หากพูดเรื่องนี้กันจริงๆจังๆ คงใช้เวลาเหมือนเรียนหนังสือกันสักเทอมนึง มีหนังสือเกี่ยวกับจิตวิทยาการลงทุน “The Psychology of Investing” เขียนโดย คุณ John R.Nofsinger ซึ่งพูดถึงจิตวิทยามวลชนในตลาดเก็งกำไรในหุ้น แต่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในตลาดทองคำ สินค้าโภคภัณฑ์ ฯลฯได้เช่นกัน
เคยรู้สึกอย่างนี้ในตลาดทองคำบ้างมั้ย? คุณอยากซื้อเก็งกำไรทองคำมากเลย หลังสื่อต่างๆมีการลงข้อความและข่าวสารเกี่ยวกับทองคำ ตามทีวี วิทยุ เว็บบอร์ดหรือเฟซบุ๊ค มีนักวิเคราะห์หรือคนมีชื่อเสียงออกมาพูดถึงทองคำว่าน่าลงทุน โดยจริงๆแล้วคุณไม่มีความรู้เรื่องเกี่ยวกับทองคำสักเท่าไหร่เลย ถ้าใช่ นี่คือหนึ่งในจิตวิทยาการลงทุนมวลชน (Social Interaction)
ซื้อทองคำไว้ แต่ราคาทองคำลงเอ๊าลงเอา จนขาดทุนกว่า 20-30 เปอร์เซ็นต์ แต่ไม่กล้าขายตัดขาดทุนแม้จะหันไปเจอหุ้นหรือสินทรัพย์อื่นๆที่น่าจะให้ผลตอบแทนที่ดี เพราะคุณได้แต่บอกกับตัวเองว่า อดทนถือทองคำต่อไปเถอะ อุตส่าห์ทนถือมานานขนาดนี้แล้ว (Sunk-cost effect)เวลาซื้อทองคำไว้ที่ 23,000 บาท หลังราคาทองคำลงมาที่ 21,000 บาท คุณบอกตัวเองว่าเดี๋ยวขึ้นมาใกล้ทุนก็จะขายทิ้งล่ะ แต่มันลงต่อไปที่ 19,000 บาท คุณก็เปลี่ยนใหม่เป็นเดี๋ยวขึ้นมาที่ 21,000 บาทก็จะขายทิ้งล่ะ (Reference
Point) ไม่ยอมตัดขาดทุนแต่แรก แต่เปลี่ยนเป้าราคาการตัดขาดทุนหลังราคามันร่วงลงไปอีก ทั้งๆที่ควรตัดขาดทุนตั้งแต่แรก
"ความรู้สึกแบบนี้มักเกิดขึ้นกับคนส่วนใหญ่ และเชื่อหรือไม่ว่าคนเหล่านี้มักจะเป็นคนที่ขาดทุนในระยะยาวหากคุณอยู่ในตลาดเก็งกำไรนานพอ เพราะตลาดเก็งกำไรทุกชนิดมันเป็นเรื่องของอารมณ์ ความโลภและความกลัว ความเชื่อมั่นกับความหวาดหวั่น แม้คุณจะจบปริญญาเอก โท ตรี หรือจะมีฐานะดี นามสกุลดัง แต่คุณเป็นมนุษย์ พอเจอข่าวสารมากๆ เจอความผันผวนของราคาทองคำ ราคาหุ้นมากๆ คุณจะเกิดอารมณ์ของความโลภและความกลัวครอบงำ จนตัดสินใจด้วยอารมณ์มากกว่าเหตุผลเสมอ นั่นเป็นเพราะคุณเป็นมนุษย์ ทำให้หลายครั้งเราจะเห็นคนที่จบการศึกษาสูงๆแต่ก็อาจขาดทุนในตลาดหุ้น ตลาดทองได้ หรือคนที่ไม่จบการศึกษา หรือไม่จบการเงิน ก็สามารถได้กำไรเป็นกอบเป็นกำในตลาดหุ้น ตลาดทองคำได้เช่นกัน มันอยู่ที่ว่า ใครมีเหตุผลเหนืออารมณ์ได้มากกว่ากัน"
การมีเหตุผลมากกว่าอารมณ์อาจจะยังไม่พอ ต้องแน่ใจว่าเหตุผลที่เราใช้ช่วยในการตัดสินใจ ต้องเป็นเหตุผลที่มาจากตรรกะที่ปราศจากอคติด้วย ไม่เช่นนั้นเหตุผลที่หยิบยกขึ้นมาใช้ก็ไม่ได้ต่างอะไรกับอารมณ์ดีๆนี่เอง ยกตัวอย่างเช่น ไปอ่านบทวิเคราะห์ของนักวิเคราะห์ที่ถือทองคำอยู่ในมือเยอะๆ บทวิเคราะห์ของคนๆนี้ก็คงจะเชียร์ให้ซื้อๆๆๆ มากกว่าที่จะขายแม้จะเป็นขาลงก็ตาม จิตวิทยาการลงทุนในทองคำไม่ต่างกับตลาดอื่นๆ ไว้ครั้งหน้าจะมาพูดคุยกันเพิ่มเติมอีกทีครับ
สัญญา หาญพัฒนกิจพาณิช
ผู้อำนวยการทีมพัฒนาธุรกิจตลาดอนุพันธ์ บล.โกลเบล็ก