นักลงทุนในทองคำช่วงนี้คงปวดหัวหน้าดู วันนึงทองคำลง ตลาดหุ้นลง ก็บอกว่ากังวลการลดมาตรการ QE แต่พออีกวันราคาทองคำพุ่งขึ้น สวนตลาดหุ้นที่ยังลงอยู่ กลับบอกว่าคนแห่ซื้อทองคำเพราะกังวลความเสี่ยงจากการลด QE เหมือนเดิม
เฮ้ย....ตกลงเอายังไงกันแน่ QE มันมีแล้วดีหรือไม่ดีต่อทองคำ
อย่างแรกที่นักลงทุนต้องเข้าใจถึงการเสพข่าวรายวันเกี่ยวกับปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อราคาทองคำว่า ส่วนใหญ่บทสรุปปัจจัยรายวันของแต่ละสถาบันการเงินนั้น ก็แปลมาจากสื่อต่างประเทศนี่แหละ ส่วนใหญ่ก็เอามาจาก Bloomberg, Reuters, CNBC, WGC, CNN, Kitco, Marketwatch ฯลฯ แล้วสื่อต่างประเทศเหล่านี้ ก็เอามาจากบทสัมภาษณ์ที่เค้าโทรไปสอบถามบรรดาเทรดเดอร์ที่เค้ารู้จัก ว่าทำไมทองคำมันขึ้นหรือทองคำมันลง ซึ่งคำตอบที่ได้มาส่วนใหญ่มันก็มาจากมุมมองของเทรดเดอร์คนนั้นๆ อาจจะเป็นเหตุผลที่ทำให้มันขึ้นลงจริงๆก็ได้ หรืออาจจะไม่ใช่ก็ได้ เพียงแต่สื่อต้องหาเหตุผลมาสนับสนุนว่าราคาทำไมมันขึ้นหรือลง ซึ่งเทรดเดอร์หรือนักวิเคราะห์ท่านแรกที่เคยให้สัมภาษณ์ว่าการกังวลว่าจะลดมาตรการ QE เป็นผลลบต่อทองคำ แต่ในวันที่ทองคำมันขึ้นแล้วตลาดยังกังวลเรื่องลดมาตรการ QE อยู่ เทรดเดอร์คนแรกคงไม่สามารถใช้เหตุผลเดิมในการตอบได้แล้ว จึงต้องเปลี่ยนเหตุผลให้สัมภาษณ์ไป ทำให้หลายๆครั้งเราเสพข่าว เราก็จะเริ่มงงว่า ตกลงเหตุผลจริงๆที่ทำให้ทองคำมันขึ้นหรือลงเพราะอะไร
ต้องยอมรับว่าทองคำมันมีหลายปัจจัยที่ส่งผลกระทบ แต่การที่ราคามันจะเคลื่อนไหวขึ้นหรือลงนั้น มันก็ขึ้นอยู่กับแรงซื้อหรือแรงขายมากกว่ากัน ... อ้าวตอบแบบนี้ใครก็รู้นี่นา .... เมื่อแรงซื้อมากกว่า ราคามันก็ขึ้น และเมื่อแรงขายมากกว่า มันก็ลง... อันนี้มันสัจธรรมของทุกสิ่งอยู่แล้ว เพียงแต่แรงซื้อมันมาจากไหน ถ้าเงินทุนมันวิ่งเข้าหาสินทรัพย์ไหน สินทรัพย์นั้นมันก็ขึ้นได้สบายๆ แต่ถ้าเงินทุนมันออกจากสินทรัพย์ไหน ราคาก็ไหลรูดได้สบายเหมือนกัน
ลองนึกภาพนะครับ ว่าถ้ารายย่อยๆอย่างเราๆเชื่อว่าตลาดกังวลกับการลดมาตรการ QE แล้วทองคำมันต้องลง แต่เกิดมีกลุ่มผู้จัดการกองทุนยักษ์ใหญ่ระดับโลกกลุ่มหนึ่งมองว่า การลดมาตรการ QE จะส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐชะงักงันและอาจส่งผลต่อดอลลาร์สหรัฐในอนาคต จึงต้องการหาสินทรัพย์ที่ปลอดภัยมากกว่าการถือดอลลาร์สหรัฐไว้พักเงินทุนชั่วคราว มันก็อาจจะทำให้ราคาทองคำไม่ปรับลงอย่างที่เราๆคิดก็ได้ เพราะมันขึ้นอยู่กับว่าใครดูแลเงินทุนก้อนใหญ่กว่ากัน พอเค้าเลือกซื้อด้วยเหตุผลคนละเหตุผลกับคนส่วนใหญ่คิด แต่ด้วยเงินทุนที่ขนาดใหญ่และเกาะกลุ่มไปในทิศทางเดียวกันมันก็ผลักดันให้ราคาเป็นไปในทิศทางของคนกลุ่มนั้นได้
ตัวอย่างเช่น ตลาดหุ้นไทย .... ปริมาณเงินทุนของรายย่อยรวมๆกันในตลาดนั้นมากกว่าเงินทุนต่างชาติที่ไหลเข้ามายังตลาดหุ้นบ้านเราซะอีก แต่น่าแปลกใจมั้ยว่า ทำไมเวลาฝรั่งเข้าซื้อสะสม หรือขายสะสมมันมีผลต่อการขึ้นลงของตลาดหุ้นไทยมากกว่ารายย่อย สาเหตุหนึ่งก็คือ รายย่อยมันมีหลายแสนราย แตกต่างทางความคิด ไม่เกาะกันเป็นกลุ่มก้อนเท่าไหร่ ต่างชาติเค้าอาจมีแตกต่างความคิดกันบ้าง แต่ด้วยขนาดเงินทุนที่เข้าออกแต่ละครั้งก็ไปในทิศทางเดียวกันเป็นส่วนใหญ่ แล้วพอตลาดหุ้นขึ้นหรือหุ้นลง รายย่อยๆอย่างเราๆก็จะมาทราบเหตุผลทีหลังว่าที่มันขึ้นหรือลงเพราะอะไรจากสื่อที่ไปสัมภาษณ์พวกเทรดเดอร์หรือนักวิเคราะห์มาอีกที ส่วนใหญ่ก็เอามาจากต่างชาติอีกต่อหนึ่งเหมือนกัน เรียกว่า ต่างชาติเค้าขายกันก่อนแล้วก็มาบอกเหตุผลว่าขายเพราะอะไร รายย่อยเราได้เหตุผลได้ข่าวมา ก็จึงเริ่มขายบ้าง จังหวะที่เราขาย ต่างชาติหรือรายใหญ่เค้าก็ได้เวลาช้อนซื้อคืน มันก็เป็นวัฏจักรแบบนี้มาตลอด
ตลาดทองคำก็เหมือนๆกัน การเสพข่าวและเหตุผลมากๆ มันช้ากว่าการเคลื่อนไหวของราคามากนัก ใครที่เสพข่าวแล้วงงๆ แนะนำว่าให้ใช้วิธีการวิเคราะห์กราฟราคาไปเลยจะดีกว่า เพราะหากมีรายใหญ่ขายหรือต่างชาติขาย ยังไงมันก็สะท้อนมาในราคาอยู่แล้ว บางทีการมารอฟังเหตุผลฟังข่าวมันอาจไม่ทันการณ์ก็ได้
สัญญา หาญพัฒนกิจพาณิช
ผู้อำนวยการทีมพัฒนาธุรกิจตลาดอนุพันธ์ บล.โกลเบล็ก