“ธปท.” สั่งแบงก์ตั้งสำรองเพิ่มพิเศษ เพื่อรองรับปัญหา “หนี้ครัวเรือน” ปัจจัยเสี่ยง “ตลาดเงินโลก” พร้อมกำชับให้ระวังความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน เพราะมีโอกาสเคลื่อนไหวได้ 2 ทิศทาง โดยย้ำว่าอย่ามีการลงทุนมากเกินไป และอยู่ในฐานะระวังตัว
นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า แม้ภาพรวมของระบบสถาบันการเงินจะอยู่ในเกณฑ์ที่ดี แต่ต้องระวังปัจจัยเสี่ยงจากต่างประเทศเพราะเศรษฐกิจโลกยังไม่แน่นอน โดยเฉพาะการฟื้นตัวของประเทศขนาดใหญ่ที่ยังไม่ชัดเจนจึงมีผลต่อเงินทุนเคลื่อนย้าย และอัตราแลกเปลี่ยน
ขณะเดียวกัน ต้องระวังปัจจัยเสี่ยงในประเทศ คือ ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่เร่งตัวสูงขึ้นซึ่งจะเป็นปัญหาหนักเมื่อภาวะเศรษฐกิจไม่ดี โดยเฉพาะหนี้ภาคอสังหาริมทรัพย์ เพราะหากอัตราดอกเบี้ยอยู่ในทิศทางขาขึ้นก็จะเป็นภาระหนี้ให้เพิ่มขึ้น
ดังนัน ธปท. จึงให้ธนาคารพาณิชย์ระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อ และให้มีการกันสำรองเพิ่มขึ้นเป็นพิเศษ เผื่อสำหรับการรองรับในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจมีปัญหาซึ่งอาจจะกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้าได้ เพราะในขณะนี้ธนาคารพาณิชย์มีผลกำไรที่ดีจึงสามารถกันสำรองเป็นพิเศษได้ และการเพิ่มการกันสำรองก็ช่วยให้ธนาคารพาณิชย์เป็นที่ยอมรับจากสถาบันการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของต่างประเทศ
นอกจากนี้ ยังได้กำชับให้ธนาคารพาณิย์ระวังความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา เพราะมีโอกาสเคลื่อนไหวได้ 2 ทิศทาง โดยย้ำว่ าอย่ามีการลงทุนมากเกินไป และอยู่ในฐานะระวังตัว
นอกจากนี้ ในงานสัมมนา “การคุ้มครองเงินฝากและการกำกับดูแลสถาบันการเงิน” ผู้ว่าฯ ธปท. ยืนยันว่า สถาบันคุ้มครองเงินฝากได้สร้างความมั่นใจ และดูแลเงินฝากให้แก่ประชาชนอย่างเหมาะสม และเกิดประสิทธิภาพเพื่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ
โดยปัจจุบัน การเกิดสถาบันคุ้มครองเงินฝากในช่วงที่มีความพร้อมภายใต้เงื่อนไข 4 ข้อ ได้แก่ เศรษฐกิจไทยอยู่ในฐานะที่มั่นคง และเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง ถึงแม้ว่าเศรษฐไทยในปีนี้จะมีอัตราการขยายตัวลดลงจากเดิมที่คาดการณ์ว่าจะขยายตัวได้ร้อยละ5.1 เหลือร้อยละ 4.2 แต่พื้นฐานยังแข็งแกร่ง และพร้อมจะเผชิญความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจ ซึ่งธปท. ได้ติดตามสถานการณ์ และประสานการดำเนินนโยบายเพื่อรักษาความสมดุลของเศรษฐกิจ
