xs
xsm
sm
md
lg

ภาคธุรกิจเอเชียเร่งออกบอนด์พุ่งนิวไฮปีนี้ หนีดอกเบี้ยพุ่งปีหน้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

        ปี 2013 ถือเป็นปีที่มีการออกตราสารหนี้ในรูปสกุลเงินดอลลาร์, ยูโร และเยนในระดับที่สูงเป็นประวัติการณ์ในเอเชีย ขณะที่ลูกหนี้จำนวนมากรีบเร่งกู้เงิน เนื่องจากคาดว่าอัตราดอกเบี้ยในตลาดโลกจะปรับตัวขึ้นในอนาคต
        วอลุ่มการออกตรสารหนี้อยู่ในระดับสูงเป็นประวัติการณ์ ถึงแม้ว่าราคาพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐแกว่งตัวผันผวน โดยพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐมักจะถูกใช้เป็นเกณฑ์อ้างอิงในการกำหนดราคาตราสารหนี้เหล่านี้
        ความผันผวนของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ และการที่นักลงทุนไม่แน่ใจในอนาคตของมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในปีนี้ คือสองปัจจัยที่ส่งผลให้วงจรการดำเนินการจัดจำหน่ายตราสารหนี้ใช้เวลานานยิ่งขึ้น ในขณะที่โอกาสในการจัดจำหน่ายเปิดและปิดภายในเวลาอันรวดเร็ว
        อย่างไรก็ดี ความผันผวนของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐไม่สามารถสกัดปริมาณการออกตราสารหนี้กลุ่มนี้ไม่ให้ขึ้นไปทำสถิติสูงสุดใหม่ 
    ในขณะที่ผู้ออกตราสารหนี้ต้องการฉวยประโยชน์จากอัตราดอกเบี้ยที่ระดับต่ำมาก และนักลงทุนแสวงหาการลงทุนที่ให้อัตราผลตอบแทนสูง
        วอลุ่มการจำหน่ายพุ่งขึ้นสู่สถิติสูงสุดที่ 1.438 แสนล้านดอลลาร์ในปีนี้ โดยทำลายสถิติเดิมที่ 1.338 แสนล้านดอลลาร์ในปี 2012  ขณะที่ธนาคารเอชเอสบีซีและดอยช์ แบงก์ครองตำแหน่งธนาคารที่เป็นผู้จัดการจำหน่ายตราสารหนี้กลุ่มนี้มากที่สุด
        คาดกันว่าอุปสงค์ในตราสารหนี้เอเชียอาจปรับตัวลงในอนาคต โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากการที่เฟดวางแผนจะปรับลดขนาดมาตรการเข้าซื้อตราสารหนี้หรือ QE  
        นายโธมัส กวาน หัวหน้าฝ่ายตราสารหนี้ในบริษัทฮาร์เวสท์ โกลบัล  อินเวสท์เมนท์ กล่าวว่า "เป็นเรื่องยากที่ปริมาณการออกตราสารหนี้ใหม่ จะขึ้นไปทำสถิติสูงสุดได้อีกครั้งในปี 2014" โดยเขาคาดว่านักลงทุนรายย่อยจะยังคงถอนเงินลงทุนออกจากตลาดในปีดังกล่าว   ในอันดับของผู้จัดการจัดจำหน่ายตราสารหนี้นั้น เอชเอสบีซียังคงครองอันดับ 1 ในปีนี้ โดยได้รับแรงหนุนจากการช่วยเหลือธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) ในการระดมทุน 2.5 พันล้านดอลลาร์ผ่านทางตราสารหนี้ระยะ 3 ปี
        ธนาคารดอยช์ แบงก์ทะยานขึ้นจากอันดับ 4 ในปีที่แล้ว สู่อันดับ 2 ในปีนี้ โดยได้รับแรงหนุนจากการจัดจำหน่ายพันธบัตรอิสลามวงเงิน 1.5 พันล้านดอลลาร์ของอินโดนีเซีย ส่วนอันดับ 3 เป็นของซิตี้กรุ๊ป
