xs
xsm
sm
md
lg

ข้อเสนอแนะประเทศไทย (2) : กรณีปฏิรูปการศึกษาไทย ตอนเหลียวหลัง ก่อนหยั่งสู่อนาคต

เผยแพร่:   โดย: อภินันท์ สิริรัตนจิตต์

ประเทศไทย เป็นประเทศกำลังพัฒนาตามผลการจัดอันดับของประเทศต่างๆ โดยอาศัยความเจริญทางวัตถุแห่งเศรษฐกิจ เป็นตัวชี้วัด ซึ่งประเทศไทยมีความเชื่อตัวเลขดังกล่าวตามความเห็นของชาติตะวันตก ที่ใช้ตัวเลขเป็นฐานชี้วัดความเป็นไปของประเทศต่างๆ ในโลก และปัจจัยหนึ่ง ซึ่งมีผลโดยตรงต่อความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ คือคุณภาพการศึกษาของพลเมือง

ประเทศไทย มีวาระการปฏิรูปการศึกษาหลายยุคหลายสมัยในหลายรัฐบาล มีการปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาทุกระดับหลายครั้งคิดเฉลี่ยทุกรอบสิบปี มีแนวคิดนโยบายการปฏิรูปการศึกษาหลากหลาย มีการแสดงเจตจำนงของนักวิชาการศึกษาชั้นนำที่ประสงค์ให้การศึกษาไทยมีความเจริญทัดเทียมนานาอารยประเทศ จึงดัดแปลงหรือนำแนวคิดทางระบบการศึกษาของชาติตะวันตกมาสวมลงในระบบการศึกษาไทย โดยมุ่งหวังให้ประเทศไทยพัฒนาทรัพยากรบุคคลแบบก้าวกระโดด ซึ่งมีหลายครั้งที่ระบบการศึกษาเผชิญกับความล้มเหลวในการนำหลักคิดและนโยบายการศึกษาในฝันไปใช้ในภาคปฏิบัติ จึงก่อให้เกิดวาทกรรมทางการศึกษาว่า นักเรียนไทย คือหนูทดลองใช้หลักสูตรการศึกษา

จากการศึกษาแนวคิดและข้อเสนอแนะการปฏิรูปการศึกษาไทย พบรายงานวิจัยต่างๆ เป็นต้นว่า

งานวิจัย เรื่องการปฏิรูปการศึกษาของประเทศไทย ของอัญญรัตน์ นาเมือง (2553) ที่กล่าวว่า สาเหตุสำคัญของการปฏิรูปการศึกษา มาจากคำกล่าวที่ว่า “การศึกษาสร้างคน คนสร้างชาติ” ชี้ชัดให้เห็นว่าการศึกษานั้น มีความสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาประเทศ ประเทศใดที่ประชาชนมีความรู้สูง ย่อมส่งผลให้ประเทศนั้น มีความเจริญตามไปด้วย (อ้างถึงทัศนะของวิทยากร เชียงกูล, 2545) ในส่วนของประเทศไทยนั้น จากรายงานสถานการณ์ความอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกันในสังคมไทย ประจำปี 2550 พบว่า ในภาพรวมการศึกษาของประชาชนยังมีคุณภาพไม่ดีเท่าที่ควร จึงจำเป็นต้องมีการปฏิรูปการศึกษา สรุปสาเหตุสำคัญของการปฏิรูปการศึกษา ไว้ว่า

1. สถานะของประเทศไทยในสังคมโลก ประเทศไทยเป็นประเทศขนาดกลาง มีรายได้ถัวเฉลี่ยต่อหัวของประชากรค่อนข้างต่ำคุณภาพของประชาชนยังด้อยกว่าประเทศอื่นๆ มาตรฐานความเป็นอยู่ ส่วนใหญ่ยังอยู่ในระดับต่ำการที่เศรษฐกิจสังคมโลกมีการแข่งขันเพื่อตัวใครตัวมันมากขึ้นมี ความไม่สมดุลมากขึ้นและการเติบโตทางการผลิตการค้าชะลอตัว ทำให้เศรษฐกิจไทยซึ่งพึ่งพาเศรษฐกิจโลก ฟื้นตัวได้ยาก จึงจำเป็นต้องมีการปฏิรูปการศึกษา เพื่อเป็นพื้นฐานในการแก้ปัญหาดังกล่าว

