xs
xsm
sm
md
lg

“ผอ.ญ.ว.” แจงเหตุค่าเทอมโหด ระบุเป็นไปตามข้อกำหนดของกระทรวงศึกษา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - ผอ.หาดใหญ่วิทยาลัย ชี้แจงรายละเอียดค่าเทอมโหด ระบุเป็นการสื่อสารผิดพลาด เก็บเพิ่มเพียง 2,000 บาทเท่านั้น ซึ่งมีมติให้ชะลอการเรียกเก็บออกไปก่อน ส่วนค่าใช้จ่ายอื่นๆ ขึ้นอยู่กับวิชาเลือกของ นร. ซึ่งเป็นไปตามข้อกำหนดกระทรวงศึกษาธิการ ชี้นโยบายค่าแรงขั้นต่ำส่งผลให้โรงเรียนมีรายจ่ายสูงขึ้น

จากกรณีที่โรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัย (ญ.ว.) ซึ่งเป็นสถานศึกษาชื่อดังใน อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา มีข่าวฉาวอีกครั้งเกี่ยวกับการเรียกเก็บเงินระดมทรัพยากรพัฒนาการศึกษา ประจำภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2556 จำนวน 2,000 บาท ซึ่งเมื่อรวมกับค่าใช้จ่ายอื่นๆ ประจำภาคเรียนของนักเรียนแล้ว เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ว่าจำนวนเงินดังกล่าวสูงเกินความเหมาะสม ล่าสุด วานนี้ (10 ก.ค.) นางพิมพ์มาศ รังสรรค์สฤษดิ์ ผู้อำนวยการ โรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัย ได้เชิญสื่อมวลชนเข้าร่วมงานแถลงข่าว เพื่อชี้แจง และทำความเข้าใจ

 
นางพิมพ์มาศ รังสรรค์สฤษดิ์ ผู้อำนวยการ โรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัย เริ่มต้นชี้แจงข้อมูลด้วยการเท้าความว่า สาเหตุของปัญหาเรื่องการเรียกเก็บเงินค่าบำรุงการศึกษาดังกล่าวเกิดขึ้นจากการสื่อสารที่ไม่ชัดเจน และข้อมูลที่ผิดพลาด ทำให้นักเรียนบางคนได้รับใบแจ้งค่าเทอมสูงถึง 6,000 บาท ในขณะเดียวกัน มีนักเรียนบางคนที่ได้รับใบแจ้งค่าเทอมเป็น 0 บาท

สำหรับข้อเท็จจริงของเรื่องดังกล่าว นางพิมพ์มาศ ชี้แจงเป็นข้อๆ ดังนี้

1.ทางโรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัยไม่ได้เก็บเงินระดมทรัพยากรพัฒนาคุณภาพการศึกษาจากนักเรียนมาเป็นเวลา 4 ปีแล้ว (อยู่ในช่วงที่กำลังสรรหาผู้อำนวยการโรงเรียน) ทั้งนี้ แต่เดิมมีการเรียกเก็บเงินจากนักเรียน ภาคเรียนละ 1,000 บาท ดังนั้น ตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ไม่ได้เรียกเก็บเงินจำนวนดังกล่าวจากนักเรียน คิดเป็น 8 ภาคเรียน รวมเงินทั้งสิ้นประมาณ 32 ล้านบาท

 
2.จากการประชุมกับคณะกรรมการสถานศึกษา (โดยไม่มีเครือข่ายผู้ปกครองเข้าร่วมด้วย) ทางโรงเรียนได้เสนอที่ประชุมว่าควรเรียกเก็บเงินระดมทรัพยากรจากนักเรียน คนละ 1,500 บาท แต่คณะกรรมการสถานศึกษามีมติว่าให้เก็บ 2,000 บาท เนื่องจากเห็นว่าสภาพอาคารสถานที่ของโรงเรียนทรุดโทรมมาก เพราะมีอายุถึง 67 ปี รวมทั้งมีโครงการอื่นๆ ที่จะต้องปรับปรุงเพื่อเอื้อประโยชน์แก่ผู้เรียนอีก 8 โครงการ คือ

- โครงการการปรับปรุงระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตภายในโรงเรียน
- โครงการจัดทำห้อง Resource Center เพื่อใช้ในการสืบค้นข้อมูลของนักเรียน
- โครงการปรับปรุงสนามกีฬาตามมาตรฐาน บริเวณหน้าเสาธง
- โครงการปรับปรุงภูมิทัศน์ภายในโรงเรียน
- โครงการปรับปรุงห้องน้ำ ห้องส้วม
- โครงการปรับปรุงโรงอาหาร
- โครงการปรับปรุงห้องเรียน เช่น โต๊ะ เก้าอี้ พัดลม เครื่องปรับอากาศ เป็นต้น

