xs
xsm
sm
md
lg

“คลัง” เร่งเคลียร์งบค้างท่อ 2.5 แสนล้าน หวังเป็นกลไกหลักเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจปลายปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“คลัง” เร่งเคลียร์งบค้างท่อ 2.5 แสนล้าน หวังเป็นกลไกหลักเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจปลายปี เตรียมตั้ง คกก.ชุดพิเศษ ดูแลป้องกันถูกมอง และมีปัญหาเรื่องความโปร่งใส พร้อมแนะ ธปท. ต้องปรับทิศทางจากเป็นผู้ดูดซับสภาพคล่อง เป็นผู้ปล่อยสภาพคล่องออกสู่ระบบแทน

นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ รองปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า แนวทางการกระตุ้นเศรษฐกิจครึ่งหลังปี 2556 ในส่วนของกระทรวงการคลัง ต้องเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณให้มากขึ้น เพื่อให้เม็ดเงินออกสู่ระบบกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีงบประมาณ 2556 เพราะขณะนี้ยังมีเงินงบประมาณค้างประมาณ 250,000 ล้านบาท หรือประมาณร้อยละ 2 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) เพื่อประคับประคองเศรษฐกิจไม่ให้ชะลอตัวลงไปมากกว่านี้ โดยหวังงบจาก 3 ส่วน คือ งบลงทุนในงบประมาณประจำปี 2556 งบลงทุนของรัฐวิสาหกิจ และเงินกู้เพื่อการบริหารจัดการน้ำ ไปช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ หลังจากการบริโภคชะลอตัว และการส่งออกได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าซบเซาลง เช่น จีน

นายพงษ์ภาณุ กล่าวว่า ในส่วนของงบลงทุนปี 2556 จัดสรรไว้ประมาณ 400,000 ล้านบาท ตั้งเป้าการเบิกจ่ายร้อยละ 80 หรือประมาณกว่า 300,000 ล้านบาท แต่สิ้นเดือนมิถุนายนยังเบิกจ่ายได้เพียง 200,000 ล้านบาท จึงเหลือกว่า 100,000 ล้านบาท จะต้องเร่งรัดการเบิกจ่ายภายในเดือนกันยายนนี้ สำหรับส่วนราชการยังมีปัญหาการเบิกจ่าย เช่น สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) คณะกรรมการส่งเสริมการกระจายอำนาจที่เป็นงบอุดหนุน องค์กรปกครองท้องถิ่น (อปท.) องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) กรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบท โดยหน่วยงานดังกล่าวมีแผนก่อสร้างจำนวนมาก แต่ติดปัญหาเรื่องการเบิกจ่ายงบประมาณจากการจัดซื้อจัดจ้าง เพราะใช้วิธีการประมูลผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (อี-ออกชัน) หลายครั้งแต่ไม่สำเร็จ แม้ต้องหันมาใช้วิธีพิเศษการจัดซื้อจัดจ้างก็ยังทำไม่ได้

รองปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กระทรวงการคลัง ต้องพิจารณาว่าจะแก้ไขปัญหาอย่างไร โดยไม่ใช่การแก้ไขผ่านกฎเกณฑ์ เพราะอาจถูกมอง และมีปัญหาเรื่องความโปร่งใส รัฐบาลจึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการเร่งรัดการเบิกจ่ายขึ้นมาดูเรื่องนี้โดยเฉพาะ จึงได้กำหนดระยะเวลาให้ส่วนราชการเร่งดำเนินการเบิกจ่ายภายในวันที่ 30 กรกฎาคมนี้ หากยังไม่สามารถก่อหนี้ผูกพันได้จะถูกตัดงบประมาณเบื้องต้นคาดว่ามีประมาณ 18,000 ล้านบาท

สำหรับเงินกู้เพื่อการบริหารจัดการน้ำ 350,000 ล้านบาทนั้น กระทรวงการคลัง กู้เงินไปแล้ว 250,000 ล้านบาท สำหรับการปลูกป่าต้นน้ำทั่วประเทศ และทำสัญญาเงินกู้อีก 325,000 ล้านบาท หลังศาลปกครองมีคำสั่งให้จัดทำประชาพิจารณ์จากประชาชนในพื้นที่ พร้อมทั้งจัดทำผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) และการศึกษาผลกระทบด้านสุขภาพ (เอชไอเอ) จึงจะสามารถเบิกเงินกู้ได้ แต่ไม่ใช่กระทบกับทั้งหมดของโครงการป้องกันน้ำท่วม กระทรวงการคลัง คัดกรองว่าโครงการใดต้องทำตามมติศาล และโครงการใดสามารถเดินหน้าต่อไปให้สามารถเบิกจ่ายเงินลงทุนโดยไม่ขัดมติศาล คาดว่าสามารถเบิกจ่ายได้ประมาณ 20,000 ล้านบาท ในสิ้นปีงบประมาณ คาดว่าจะทันในช่วงไตรมาส 4 ปี 2556

นอกจากนี้ ยังมีงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจประมาณ 300,000 ล้านบาท แต่พบว่าเบิกจ่ายล่าช้ามาก ทำได้เพียงกว่า 100,000 ล้านบาท ส่วนที่เหลือกว่า 100,000 ล้านบาท คาดว่าจะลงทุนได้ไตรมาสสุดท้าย เช่น การลงทุนของรถไฟฟ้าสายสีม่วง สายสีน้ำเงิน และเขียว รวมถึงงบลงทุนซื้อหัวรถจักรของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.)

สำหรับปัจจัยบวกต่อการลงทุนในช่วงปลายปียังมีผลจากคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คงดอกเบี้ยนโยบายไว้ในระดับต่ำ การไหลเข้าของเงินทุนชะลอลงในช่วงนี้ ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ใช้โอกาสนี้ไถ่ถอนพันธบัตรหลังจากออกมาเพื่อดูดซับสภาพคล่องไปก่อนหน้านี้ เพื่อลดภาระดอกเบี้ยลง และยังเป็นการปล่อยสภาพคล่องออกมาในตลาดเงิน เพื่อเปิดทางให้เอกชน และรัฐบาลระดมทุน ดังนั้น ธปท. จึงต้องปรับทิศทางจากเป็นผู้ดูดซับสภาพคล่องมาเป็นผู้ปล่อยสภาพคล่องออกสู่ระบบมาแทน
กำลังโหลดความคิดเห็น