2. สภาวะและปัญหาของของการศึกษาไทย รัฐยังให้ความสำคัญกับการศึกษาปฐมวัยน้อยเกินไป ทั้งๆ ที่เด็กวัยนี้เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญที่สุด สมองกำลังพัฒนาสูง เรียนรู้ได้ไว หากพลาดโอกาสนี้จะ เกิดผลลบทั้งชีวิต ในระดับประถมศึกษา - มัธยมศึกษา ยังให้บริการไม่ทั่วถึงในแง่ปริมาณและคุณภาพในส่วนของครูอาจารย์ ปัญหาส่วนใหญ่คือ การขาดแรงจูงใจและขาดความรู้ความสามารถ และที่สำคัญรัฐบาลขาดงบประมาณในการบริหารการศึกษา

3. ความล้าหลังของการดำเนินงาน แบ่งเป็น

3.1 ด้านตัวครู เช่น ขาดแรงจูงใจ ขาดความสามารถ เป็นหนี้ทั้งในและนอกระบบ

3.2 ด้านงบประมาณ มีสำหรับดำเนินการน้อย

3.3 ด้านสื่อ และเทคโนโลยี ยังมีน้อยและไม่ทันสมัย

3.4 กระบวนการเรียนรู้ ครูยังขาดทักษะ ในกระบวนการเรียนการสอนที่เอื้อต่อการเรียนรู้ ครูยังใช้วิธีสอนแบบเดิมไม่พัฒนา

3.5 การบริหารจัดการ ผู้บริหารยังไม่มีความสามารถพอ ในการบริหารงานในโรงเรียน

3.6 การเปลี่ยนแปลงของสังคมและเศรษฐกิจ สังคมมีการเปลี่ยนแปลงไป การศึกษาย่อมต้องพัฒนาให้สอดคล้องกันไปด้วย ตลอดจนระบบเศรษฐกิจที่เป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิตการศึกษาก็ต้องปรับปรุงให้สอดคล้องด้วยเช่นกัน

สาเหตุสำคัญดังนำเสนอโดยสรุป จึงเป็นที่มาของการเปรียบเทียบความแตกต่างของการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่ 1 และทศวรรษที่ 2 ตามตาราง ดังนี้

จากรายงานวิจัยเบื้องต้น สอดคล้องกับการศึกษาข้อมูลย้อนหลังไป 5 ปี พบว่าในปี 2551 รศ.วิทยากร เชียงกูล กล่าวในการสัมมนาเรื่องโครงการสภาวะการศึกษาไทย ปี 2550/2551 จัดโดยสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ว่า การศึกษาวิจัยเรื่อง “สภาวะการศึกษาไทย ปี 2550/2551 ปัญหาความเสมอภาคและคุณภาพของการศึกษาไทย” มีประเด็นสำคัญบ่งชี้ว่า ปัญหาการพัฒนาคุณภาพในการจัดการศึกษานั้นจากการจัดอันดับความสามารถทางการแข่งขันกับประเทศต่างๆ อันดับของไทยมีแนวโน้มต่ำลงมาตลอดโดยปี พ.ศ. 2550 ผลการจัดลำดับประเทศไทยโดยไอเอ็มดี ไทยอยู่อันดับที่ 33 จาก 55 ประเทศ ปัจจัยที่เป็นตัวฉุดคือปัจจัยโครงสร้างพื้นฐานทางด้านการศึกษาและการพัฒนาทางวิทยาศาสตร์

อีกประการหนึ่งพบว่า ประชากรในวัย 3 - 17 ปีไม่ได้เรียนในปีการศึกษา 2551 สูงถึง 1.6 ล้านคนหรือ 11.23% ของประชากรวัยเดียวกัน ทั้งที่กฎหมายกำหนดให้รัฐบาลจัดการศึกษาภาคบังคับแก่ประชาชน 9 ปี ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามีเด็กไม่ได้เข้าเรียนและออกกลางคันไม่ได้เรียนต่อในช่วงชั้นต่างๆ มากโดยจากข้อมูลออกกลางคันปี 2550 ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) พบว่ามีนักเรียนออกกลางคันในทุกระดับชั้นรวม 1.19 แสนคนหรือ 1.4%