ส่วนเงื่อนไขข้อที่ 2 คือ ระบบสถาบันการเงินยังสามารถรองรับความเสี่ยงได้ดี โดยมีสถาบันการเงินทั้งไทย และต่างประเทศ จำนวน 35 แห่ง อยู่ภายใต้ พ.ร.บ.คุ้มครองเงินฝาก ซึ่งปัจจุบัน ฐานะของสถานบันการเงินเหล่านี้มีความเข้มแข็งตามหลักมาตรฐานสากล และตามเกณฑ์บาเซิล 3 ทัดเทียมกับประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยมีเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงสูงถึงร้อยละ 15.7 เป็นเงินกองทุนขั้นที่ 1 ที่มีคุณภาพดีถึงร้อยละ 12.3 ซึ่งเพียงพอต่อการรองรับแรงกระแทก และช่วยลดผลกระทบต่อเสถียรภาพของเศรษฐกิจโดยรวม
ขณะเดียวกัน สถาบันการเงินมีคุณภาพสินทรัพย์ที่ดี โดยมีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้เพียงร้อยละ 2.2 และมีกำไรสิ้นสุดเดือนมิถุนายน 2556 สูงถึง 98,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.7 และมีสินเชื่อที่ขยายตัวถึงร้อยละ 12.8 นอกจากนี้ สถาบันการเงินมีการดำรงสภาพคล่องอย่างเหมาะสมเพื่อสามารถเปลี่ยนแปลงสินทรัพย์เป็นเงินสดได้ทันทีด้วย
เงื่อนไขข้อที่ 3 คือ ความพร้อมของกฎหมายที่ให้อำนาจแก่หน่วยงานในการดูแลสถาบันการเงินที่มีปัญหาได้ทันการ เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ประชาชนผู้ฝากเงิน โดยธนาคารแห่งประเทศไทย จะเข้าไปดูแลทันทีที่เห็นปัญหา โดยไม่ต้องรอให้ส่วนของผู้ถือหุ้นติดลบ หรือไม่รอให้เงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงต่ำกว่าร้อยละ 8.5 และเงื่อนไขข้อที่ 4 คือ การบริหารของสถาบันการเงินมีธรรมาภิบาล โดยผู้บริหาร และคณะกรรมการของสถาบันการเงินมีการบริหารที่โปร่งใส และสถาบันการเงินมีการปรับปรุงการบริหารงานภายใน จนได้รับการจัดอันดับเครดิตอยู่ในระดับดี
ด้านนายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า สถาบันคุ้มครองเงินฝากปัจจุบันมียอดการคุ้มครองต่อบัญชีที่ 50 ล้านบาท และในปี 2559 จะทยอยปรับลดวงเงินคุ้มครองลงเหลือ 1 ล้านบาทต่อบัญชี โดยปัจจุบัน มีการคุ้มครองเงินฝาก 63 ล้านบัญชี หรือคิดเป็นร้อยละ 98 ของบัญชีทั้งหมดในระบบ
อย่างไรก็ตาม ในระยะต่อไปจะต้องพิจารณาความจำเป็นว่าประเทศไทยจะต้องมีเงินฝากในสัดส่วนใดถึงจะเพียงพอที่จะรองรับการดูแลระบบสถาบันการเงิน โดยสิ่งที่สำคัญที่สุด คือ ความมั่นคงของสถาบันการเงิน ซึ่งหากดูจากตัวเลขปัจจุบันระบบสถาบันการเงินมีความเข้มแข็งมาก และมีศักยภาพในการทำกำไรสูง โดย ธปท.จะต้องดูแลให้สถาบันการเงินมีความมั่นคงภายใต้การแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น
นายอารีพงศ์ ระบุว่า ในส่วนของธนาคารรัฐนั้น กระทรวงการคลังจะทำหน้าที่กำกับดูแลแม้ว่า ปัจจุบันจะมี 2 ธนาคารมีปัญหา คือ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย หรือเอสเอ็มอีแบงก์ ซึ่งได้หาแนวทางในการแก้ไขฟื้นฟูให้สถานะกลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว
ส่วนทิศทางของธนาคารพาณิชย์นั้นมีการปรับตัวอย่างชัดเจน โดยเฉพาะในการควบรวมกันเพื่อให้มีขนาดใหญ่ และยังมีธนาคารต่างประเทศเข้ามาถือหุ้นจำนวนมาก เพื่อให้เพียงพอต่อการแข่งขัน โดยเฉพาะการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งในการแข่งขันของสถาบันการเงินของไทยในอนาคต