หลังจากธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท.ได้ปรับลดเป้าจีดีพีปี 56 เหลือโตเพียง 4.2% จากเดิมที่คาดการณ์ว่าจะขยายตัว 5.1% ส่วนปีหน้าคาดโต 5% เท่าเดิม และปรับลดคาดการณ์เงินเฟ้อพื้นฐานปี 56 อยู่ที่ 1.1% จากเดิม 1.6% ส่วนปี 57 คาดอยู่ที่ 1.4% จากเดิมที่ 1.7%
ขณะที่เป้าการส่งออกปีนี้ ธปท.ปรับลดเป้าส่งออกปีนี้โต 4% จากเดิมคาดโต 7.5% ส่วนปีหน้าคาดอยู่ระดับ 8% จากเดิมระดับ 10%
ทั้งนี้ ธปท.พร้อมลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจหากจีดีพีปีนี้โตไม่ถึง 4.2% ตามเป้าหมาย โดยประเมินครึ่งปีหลังอัตราจีดีพีจะเติบโต 4%
ส่งผลให้บรรยกาศการลงทุนเมื่อวันศุกร์ที่ 19 ก.ค.หุ้นไทยปิดลบ 5.35 จุด อยู่ที่ระดับ 1,481.84 จุด มูลค่าการซื้อขายกว่า 49,138.56 ล้านบาท
ทั้งนี้ วศิน วัฒนวรกิจกุล กรรมการผู้จัดการกลุ่มธุรกิจกองทุนรวม บลจ.บัวหลวง จำกัด มองว่า เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังมีแนวโน้มที่จะชะลอตัวลงเล็กน้อย และคาดว่าทั้งปีจะขยายตัวในอัตราเฉลี่ย 4-5% โดยได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกมากกว่า เห็นได้ชัดเจนที่สุดจากการลงทุนในหลักทรัพย์ และอัตราแลกเปลี่ยนที่ยังคงผันผวน และยังมีเงินทุนที่ไหลเข้าและออกประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตามเศรษฐกิจภายในประเทศไทยยังแข็งแกร่ง แม้การบริโภคของภาคเอกชนและประชาชนยังมีอยู่แต่จะเป็นอัตราที่ลดลงจากปัญหาค่าครองชีพที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น และปัญหาหนี้ครัวเรือนต่อหัวมีปริมาณที่เพิ่มมากขึ้น ดังนั้นรัฐบาลจำเป็นต้องมีมาตรการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศให้มีโครงสร้างที่แข็งแรงก่อน เพื่อให้มีความพร้อมในการเข้าสู่การพัฒนา และการแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านที่พยายามส่งเสริมการลงทุน โดยดึงนักลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาพัฒนาประเทศเพื่อให้มีการแข่งขัน และศักยภาพเทียบเท่ากับประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างเร็วที่สุด
ที่ผ่านมาหลายฝ่ายคาดหวังว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตอย่างก้าวกระโดด ซึ่งเป็นการคาดหวังมากเกินไป ขณะที่การชะลอมาตรการ QE มีผลกระทบต่อตลาดเงิน คือจะทำให้ค่าเงินผันผวน และมีเงินทุนไหลออกเยอะ ซึ่งภาคเอกชนโดยเฉพาะผู้ประกอบการนำเข้า-ส่งออกต้องติดตามอย่างใกล้ชิดเพราะอาจกระทบต่อรายได้สุทธิ ณ วันส่งมอบสินค้า อย่างไรก็ตาม ไทยยังมีแนวโน้มเป็นประเทศเศรษฐกิจหลักของโลกได้หากมีการบริหารจัดการอย่างถูกต้อง
ขณะเดียวกัน เศรษฐกิจไทยในปีนี้จะเติบโตน้อยกว่า 5% ตามที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ โดยคาดว่าครึ่งปีหลังเศรษฐกิจจะชะลอตัวกว่าครึ่งปีแรก แม้ว่าการบริโภคภาคเอกชน และครัวเรือนยังขยายตัวในระดับที่ลดลง ดังนั้น มาตรการหลักที่รัฐควรให้ความสำคัญคือ การดูแลเสถียรภาพโครงสร้างเศรษฐกิจทั้งระบบมากกว่า อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงที่ผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน และตลาดทุนก็ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง ดังนั้น นักลงทุนควรระมัดระวังถึงแนวโน้มในช่วงถัดไป และติดตามสถานการณ์การลงทุนอย่างใกล้ชิด
แต่มุมมองของผู้จัดการกองทุนยังมองแนวโน้มตลาดหุ้นไทยว่ายังมีโอกาสเดินทางไปสู่จุดหมายกันอยู่ โดย บลจ.วรรณ มองว่าตลาดหุ้นไทยยังมีพื้นฐานที่ดีจากผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนที่แข็งแกร่ง การประกาศตัวเลขผลประกอบการไตรมาส 2/2556 นี้คาดว่าน่าจะออกมาดี และนักลงทุนต่างประเทศที่เทขายสุทธิในเดือนมิถุนายนสูง ดังนั้นอาจจะมีแรงซื้อคืนกลับเข้าสู่ตลาดหุ้นไทย รวมทั้งอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรไทยยังอยู่ในอัตราที่สูง ด้วยปัจจัยดังกล่าวทำให้ บลจ.วรรณยังมีมุมมองเชิงบวกต่อตลาดหุ้นไทยเมื่อพิจารณากรอบของดัชนีที่ 1,640 จุดปลายปี 2556