รศ.วิทยากร เชียงกูล กล่าวเพิ่มเติม ว่า ในส่วนของอุดมศึกษาจำนวนนักศึกษาในปี 2549 - 2550 ประมาณ 2.4 ล้านคน เรียนจบปีละ 2.7 แสนคน และว่างงานปีละ 1 แสนคน โดยนักศึกษาระดับปริญญาโทจำนวน1.8 แสนคนและปริญญาเอกจำนวน 16,305 คน ซึ่งจุดนี้ทำให้ผู้เรียนในระดับต่ำกว่าปริญญาตรีในปี 2550 มีจำนวนลดลงเพราะสถาบันการศึกษาส่วนใหญ่จะขยายการเรียนระดับปริญญาตรีและสูงกว่ามากขึ้น เนื่องจากคนนิยมเรียนให้ได้ปริญญาเพิ่ม

จากผลการวิจัยข้างต้นนั้น จึงบ่งชี้ว่า การศึกษานั้นมีผลต่อการเมืองและเศรษฐกิจ การพัฒนาคุณภาพการศึกษานั้น ต้องเริ่มตั้งแต่ระดับปฐมวัยและแก้จุดอ่อน คือสอนให้เด็กรู้จักคิดวิเคราะห์ ซึ่งปัญหาการเมืองที่เกิดขึ้นขณะนี้เป็นเพราะปัญหานี้ การคิดสร้างสรรค์และรับผิดชอบต่อสังคม อีกทั้งต้องใช้ครูเป็นผู้ผลักดันคุณภาพการศึกษา จัดระบบงบประมาณโดยเพิ่มงบให้โรงเรียนต่างจังหวัดได้งบมากกว่าโรงเรียนในเมือง 10 เท่าเพราะทุกวันนี้คนจนได้รับการศึกษาแบบคนจน ส่วนคนรวยได้รับการศึกษาแบบคนรวย และต้องมีผู้นำทั้งผู้นำประเทศและผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ ต้องให้ความสำคัญกับการศึกษาและคอยกระตุ้นพัฒนาการศึกษา แต่ทุกวันนี้ไทยขาดผู้นำด้านการศึกษาโดยเฉพาะจากฝ่ายการเมืองมีน้อยมาก และควรสร้างวัฒนธรรมให้ทุกฝ่ายเข้ามาส่วนร่วมพัฒนาการศึกษา อีกทั้งต้องสอนให้เด็กเรียนจบแล้ว มีผลงาน รู้จักว่าค่าของคนอยู่ที่ผลของงาน รู้จักสร้างสรรค์ผลงานใหม่ๆ เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงให้สังคม

ข้อมูลส่วนหนึ่งจากเวทีเสวนาสาธารณะของทีดีอาร์ไอ เรื่อง “ข้อเสนอเพื่อการปฏิรูปการศึกษาขั้นพื้นฐานเพื่อสร้างความรับผิดชอบ (Accountability)” เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2556 ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) นำทีมแถลงผลการศึกษาโครงการวิจัยยุทธศาสตร์การปฏิรูปการศึกษาขั้นพื้นฐานเพื่อสร้างความรับผิดชอบ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) คณะนักวิจัย ชี้ว่า

ปัญหาของระบบศึกษาไทยไม่ได้เกิดจากการขาดทรัพยากรอีกต่อไป แต่เป็นปัญหาการใช้ทรัพยากรอย่างไม่มีประสิทธิภาพ กล่าวคือ ใช้ทรัพยากรมากแต่ผลสัมฤทธิ์ต่ำ ดังที่ข้อมูลชี้ว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา งบประมาณกระทรวงศึกษาธิการเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่า และไม่น้อยกว่าประเทศอื่นในภูมิภาคเอเชีย ขณะที่รายได้ต่อเดือนของครูที่มีวุฒิการศึกษาปริญญาตรีและสอนในโรงเรียนรัฐก็เพิ่มสูงขึ้นจากประมาณ 1.5 หมื่นบาทในปี 2544 เป็นประมาณ 2.4-2.5 หมื่นบาทในปี 2553 และครูมีรายได้ไม่น้อยกว่าอาชีพอื่นอีกต่อไป แต่ในทางตรงกันข้าม ผลคะแนนการทดสอบมาตรฐานของนักเรียนไทยทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติกลับมีแนวโน้มลดต่ำลง

