอบแทนที่ได้รับยังถือว่าค่อนข้างสูง เนื่องจากเป็นอัตราดอกเบี้ยที่เท่ากับการประมูลในช่วงปลายปีก่อน ซึ่งกำหนดไว้ก่อนที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง บวกกับสภาพเศรษฐกิจไทยที่ยังชะลอตัว ทำให้แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยในประเทศยังอยู่ในช่วงขาลง ด้วยเหตุนี้จึงมีผู้ให้ความสนใจเข้าร่วมประมูลค่อนข้างมาก

การออกพันธบัตรรัฐวิสาหกิจของ ธ.ก.ส. (GGLB) คราวนี้นับเป็นอีกก้าวของการพัฒนาตลาดตราสารหนี้ไทย ซึ่งนอกจากจะช่วยสร้างความหลากหลายในตลาดพันธบัตรรัฐวิสาหกิจ และเป็นการปูทางเพื่อสร้างสภาพคล่องในตลาดรองแล้ว ยังช่วยเพิ่มทางเลือกในการลงทุนที่น่าสนใจ ทั้งในแง่ของความเสี่ยงและอัตราผลตอบแทนให้แก่นักลงทุนอีกด้วยค่ะ


กำลังโหลดความคิดเห็น