3.จำนวนเงินที่แท้จริงที่นักเรียนแต่ละคนจะต้องจ่าย ขึ้นอยู่กับวิชาเลือกพิเศษของนักเรียน ทั้งวิชาด้านภาษา และวิชาคอมพิวเตอร์

4.นักเรียนเกิดความสับสน เนื่องจากฝ่ายการเงินของโรงเรียนได้แจ้งนักเรียนแต่ละคนผิดพลาด ทำให้นักเรียนส่วนหนึ่งเข้าใจว่าต้องจ่ายสูงถึง 6,150 บาท และมีนักเรียนบางคนที่โรงเรียนไม่ได้เรียกเก็บเลย
นางพิมพ์มาศ รังสรรค์สฤษดิ์ ผู้อำนวยการ โรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัย
 
“สรุปจำนวนเงินที่เพิ่มจากค่าใช้จ่ายในปีการศึกษาอื่นๆ คือ จำนวนเงินระดมทรัพยากรเพียง 2,000 บาท ค่าบัตรนักเรียนอเนกประสงค์ 350 บาท และค่าใช้จ่ายสำหรับจ้างครูผู้มีความเชี่ยวชาญ 500 บาท และอัตราเงินระดมทรัพยากรที่ทางโรงเรียนเรียกเก็บ รวมถึงค่าเรียนภาษากับครูชาวต่างชาตินั้นเป็นไปตามกฎระเบียบที่กระทรวงศึกษาธิการระบุไว้ทุกอย่าง” นางพิมพ์มาศ กล่าว

พร้อมกันนี้ ผู้อำนวยการโรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัย ยังชี้แจงอีกว่า ทางโรงเรียนมีนโยบายให้ครูออกเยี่ยมบ้านนักเรียน 100% เพื่อพบปะผู้ปกครอง และหาข้อมูลช่วยเหลือนักเรียนอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น สำหรับนักเรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ โรงเรียนก็มีมาตรการช่วยเหลือ โดยการยกเว้นเงินระดมทรัพยากร จัดหาทุนการศึกษา และสงเคราะห์อาหารกลางวัน ซึ่งผู้ปกครองสามารถขอความอนุเคราะห์ดังกล่าวผ่านทางครูที่ปรึกษา
นายณรงค์ อนันต์เลิศสกุล ประธานเครือข่ายผู้ปกครองโรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัย
 
ขณะเดียวกัน นายณรงค์ อนันต์เลิศสกุล ประธานเครือข่ายผู้ปกครองโรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัย กล่าวว่า ในวันที่ทางโรงเรียนหารือร่วมกับคณะกรรมการสถานศึกษาเรื่องการระดมเงินทรัพยากรพัฒนาคุณภาพการศึกษานั้น ทางเครือข่ายผู้ปกครองไม่ได้เข้าร่วมหารือด้วย และเพิ่งมาทราบเรื่องในภายหลัง แต่ก็เห็นพ้องต้องกันกับทางโรงเรียนในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา และคุณภาพชีวิตของนักเรียน ตาม 8 โครงการที่โรงเรียนระบุ แต่ทั้งนี้ เห็นควรว่าให้ชะลอเรื่องดังกล่าวออกไปก่อน จนกว่าจะมีการชี้แจงทำความเข้าใจให้ตรงกันทุกฝ่าย

“คำว่า ‘ชะลอการเรียกเก็บเงินระดมทรัพยากร’ นี้ ไม่ได้เป็นการชี้ขาดว่าควรจ่าย หรือไม่จ่าย แต่เพื่อให้ทุกฝ่ายได้รับทราบข้อมูลที่ตรงกัน เพื่อนำไปสู่การตัดสินใจร่วมกัน โดยทางเครือข่ายผู้ปกครองจะประชุมชี้แจง และหารือเรื่องดังกล่าวนี้กับผู้ปกครองทุกระดับชั้น” ประธานเครือข่ายผู้ปกครองโรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัย แสดงความเห็นส่วนตัว ซึ่งมีผู้ชี้แจงเพิ่มเติมว่า ขณะนี้มีการประชุมย่อยเพื่อแจ้งข้อมูลให้ผู้ปกครองนักเรียนในบางระดับชั้นทราบแล้ว และจะดำเนินการต่อให้ครบถ้วนทุกระดับชั้นต่อไป

อย่างไรก็ตาม ภายหลังเกิดปัญหาดังกล่าวขึ้นจนมีท่าทีคัดค้านรุนแรงจากนักเรียน และผู้ปกครอง รวมทั้งมีการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างหนาหู ทางโรงเรียนได้ประชุมร่วมกับคณะกรรมการเครือข่ายผู้ปกครอง และมีมติให้ดำเนินการ 3 ข้อ เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวในระยะสั้น คือ