งานศึกษาของทีดีอาร์ไอตอบโจทย์ระบบการศึกษาไทยว่า ใจกลางของปัญหาคือการขาดความรับผิดชอบ (Accountability) ของระบบการศึกษาตลอดทุกขั้นตอน นอกจากนั้น ระบบการศึกษาของไทยยังมีความเหลื่อมล้ำของคุณภาพการศึกษาในระดับสูง และระบบการเรียนการสอนไม่เหมาะกับบริบทของศตวรรษที่ 21

ดังนั้น หัวใจสำคัญของการปฏิรูประบบการศึกษาจึงอยู่ที่ (1) การสร้างระบบความรับผิดชอบ (Accountability) เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา โดยให้โรงเรียนมีความรับผิดชอบโดยตรงต่อผู้ปกครองและนักเรียนมากขึ้น โรงเรียนควรมีอิสระในการบริหารจัดการ และพ่อแม่สามารถเป็นผู้เลือกโรงเรียนให้ลูกตามข้อมูลคุณภาพของโรงเรียนที่ได้รับการเปิดเผยต่อสาธารณะ (2) การปรับหลักสูตร สื่อการสอนและการพัฒนาครู เพื่อให้นักเรียนเรียนรู้อย่างเหมาะสมกับบริบทของศตวรรษที่ 21  และ (3) การลดความเหลื่อมล้ำของคุณภาพการศึกษา โดยปรับการจัดสรรงบประมาณให้พื้นที่ที่มีปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมเพิ่มมากขึ้น และสร้างระบบให้ความช่วยเหลือโรงเรียน ครูและนักเรียนที่มีปัญหา

และในงานวิจัยชิ้นนี้ เสนอแนวทางการปฏิรูประบบการศึกษา 5 ด้าน ได้แก่

(1) หลักสูตร สื่อการสอน และเทคโนโลยี  ซึ่งคณะนักวิจัยเสนอว่าให้ตั้งทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 (21st Century Skills) เป็นเป้าหมายหลัก และปรับเนื้อหา สมรรถนะ (ทักษะ) และคุณลักษณะที่พึงปรารถนาของนักเรียนให้สอดคล้องกับเป้าหมายดังกล่าว โดยปฏิรูปหลักสูตรให้มีลักษณะกระชับ ช่างคิด และบูรณาการ อันได้แก่ เน้นแนวคิดหลักและคำถามสำคัญในสาระการเรียนรู้ เรียนรู้ผ่านโครงงานและการทำงานเป็นทีม สนับสนุนการใช้ ICT ในการหาความรู้ด้วยตนเอง พัฒนาผู้เรียนให้มีทักษะการคิดขั้นสูง และสามารถเชื่อมโยงองค์ความรู้ต่างๆ เข้าด้วยกันได้ นอกจากนั้น หลักสูตรควรมีความยืดหยุ่นโดยให้แต่ละโรงเรียนสามารถพัฒนาหลักสูตรให้สอดคล้องกับบริบทของตนได้ ทั้งนี้ ควรมีการลดจำนวนชั่วโมงการเรียนในห้องเรียน และเพิ่มการใช้วิธีการสอนที่หลากหลาย เหมาะกับการพัฒนาทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 เช่น การเรียนรู้ผ่านโครงการและการแก้ปัญหา รวมถึงมีการใช้เทคโนโลยีนำเสนอเนื้อหาอย่างทันสมัย มีปฏิสัมพันธ์ มีส่วนร่วม และใช้สนับสนุนการเรียนรู้ในรูปการสร้างความรู้ด้วยตนเอง (Constructivism) และการเรียนรู้ผ่านเครือข่าย (Connectivism)

