xs
xsm
sm
md
lg

“เวิลด์แบงก์” เตรียมหั่นเป้าคาดการณ์ ศก.ไทย ปี 56 เหลือ 4.0-4.5% ยัน ศก.ไม่ได้แย่ หรือถดถอย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ธนาคารโลก” เตรียมหั่นเป้าคาดการณ์ ศก.ไทยปี 56 ลงอีก 0.5% เหลือเติบโต 4.0-4.5% ยัน ศก.ไทยไม่ได้แย่หรือถดถอย เพียงแต่ขยายตัวได้น้อยหากเทียบกับปีก่อนซึ่งจีดีพีขยายตัวสูง

น.ส.กิริฎา เภาพิจิตร นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารโลกสำนักงานประจำประเทศไทย (เวิลด์แบงก์) กล่าวว่า ในเดือนกันยายนนี้ ธนาคารโลกจะปรับลดอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปี 2556 ใหม่ จากที่เคยคาดการณ์ว่า จีดีพีจะขยายตัวร้อยละ 5 เนื่องจากตัวเลขเศรษฐกิจไทยโตต่ำกว่าที่คาด โดยเฉพาะการส่งออกที่ขยายตัวต่ำ แต่เศรษฐกิจไทยไม่ได้แย่ หรือถดถอย เพียงแต่ขยายตัวได้น้อยหากเทียบกับปีก่อนที่จีดีพีขยายตัวสูง ผลจากมาตรการฟื้นฟูหลังน้ำท่วม และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลังมีแนวโน้มดีขึ้น เนื่องจากมีปัจจัยบวกสนับสนุนจากเศรษฐกิจโลกในช่วงครึ่งปีหลังที่จะค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้น ซึ่งก็จะส่งผลดีให้แก่ภาคการส่งออกของไทยขยายตัวดีขึ้นกว่าช่วงครึ่งปีแรก บวกกับการท่องเที่ยวที่ยังขยายตัวได้ดี แต่ภาคการบริโภคจะไม่เร่งตัวขึ้นมาก เพราะยังมีปัญหาหนี้ครัวเรือนกดดัน ดังนั้น เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้น่าจะโตประมาณร้อยละ 4-4.5

ขณะที่เศรษฐกิจไทยปี 2557 มองว่า เศรษฐกิจจะขยายตัวได้ดีกว่าปีนี้ เนื่องจากฐานเศรษฐกิจจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ประกอบกับเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้น ดังนั้น จะเป็นผลดีต่อภาคการส่งออกของไทยให้โตได้มากกว่าปีนี้ และจะมีการลงทุนโครงการโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐอย่างชัดเจน รวมทั้งการท่องเที่ยวยังอยู่ในเกณฑ์ดี ประกอบกับอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำยังเอื้อต่อการลงทุน

ส่วนการที่ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงมาอยู่ที่ 32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐนั้น เกิดจากหลายปัจจัยทั้งจากเงินทุนไหลออกจากการที่นักลงทุนกังวลเรื่องที่สหรัฐฯ จะชะลอมาตรการ QE และการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดของไทย จึงทำให้ค่าเงินบาทในช่วงนี้มีความผันผวนตามกระแสเงินทุนไหลเข้า-ออกของต่างชาติ แต่เชื่อว่าเมื่อภาวะเศรษฐกิจโลกปรับตัวดีขึ้น การส่งออกของไทยเติบโตดีขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจโลก และสหรัฐฯ ไม่ชะลอ QE ลงมากอย่างที่หลายฝ่ายกังวล ก็จะทำให้นักลงทุนนำเงินกลับเข้ามาลงทุนในประเทศตลาดเกิดใหม่ที่มีการเติบโตสูง และให้ผลตอบแทนดี ซึ่งรวมถึงเอเชีย และไทย มั่นใจว่าเอเชียจะเป็นศูนย์กลางการเติบโตของเศรษฐกิจในอีก 10 ปีข้างหน้า ดังนั้น ประเทศไทยจะต้องปรับตัวรองรับกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายที่จะมีมากขึ้นในอนาคต
กำลังโหลดความคิดเห็น