        ธนาคารผู้จัดจำหน่ายตราสารหนี้ในเอเชียคาดหวังว่า ปัจจัยบวกที่จะช่วยบดบังผลกระทบของการปรับลดขนาด QE ของเฟด คือความจำเป็น ของภาคเอกชนเอเชียในการไถ่ถอนตราสารหนี้จำนวนมากที่ออกเมื่อ  5 ปีที่แล้ว ทั้งนี้ ตราสารหนี้ระยะ 5 ปีถือเป็นตราสารหนี้ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในเอเชีย
        ธนาคารโซซิเอเต้ เจเนอราลระบุว่า ผู้ออกตราสารหนี้ในเอเชียจะต้องไถ่ถอนตราสารหนี้สูงเป็นประวัติการณ์ถึง 4.3 หมื่นล้านดอลลาร์ในปี 2014 โดยเทียบกับระดับต่ำกว่า 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์ในปี 2013 ซึ่งบริษัทหลายแห่งจะได้รับแรงกระตุ้นให้ออกตราสารหนี้ในปีหน้า ในขณะที่ส่วนต่างอัตราผลตอบแทนระหว่างสินทรัพย์ในรูปสกุลเงินดอลลาร์และสกุลเงินในประเทศอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง
        อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่า ตลาดตราสารหนี้เอเชียจะชะลอตัวลงในปีหน้า เนื่องจากสภาพคล่องลดลง และมีช่องทางอื่นๆ ในการระดมทุน
        นายเจค็อบ เกียร์ฮาร์ท จากธนาคารดอยช์ แบงก์ กล่าวว่า  "โดยรวมแล้วเราคาดว่าอุปทานจะลดลงเล็กน้อย ในขณะที่ตลาดสินเชื่อธนาคารได้กลายเป็นทางเลือกที่มีประสิทธิภาพสูงในการระดมทุน เมื่อเทียบกับการจำหน่ายตราสารหนี้"
        อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐประเภทอายุ 10 ปีแกว่งตัวผันผวนอย่างมากในปีนี้ โดยอัตราผลตอบแทนได้ดิ่งลงแตะระดับ 1.614 % ในเดือนพ.ค. ก่อนจะพุ่งขึ้นสู่จุดสูงสุดในรอบกว่า 2 ปีที่ 3.007 % ในเดือนก.ย. โดยความผันผวนนี้ส่งผลให้การจำหน่ายตราสารหนี้เอเชีย  ในขั้นแรกต้องใช้เวลาดำเนินการนานกว่าปกติในปีนี้
        นายเดเวช อาชรา จากธนาคารแบงก์ ออฟ อเมริกา เมอร์ริล ลินช์  กล่าวว่า "นักลงทุนจำนวนมากเข้ามาทำการตลาดและประเมินสถานการณ์  ในตลาด โดยนักลงทุนต้องมีความคล่องตัวเป็นอย่างมาก ในขณะที่โอกาส เปิดและปิดอย่างรวดเร็ว และวงจรการจัดจำหน่ายใช้เวลานานขึ้นในปีนี้"
        อย่างไรก็ดี จำนวนธุรกรรมประเภทนี้พุ่งขึ้นสู่ 286 ข้อตกลงในปีนี้  จาก 253 ข้อตกลงในปี 2012 ในขณะที่มูลค่าข้อตกลงทะยานขึ้น 7.5 %
        ตลาดเผชิญกับอุปสรรคมากยิ่งขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะการปรับลดขนาด QE ในอนาคต
        นายเกียร์ฮาร์ทกล่าวว่า "นักลงทุนรายย่อยจะยังคงจัดสรรเงินไว้ลงทุนในตราสารหนี้ แต่เราคาดว่านักลงทุนมีแนวโน้มที่จะซื้อหุ้นมากกว่าและสิ่งนี้จะส่งผลกระทบอย่างแน่นอนต่อข้อตกลงจำหน่ายตราสารหนี้ในปี 2014"
(ข่าวจากสำนักข่าว รอยเตอร์)
 
ทวีสุข ธรรมศักดิ์
Executive Vice President.
RHB-OSK Securities (Thailand)PLC
RHB Banking Group
กำลังโหลดความคิดเห็น