(2) การปฏิรูประบบการวัดและประเมินผลการเรียน ซึ่งคณะนักวิจัยเสนอให้มีการปฏิรูปการทดสอบมาตรฐานในระดับประเทศ โดยปรับจากระบบ O-NET และอื่นๆ ในปัจจุบัน มาเป็นการทดสอบเพื่อวัดความรู้ความเข้าใจและทักษะ (Literacy-Based Test) ซึ่งสามารถประยุกต์เนื้อหาเข้ากับโจทย์จริงในชีวิตประจำวันได้ และนำผลการทดสอบมาตรฐานระดับประเทศแบบใหม่ไปสร้างความรับผิดชอบในระบบการศึกษา เช่น การประเมินผลงานของครู การประเมินสถานศึกษาเพื่อพัฒนาคุณภาพและเข้าช่วยเหลือสถานศึกษาที่มีปัญหา และการประเมินผลและให้รางวัลแก่ผู้บริหารสถานศึกษา นอกจากนั้น ให้มีการปฏิรูประบบการจัดเก็บ เปิดเผย และรายงานผลการสอบต่อสาธารณะ เพื่อเป็นฐานข้อมูลในการกำหนดนโยบายของรัฐและการเลือกสถานศึกษาของผู้ปกครอง นอกจากนั้น ในระดับโรงเรียน คณะนักวิจัยเสนอให้มีวิธีการวัดและประเมินผลที่หลากหลายตั้งแต่ แฟ้มงาน โครงงานการสอบวัดความรู้ การแก้ไขปัญหาชีวิตจริง ในทางที่ช่วยพัฒนาทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ของนักเรียน โดยการประเมินผลการเรียนในระดับโรงเรียนควรเป็นการประเมินผลเพื่อเสริมสร้างการเรียนรู้และวิเคราะห์ผู้เรียน (Formative Test) ซึ่งเป็นการประเมินผลระหว่างทางตลอดการเรียนรู้

(3) การปฏิรูประบบพัฒนาคุณภาพครู ซึ่งในส่วนของการฝึกอบรมครู คณะนักวิจัยเสนอว่า รัฐต้องปรับบทบาทจากผู้จัดหามาเป็นผู้กำกับดูแลคุณภาพและการจัดการความรู้ โดยให้โรงเรียนเป็นหน่วยพัฒนาหลัก ได้รับการจัดสรรงบประมาณและมีอำนาจในการตัดสินใจเลือกหลักสูตรและผู้อบรมเอง และให้ความสำคัญกับการนำความรู้ไปสู่การปฏิบัติจริง การพัฒนาครูใหม่ และการสนับสนุนให้เกิดระบบชุมชนเรียนรู้ทางวิชาการร่วมกัน (Professional Learning Community) ในส่วนของระบบผลตอบแทนครู คณะนักวิจัยเสนอให้การเลื่อนขั้นเงินเดือนและวิทยฐานะของครูส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับพัฒนาการของผลการทดสอบมาตรฐานแบบใหม่ของนักเรียน (โดยคำนึงถึงระดับตั้งต้นของคะแนน) เพื่อให้ครูรับผิดชอบต่อการพัฒนาคุณภาพนักเรียนมากขึ้น นอกจากนั้น การประเมินครูควรใช้วิธีสังเกตการณ์ร่วมกับการพิจารณาเอกสาร กำหนดให้มีการประเมินคงสภาพวิทยฐานะทุก 5 ปี และปรับลดงานธุรการของครูลงให้เน้นหน้าที่ในการสอนเป็นสำคัญ

(4) การประเมินคุณภาพสถานศึกษา ซึ่งคณะนักวิจัยชี้ว่า ระบบการประเมินคุณภาพสถานศึกษาควรใช้การประเมินคุณภาพภายในของโรงเรียนเป็นหน่วยหลักในการประเมินเพื่อพัฒนาคุณภาพ ส่วนระบบการประเมินคุณภาพสถานศึกษาภายนอกของส่วนกลางควรเป็นเพียงหน่วยเสริม โดยสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) ควรปรับบทบาทมาเป็นหน่วยสนับสนุนด้านความรู้ให้แก่โรงเรียน กำหนดกฎกติกาขั้นต่ำเท่าที่จำเป็นเพื่อกำกับคุณภาพของการประเมินคุณภาพภายในของโรงเรียน และมีบทบาทในการประเมินตามระดับปัญหา (Risk-Based Inspection) เพื่อแยกโรงเรียนที่มีปัญหามาให้ความช่วยเหลือเพื่อพัฒนาคุณภาพโดยคัดแยกจากคะแนนการทดสอบมาตรฐานระดับประเทศแบบใหม่ของนักเรียน รวมถึงมีบทบาทในการประเมินเฉพาะเรื่อง (Thematic Inspection) โดยเลือกบางประเด็น เช่น การใช้เทคโนโลยีประกอบการเรียนการสอน หรือสุ่มประเมินในระดับพื้นที่หรือประเทศ

