xs
xsm
sm
md
lg

“เวิลด์แบงก์” เตือนการโจมตีเงินบาทไม่ใช่เรื่องง่าย เชื่อไม่โดนถล่มเหมือน “รูปี-รูเปียะห์”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“เวิลด์แบงก์” มั่นใจ “เงินบาท” ไม่โดนถล่มเหมือน “รูปี-รูเปียะห์” เพราะมีการลอยตัวแบบบริหารจัดการ การจะเข้ามาโจมตีค่าเงินจึงไม่ใช่เรื่องง่าย รวมทั้งโอกาสในการทำกำไรยังมีไม่มาก และพื้นฐานเศรษฐกิจยังแข็งแกร่ง ส่วนการอ่อนค่าแตะ 32 บาทต่อดอลลาร์ เพราะกังวลถอน “คิวอี” ซึ่งเป็นไปแบบเดียวกันทั้งภูมิภาค

น.ส.กิริฎา เภาพิจิตร นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารโลกสำนักงานประจำประเทศไทย (เวิลด์แบงก์) กล่าวว่า เวิลด์แบงก์ อาจจะมีการปรับประมาณการเศรษฐกิจเนื่องจากเศรษฐกิจไม่ได้ขยายตัวตามที่คาดการณ์ไว้ แต่จะปรับเป็นเท่าไหร่นั้นต้องดูปัจจัยในครึ่งปีนี้เป็นส่วนประกอบ อย่างไรก็ตาม ความเห็นส่วนตัวมองว่า เศรษฐกิจปีนี้เป็นไปได้ที่อาจจะขยายตัวประมาณ 4-4.5% ส่วนปีหน้าคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะดีกว่าปีนี้ เนื่องจากการลงทุนขนาดใหญ่ภาครัฐจะมีความชัดเจนมากขึ้น รวมถึงเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว

“เศรษฐกิจไทยปีหน้าคาดว่าจะขยายตัวมากกว่าปีนี้เพราะฐานในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา คือ 2554-2555 สูงมาก ตั้งแต่น้ำท่วม และการกระตุ้นเศรษฐกิจการบริโภคจากนโยบายรัฐบาลทำให้ปีนี้การขยายตัวลดลงแต่ในปีหน้าฐานจากปีนี้กลับสู่ภาวะปกติ ประกอบกับปัจจัยอื่นๆ ทั้งการท่องเที่ยว การลงทุนภาครัฐ และเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัว”

สำหรับค่าเงินบาทที่อ่อนค่าที่ระดับ 32 บาทต่อดอลลาร์นั้น เกิดจากนักลงทุนกังวลเรื่องที่สหรัฐฯ จะชะลอมาตรการ QE และการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดของไทย จึงทำให้ค่าเงินบาทในช่วงนี้มีความผันผวนตามกระแสเงินทุนไหลเข้า-ออกของต่างชาติ

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าเมื่อภาวะเศรษฐกิจโลกปรับตัวดีขึ้น คาดว่าการส่งออกไทยในครึ่งปีหลังจะขยายตัวดีขึ้น จากครึ่งปีแรกการส่งออกชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลก และสหรัฐฯ ไม่ชะลอ QE ลงมากอย่างที่หลายฝ่ายกังวล ก็จะทำให้นักลงทุนนำเงินกลับเข้ามาลงทุนในประเทศตลาดเกิดใหม่ที่มีการเติบโตสูง และให้ผลตอบแทนดี ซึ่งรวมถึงเอเชีย และไทย เพราะมั่นใจว่าเอเชียจะเป็นศูนย์กลางการเติบโตของเศรษฐกิจในอีก 10 ปีข้างหน้า

“ในระยะยาวถือว่าภูมิภาคอาเซียนยังเป็นจุดสนใจของนักลงทุนแน่นอน ดังนั้น การที่ในระยะนี้เงินทุนไหลออกจากตลาดทุนในภูมิภาคนี้ หรือมีความผันผวนอยู่บ้างจึงถือเป็เรื่องปกติที่จะทำให้ค่าเงินอ่อนลงไปบ้างแต่จะเป็นปริมาณมากน้อยแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลักคือ ความมั่นใจของนักลงทุนที่มีต่อเศรษฐกิจไทย และความชัดเจนในมาตรการ คิวอี ของสหรัฐอเมริกา ดังนั้น ประเทศไทยจะต้องปรับตัวรองรับกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายที่จะมีมากขึ้นในอนาคต”

ส่วนข้อวิตกกังวลว่าอาจมีการโจมตีค่าเงินบาทในอ่อนค่าลงไปอีกเหมือนกับเงินรูเปียะห์ ของอินโดนีเซีย และรูปี ของอินเดียนั้น น.ส.กิริฎา มองว่าเป็นไปได้ยาก เพราะปัจจุบันเงินบาทของไทยเคลื่อนไหวลอยตัวแบบมีการจัดการ ไม่ได้เป็นอัตราคงที่เหมือนในอดีต ดังนั้น การจะเข้ามาโจมตีจึงไม่ใช่เรื่องง่าย รวมทั้งโอกาสในการทำกำไรยังมีไม่มาก และพื้นฐานเศรษฐกิจไทยยังมีความแข็งแกร่งจึงไม่น่าเป็นห่วง แต่อย่างไรก็ตาม มองว่าค่าเงินบาทควรเคลื่อนไหวไปตามภูมิภาค และประเทศคู่แข่งเพื่อไม่ให้เสียเปรียบโอกาสด้านการส่งออก

ดังนั้น ความผันผวนในระยะนี้ก็จะอาจจะมีผลต่อการนำเข้าอยู่บ้าง โดยเฉพาะการนำเข้าพลังงานน้ำมันที่มีผลต่อต้นทุนที่สูงขึ้น แต่ก็จะเป็นผลดีต่อภาคการส่งออก ทั้งนี้ จะมาก หรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับว่าค่าเงินในประเทศคู่แข่งของไทยก็อ่อนค่าลงด้วยเช่นกัน สำหรับนโยบายอัตราดอกเบี้ยเชื่อในครึ่งปีหลังจะไม่ลดลงไปจาก 2.5% เพราะมีเรื่องของความกังวลเรื่องหนี้ภาคครัวเรือน
กำลังโหลดความคิดเห็น