1.ให้โรงเรียนยกเลิกใบแจ้งการชำระเงินที่ออกจากทางโรงเรียน เนื่องจากมีข้อผิดพลาดเกี่ยวกับจำนวนเงินที่ต้องชำระ

2.ให้เรียกเก็บเงินระดมทรัพยากรพัฒนาคุณภาพการศึกษา เป็นเงิน 2,000 บาท เท่าเดิม แต่ให้ชะลอการเก็บออกไปก่อน

3.รายจ่ายอื่นๆ ให้จ่ายตามปกติ ทั้งนี้ ให้นักเรียนรอรับใบแจ้งชำระเงินจากทางโรงเรียนอีกครั้งหนึ่ง

ทั้งนี้ เมื่อสอบถามผู้อำนวยการโรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัยว่า หากมีผู้ปกครองส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย จะมีมาตรการรับมือกับเรื่องดังกล่าวนี้อย่างไร นางพิมพ์มาศ รังสรรค์สฤษดิ์ ตอบว่า เรื่องการระดมเงินทรัพยากรนี้ไม่ได้กำหนดระยะเวลาว่าต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเมื่อไหร่ ซึ่งอยากให้ขึ้นอยู่กับความสมัครใจของผู้ปกครองมากกว่า แต่เชื่อว่าถ้าผู้ปกครองเข้าใจ และทราบถึงผลประโยชน์ที่นักเรียนจะได้รับ ก็จะต้องเห็นด้วยกับทางโรงเรียน

นอกจากนี้ นางพิมพ์มาศ ยังกล่าวอีกว่า ในกรณีที่มีข่าวว่าตนทุจริตจนถูกตั้งคณะกรรมการสอบนั้น ขณะนี้ได้มีคำตัดสินชี้ขาดออกมาเรียบร้อยแล้วว่าตนไม่ได้ทุจริต เพียงแต่ทำผิดระเบียบเท่านั้น จึงขอใช้โอกาสนี้ชี้แจงให้สาธารณชนได้ทราบด้วย

 
สำหรับรายละเอียดค่าใช้จ่ายของนักเรียนแต่ละคน ทางโรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัยจำแนกให้เห็นชัดเจน ดังนี้

1.เงินระดมทรัพยากรพัฒนาคุณภาพการศึกษา (จากเดิมที่ไม่มีการเก็บมาตลอด 4 ปี) คนละ 2,000 บาท

2.ค่าจ้างครูชาวต่างประเทศ เฉพาะนักเรียนที่ลงทะเบียนเรียนกับครูต่างชาติ ทั้งภาษาอังกฤษ ภาษาจีน ภาษาฝรั่งเศส ภาษาญี่ปุ่น ภาษาเกาหลี ภาษามลายู (จากเดิมคนละ 700 บาท) ก็ยังเก็บในราคาเดิมคือ คนละ 700 บาท

3.ค่าสอนคอมพิวเตอร์ เฉพาะนักเรียนที่ลงทะเบียนเรียน (จากเดิมคนละ 400 บาท) คนละ 500 บาท/ภาคเรียน

4.ค่าจ้างครูที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะสาขา เพื่อเพิ่มพูนความรู้ของนักเรียนจากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เช่น วิทยากรพิเศษในรายวิชาต่างๆ (จากเดิมใช้เงินอุดหนุน 500 บาท ซึ่งนักเรียนไม่ต้องจ่ายในส่วนนี้) คนละ 500 บาท

5.ค่าจ้างบุคลากรปฏิบัติงานในสถานศึกษา (จากเดิม 300 บาท) คนละ 500 บาท เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการคืนครูสู่ชั้นเรียน โรงเรียนจึงจำเป็นจะต้องจ้างบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถเฉพาะทางมาปฏิบัติงาน เช่น งานพัสดุ การเงิน บัญชี ธุรการ งานโสตทัศนูปกรณ์ งานห้องสมุด งานประชาสัมพันธ์ งานรักษาความสะอาด งานรักษาความปลอดภัย งานระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ เป็นต้น

ประกอบกับทางโรงเรียนมีการเพิ่มอัตราค่าจ้างเงินเดือนให้สอดคล้องกับนโยบายค่าครองชีพของรัฐบาล ที่ปรับค่าจ้างขั้นต่ำวุฒิปริญญาตรีเป็น 15,000 บาท และค่าจ้างรายวัน 300 บาท โรงเรียนจึงมีภาระค่าใช้จ่ายสูงขึ้นตามไปด้วย