(5) การปฏิรูประบบการเงินเพื่อการศึกษา ซึ่งงานวิจัยพบว่า ปัญหาด้านการเงินในระบบการศึกษาในปัจจุบันคือ งบประมาณส่วนใหญ่จ่ายไปยังฝั่งอุปทาน (สถานศึกษา)มากกว่าด้านอุปสงค์ (งบอุดหนุนรายหัว) ซึ่งไม่เอื้อต่อการสร้างความรับผิดชอบ และโรงเรียนรัฐได้รับการอุดหนุนมากกว่าโรงเรียนเอกชนเท่าตัว อีกทั้งเงินอุดหนุนดังกล่าวก็ไม่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำระหว่างโรงเรียนในเขตร่ำรวยและยากจนเท่าที่ควร คณะนักวิจัยจึงเสนอว่าการปฏิรูปควรมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความรับผิดชอบและลดความเหลื่อมล้ำระหว่างพื้นที่ โดยมีการกำหนดเป้าหมายคะแนนการทดสอบมาตรฐานขั้นต่ำของนักเรียนที่ต้องการ และจัดสรรเงินอุดหนุนจำนวนมากกว่าให้แก่โรงเรียนในเขตพื้นที่ด้อยโอกาส เพื่อลดความเหลื่อมล้ำด้านทรัพยากร จากนั้นนำข้อมูลผลสอบมาตรฐานของนักเรียนที่เกิดขึ้นจริงเทียบกับคะแนนเป้าหมายที่กำหนดไว้เพื่อประเมินผลการทำงานและให้รางวัลแก่ผู้บริหาร นอกจากนี้ ในระยะยาวควรปรับเปลี่ยนงบประมาณด้านการศึกษาไปสู่ระบบการเงินด้านอุปสงค์มากขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับการสร้างความรับผิดชอบทางการศึกษา

อีกข้อเสนอแนะหนึ่งที่น่าสนใจ จากหนังสือ “ฐานคิดทางการบริหารและการปฏิรูปการศึกษาไทย ในทศวรรษที่ 2” โดย สมาคมพัฒนาวิชาชีพการบริหารการศึกษาแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นความรู้อันน่าจะเกิดประโยชน์ต่อผู้อ่าน (เครดิตจากบันทึกความรู้ของประไพรัตน์ใน Blog goto know ประไพรัตน์) สรุปสาระสำคัญของหนังสือ ดังกล่าวว่า กรอบการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง มี 4 ด้าน ได้แก่

1. พัฒนาคุณภาพคนไทยยุคใหม่

คนไทยยุคใหม่ ควรมีนิสัยใฝ่รู้ตั้งแต่ปฐมวัย สามารถเรียนรู้ด้วยตนเอง และแสวงหาความรู้ตลอดชีวิต มีความสามารถในการสื่อสาร การคิดวิเคราะห์ แก้ปัญหา คิดริเริ่มสร้างสรรค์ มีจิตสาธารณะ มีระเบียบวินัย คำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวม ทำงานเป็นกลุ่มได้ มีศีลธรรม คุณธรรม จริยธรรม ค่านิยม จิตสำนึก และความภูมิใจในความเป็นไทย ยึดมั่นในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รังเกียจการทุจริต ต่อต้านการซื้อ-ขายเสียง สามารถก้าวทันโลก มีสุขภาพกาย สุขภาพจิตที่สมบูรณ์แข็งแรง เป็นกำลังคนที่มีคุณภาพ มีทักษะ ความรู้ที่จำเป็น มีสมรรถนะ ความรู้ความสามารถ และทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีโอกาสการเรียนรู้เท่าเทียมกันและเสมอภาค

