ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี ระบุเป็นโอกาสที่เหมาะสมที่จะ กนง.จะลด ดบ.0.25% ในการประชุมครั้งสุดท้ายของปี จากจีดีพีลดต่ำกว่าคาด และสภาวะการเมืองป่วนกดดันเศรษฐกิจ
ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี (TMB Analytics) มองปัจจัยเศรษฐกิจสนับสนุนการลดดอกเบี้ยลงร้อยละ 0.25 ในการประชุมวันที่ 27 พ.ย. นี้ จากการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยโดนความเสี่ยงรุมเร้า เงินเฟ้อพื้นฐานใกล้หลุดกรอบนโยบาย และการใช้จ่ายของรัฐที่ล่าช้าออกไป กลับมาเป็นประเด็นให้นักเศรษฐศาสตร์ต้องวิงเวียนกันอีกครั้ง เมื่อสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) รายงานเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3 ของปีนี้ขยายตัวเพียงร้อยละ 2.7 จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า แผ่วตัวลงอีกจากระดับร้อยละ 2.9 ในไตรมาส 2 เนื่องจากการบริโภคและการลงทุนในประเทศหดตัว ทำให้สภาพัฒน์หั่นประมาณการทั้งปีให้ไทยขยายตัวเพียงร้อยละ 3.0 ลดฮวบจากก่อนหน้าที่ให้ไว้ร้อยละ 3.8-4.3
ตัวเลขดังกล่าวทำให้ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจทั้งภาครัฐ และเอกชนต่างทยอยกันปรับลดคาดการณ์จีดีพีไทยปีนี้ จากเดิมที่เชื่อว่าจะขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 3.5 มาอยู่ที่ระดับต่ำกว่าร้อยละ 3 ทางด้าน TMB Analytics ก็ปรับประมาณการเศรษฐกิจของเราลงเล็กน้อยเช่นกัน จากเดิมที่คาดว่าจะเติบโตได้ร้อยละ 3.1 (ปรับครั้งก่อน ณ เดือนกันยายน) มาอยู่ที่ระดับร้อยละ 2.9
อัตราการขยายตัวในระดับที่กล่าวข้างต้นนับว่าต่ำกว่าที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้ไว้ที่ร้อยละ 3.7 ในรายงานนโยบายการเงินฉบับตุลาคม 2556 ค่อนข้างมาก ทำให้ TMB Analytics ประเมินว่า น่าจะเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่ กนง. จะนำกระสุนที่เก็บมาตั้งแต่ช่วงกลางปีออกมาใช้เพื่อพยุงการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4 และไตรมาสแรกของปีหน้า
นอกจากนี้ สถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมืองที่ดูเหมือนจะทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น และยืดเยื้อขึ้นเรื่อยๆ ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่จะกดดันเศรษฐกิจในตอนนี้ เพราะนอกจากจะกระทบความต่อเนื่องในการดำเนินธุรกิจของภาคเอกชนแล้ว ยังส่งผลถึงความเชื่อมั่นของผู้บริโภคอีกด้วย และยังอาจลามไปถึงภาคการท่องเที่ยวซึ่งเสมือนเป็นความหวังสุดท้ายของการเติบโตในปีนี้ รวมทั้งการเบิกจ่ายการลงทุนของภาครัฐในโครงการขนาดใหญ่ก็จะถูกเลื่อนออกไปด้วย
แม้การลดดอกเบี้ยนโยบายลงเพียงร้อยละ 0.25 อาจไม่สามารถส่งผลให้ภาคเศรษฐกิจจริงของประเทศกลับมาดีอย่างหน้ามือเป็นหลังมือ รวมทั้งทิศทางของค่าเงินบาทก็ไม่ได้อยู่ในขาแข็งที่จะกดดัน กนง. ให้ลดดอกเบี้ย อย่างไรก็ตาม การดำเนินนโยบายการเงินเพิ่มเติมน่าจะช่วยฟื้นความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจได้ ไม่มากก็น้อย และที่สำคัญกว่าคือ การสร้างความเชื่อมั่นต่อการดำเนินนโยบายร่วมกันของภาครัฐ เพราะเมื่อนโยบายการคลังประสบปัญหา ก็อาจถึงคราวของนโยบายการเงินต้องออกโรงบ้าง