6.ค่าประกันอุบัติเหตุ (จากเดิม 160 บาท) คนละ 200 บาท/ปี ซึ่งเป็นบริการที่โรงเรียนจัดให้แก่นักเรียนในการดูแลสวัสดิภาพขณะที่นักเรียนอยู่ที่บ้าน โรงเรียน และขณะเดินทางระหว่างบ้านและโรงเรียน ทั้งนี้ เป็นอัตราที่บริษัทประกันอุบัติเหตุเรียกเก็บ

7.ค่าบัตรนักเรียนอเนกประสงค์แบบอิเล็กทรอนิกส์ คนละ 350 บาท ซึ่งทางโรงเรียนได้เล็งเห็นความสำคัญของการใช้ระบบสารสนเทศในการบริหารจัดการข้อมูลเกี่ยวกับนักเรียน ซึ่งบัตรนักเรียนอเนกประสงค์อิเล็กทรอนิกส์นี้ นอกจากจะใช้เป็นบัตรนักเรียนแล้ว ยังจะมีการแจ้งเตือนเป็น SMS ไปยังผู้ปกครองทราบด้วยว่า นักเรียนเข้าออกโรงเรียนในเวลาใด ซึ่งจะทำให้การสื่อสารระหว่างโรงเรียน และผู้ปกครองมีความชัดเจนและทั่วถึงมากขึ้น โดยครูสามารถดูรายละเอียดของนักเรียนได้เป็นรายบุคคล รวมทั้งใช้เป็นบัตรเงินสดซื้ออาหาร และสินค้าจากร้านค้าสวัสดิการของโรงเรียนด้วย

“ทางโรงเรียนได้เชิญตัวแทนคณะกรรมการสถานศึกษา เครือข่ายผู้ปกครอง และครูทุกท่าน เข้าร่วมรับฟังเกี่ยวกับการใช้งานบัตรนักเรียนอเนกประสงค์แบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งตัวแทนทุกฝ่ายเห็นถึงความสำคัญของการนำระบบนี้มาใช้ในโรงเรียน และเห็นชอบให้นักเรียนดำเนินการให้เรียกเก็บค่าบัตรดังกล่าว สำหรับนักเรียนชั้น ม.3 และ ม.6 ที่จะจบการศึกษาภายในภาคเรียนนี้ โรงเรียนมีความจำเป็นต้องเก็บค่าบัตรดังกล่าวด้วย แต่จะคืนเงินให้เมื่อนักเรียนจบการศึกษา” นางพิมพ์มาศ ชี้แจง

ทั้งนี้ ในส่วนของค่าระดมทรัพยากรพัฒนาคุณภาพการศึกษา และค่าอื่นๆ ที่เพิ่มขึ้นมาจากเดิมนั้น นางพิมพ์มาศ กล่าวว่า เนื่องจากทางโรงเรียนได้มีการจัดสรรงบประมาณ ประจำปีการศึกษา 2557 พบว่า มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นมาก ประกอบกับเงินค่าระดมทรัพยากรที่ไม่ได้เรียกเก็บจากนักเรียนตลอดเวลา 4 ปีที่ผ่านมา ทำให้โรงเรียนขาดรายรับถึง 32 ล้านบาท ดังนั้น จึงจำเป็นต้องเรียกเก็บเงินระดมทรัพยากรจากนักเรียน

โดยในปีการศึกษา 2556 มีรายรับ 15,477,700 บาท จากงบอุดหนุนรายหัวของรัฐบาล และรายจ่ายอยู่ที่ 12,300,000 บาท ส่วนในปีการศึกษา 2557 รายรับจากงบอุดหนุนรายหัวของรัฐบาลอยู่ที่ 15,663,600 บาท ในขณะที่รายจ่ายพุงสูงขึ้นถึง 18,605,040 บาท โดยแยกเป็นรายละเอียด ดังนี้

1.ค่าครูจ้างสอน (ปีการศึกษา 2556 เป็นเงิน 1,300,000 บาท) เพิ่มขึ้นตามนโยบายของรัฐบาล เป็น 2,031,600 บาท

2.ค่าลูกจ้างปฏิบัติงานสำนักงาน (ปีการศึกษา 2556 เป็นเงิน 2,700,000) เพิ่มขึ้นตามนโยบายของรัฐบาล เป็น 5,715,840 บาท

3.ค่าจ้างครูชาวต่างชาติ (ปีการศึกษา 2556 เป็นเงิน 4,300,000 บาท) ลดลงเป็น 4,257,600 บาท

4.ค่าสาธารณูปโภค (ปีการศึกษา 2556 เป็นเงิน 4,000,000 บาท) เพิ่มขึ้นเป็น 6,600,000 บาท
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น