2. พัฒนาคุณภาพครูยุคใหม่

ครูยุคใหม่ ควรเป็นบุคคลผู้เอื้ออำนวยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ เป็นวิชาชีพที่มีคุณค่า มีระบบและกระบวนการผลิตและพัฒนาครู คณาจารย์และบุคลากรทางการศึกษาที่มีคุณภาพมาตรฐานเหมาะสมกับการเป็นวิชาชีพชั้นสูง สามารถดึงดูดคนเก่ง คนดี มีใจรักในวิชาชีพครูมาเป็นครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา มีครูครบตามเกณฑ์และสามารถสอนได้อย่างมีคุณภาพ มาตรฐาน มีการพัฒนาตนเองและแสวงหาความรู้อย่างต่อเนื่อง มีสภาวิชาชีพที่เข้มแข็ง มีการบริหารตามหลักธรรมาภิบาล เพื่อพัฒนาครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษาให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความมั่นคงในอาชีพ มีขวัญกำลังใจ อยู่ได้อย่างยั่งยืน

3. พัฒนาคุณภาพสถานศึกษาและแหล่งเรียนรู้ยุคใหม่

สถานศึกษายุคใหม่ต้องได้รับการพัฒนาให้เป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีคุณภาพ และขณะเดียวกัน พัฒนาแหล่งเรียนรู้อื่น เช่น ห้องสมุดประชาชน พิพิธภัณฑ์ ฯลฯ สำหรับการศึกษาและเรียนรู้ทั้งในระบบ นอกระบบ และตามอัธยาศัย เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิตและมีคุณภาพ

4. พัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการใหม่

พัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการใหม่ โดยมุ่งเน้นการกระจายอำนาจสู่สถานศึกษา เขตพื้นที่การศึกษา และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีระบบการบริหารจัดการตามหลักธรรมาภิบาล นำระบบและวิธีการบริหารแนวใหม่มาใช้ควบคู่ไปกับการสร้างผู้นำการเปลี่ยนแปลง มีการบริหารจัดการการเงินและงบประมาณตามความต้องการของผู้เรียน โดยให้ผู้เรียนเลือกรับบริการได้ และเน้นการมีส่วนร่วมของผู้ปกครอง ชุมชน เอกชน และทุกภาคส่วน

จากกรอบแนวคิดการนำเสนอแนวทางการปฏิรูปการศึกษาบางส่วนข้างต้น ได้เชื่อมโยงกับแนวคิดและสาระสำคัญการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง (พ.ศ. 2552-2561) ซึ่งสำนักนโยบายด้านการศึกษามหภาค สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ได้นำเสนอไว้ว่า

สาระสำคัญการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง (พ.ศ. 2552-2561) นั้นมี วิสัยทัศน์ ให้ “คนไทยได้เรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างมีคุณภาพ เป้าหมายภายในปี 2561” มีการปฏิรูปการศึกษาและการเรียนรู้อย่างเป็นระบบ โดยเน้นประเด็นหลักสามประการ คือ

1) คุณภาพและมาตรฐานการศึกษาและเรียนรู้ของคนไทย โอกาสทางการศึกษาและเรียนรู้เพื่อพัฒนาผู้เรียน สถานศึกษาแหล่งเรียนรู้ สภาพแวดล้อม หลักสูตรและเนื้อหา พัฒนาวิชาชีพครูให้เป็นวิชาชีพที่มีคุณค่า สามารถดึงดูดคนเก่งดีและมีใจรักมาเป็นครูคณาจารย์ได้อย่างยั่งยืน ภายใต้ระบบบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ

2) เพิ่มโอกาสการศึกษาและเรียนรู้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ เพื่อให้ประชาชนทุกคนทุกเพศ ทุกวัยมีโอกาสเข้าถึงการศึกษาและเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต

3) ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนของสังคม ในการบริหารและจัดการศึกษา โดยเพิ่มบทบาทของผู้ที่อยู่ภายนอกระบบการศึกษาด้วย

ส่วนกรอบแนวทางการปฏิรูปการศึกษา มีการปฏิรูปการศึกษาและเรียนรู้อย่างเป็นระบบ จัดกระทำโดย

1) พัฒนาคุณภาพคนไทยยุคใหม่ ที่มีนิสัยใฝ่เรียนรู้ สามารถเรียนรู้ด้วยตนเองและแสวงหาความรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต

2) พัฒนาคุณภาพครูยุคใหม่ ที่เป็นผู้เอื้ออำนวยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ เป็นวิชาชีพที่มีคุณค่า สามารถดึงดูดคนเก่ง คนดี มีใจรักในวิชาชีพครูมาเป็นครู

3) พัฒนาคุณภาพสถานศึกษาและแหล่งเรียนรู้ยุคใหม่ เพื่อพัฒนาคุณภาพสถานศึกษาทุกระดับ/ประเภทให้สามารถเป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีคุณภาพและพัฒนาแหล่งเรียนรู้อื่นๆ สำหรับการศึกษาและเรียนรู้ทั้งในระบบโรงเรียน นอกระบบโรงเรียนและการศึกษาตามอัธยาศัย

4) พัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการใหม่ ที่มุ่งเน้นการกระจายอำนาจสู่สถานศึกษา เขตพื้นที่การศึกษา และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมทั้งการมีส่วนร่วมของผู้ปกครอง ชุมชน ภาคเอกชนและทุกภาคส่วน มีระบบการบริหารจัดการตามหลักธรรมาภิบาล

จากการประมวลแนวคิดเกี่ยวกับการปฏิรูปการศึกษาไทยข้างต้น พบว่ามีประเด็นใกล้เคียงกันในแง่การพัฒนาคนให้เป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้ การพัฒนาบุคลากรทางการศึกษา การพัฒนาระบบการบริหารจัดการและการพัฒนาหลักสูตรและวิธีการจัดการเรียนรู้ เป็นประเด็นสำคัญ

ผู้เขียนตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับพลวัตของการพัฒนาคุณภาพการศึกษาไทย ภายใต้บริบทของแนวคิดการปฏิรูปการศึกษาว่า ระบบการศึกษาไทย ที่ตราเป็นกฎหมายต่างๆ ยังมีข้อจำกัดในแง่ความเข้าใจของผู้บริหารนโยบายและผู้ปฏิบัติที่เดินทางสวนกัน เช่นระบบการศึกษา 3 ประเภท แบ่งเป็นนอกระบบ ในระบบและตามอัธยาศัย ยังขาดการเชื่อมโยงสู่กัน โดยมีชีวิตจริงเป็นตัวตั้ง อีกอย่างหนึ่งความมุ่งหมายในการบริหารการศึกษาของชาติ ผ่านมิติทางการเมือง ซึ่งยังมีจุดอ่อนด้านประสบการณ์และความเอาใจใส่ในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาอย่างจริงใจ และเข้าใจอย่างถ่องแท้ว่า การศึกษา จะเป็นรากฐานสำหรับการสร้างพลเมืองในอนาคต และทุกความคิดเห็นจากข้อเสนอแนะในรายงานวิจัยหรือ การสัมมนาทุกเวที ย่อมเป็นฐานข้อมูลสำคัญในจุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาอย่างแท้จริง

ข้อเสนอแนะของผู้เขียน ที่มีต่อการปฏิรูปการศึกษาไทย มีเพียง 1 ข้อคือเสนอแนะให้กระทรวงศึกษาธิการ เป็นหน่วยงานคล้ายองค์กรอิสระ อยู่ภายใต้กฎหมายสำคัญเกี่ยวกับการศึกษาของชาติ ที่มีคณะกรรมการบริหารจัดการศึกษาแบบอิสระเชิงสร้างสรรค์และแบบก้าวหน้า อย่าให้นักการเมืองมานั่งกำกับหน่วยงานนี้ โดยมีแนวคิดสำคัญทางการศึกษา ว่า การศึกษาไทย ไม่ฝักใฝ่การเมือง มุ่งสร้างสรรค์คนไทย ให้เป็นทรัพยากรมนุษย์สำคัญของโลก จากผลลัพธ์ของการประมวลแนวคิดการปฏิรูปการศึกษา เพื่อเหลียวหลังย้อนกลับไปมองอดีตเพื่อใช้เป็นฐาน ก่อนก้าวหยั่งสู่อนาคตจัดเป็นข้อเสนอแนะประเทศไทย ที่ต้องการความโปร่งใสในระบบการศึกษาของชาติ
กำลังโหลดความคิดเห็น