xs
xsm
sm
md
lg

สร้างองค์กรสำหรับทศวรรษหน้า สร้างผู้นำด้วยกฎแห่งนวัตกรรม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เมื่อกฏเกณฑ์ต่างๆได้เปลี่ยนไป ผู้นำชาวเอเชีย จึงจำเป็นต้องคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ มาเปลี่ยนเกมการบริหารเพื่อให้องค์กรประสบความสำเร็จ

สังคมที่มีความเป็นโลกาภิวัฒน์มากขึ้นทุกวัน ส่งผลให้ธุรกิจต้องก้าวไปสู่การแข่งขันในระดับนานาชาติมากขึ้นและเกิดตลาดที่มีความหลากหลายมากขึ้น การพัฒนาของประเทศอินเดียและประเทศจีนสามารถเปลี่ยนอิทธิพลทางเศรษฐกิจให้มาอยู่ที่ทวีปเอเชียและได้เปลี่ยนโฉมหน้าของโลกไปอย่างรวดเร็ว
ในขณะที่ฝั่งตะวันตกมีจำนวนการจ้างงานลดลง เหล่าผู้นำในฝั่งตะวันออกซึ่งกำลังขยายธุรกิจไปในตลาดใหม่ๆ จึงต้องเรียนรู้ที่จะบริหารงานในตลาดใหม่ที่อาจขยายไปทางฝั่งตะวันตก
การหลอมรวมของเทคโนโลยีและวิวัฒนาการของสังคมออนไลน์ได้เพิ่มความคาดหวังของลูกค้าต่อการให้บริการ ลูกค้าในปัจจุบันคาดหวังการตอบสนองอย่างรวดเร็วต่อข้อสงสัยต่างๆ รวมไปถึงต้องการการมีส่วนร่วมในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ในธุรกิจ เช่น ธุรกิจเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสาร
นอกจากพัฒนาการการหลอมรวมของเทคโนโลยีจะลดเส้นแบ่งระหว่างชีวิตส่วนตัวกับการงานมากขึ้นเรื่อยๆ โลกธุรกิจก้าวไปสู่การทำงานแบบออนไลน์มากขึ้น พนักงานก็มีอำนาจในการต่อรองมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับพนักงานยุคใหม่ที่คุ้นเคยกับเทคโนโลยี โดยพนักงานเหล่านี้สามารถเลือกที่จะทำงานจากที่ใดก็ได้ อย่างไรก็ตาม แม้เทคโนโลยีสามารถช่วยให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ แต่การที่คนสายพันธุ์ดิจิตอลเชื่อมั่นในเทคโนโลยีมากเกินไปและขาดทักษะทางสังคมส่งผลให้เขาเหล่านั้นขาดความพร้อมในการเป็นผู้นำเช่นกัน
ดังนั้น คนเก่งจะยังคงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับองค์กรและการรักษาพนักงานที่มีทักษะที่องค์กรต้องการนั้นก็ถือเป็นความท้าทาย กลุ่มคนรุ่นใหม่ในเอเชียกำลังประสบปัญหาความท้าทายในภาวะผู้นำอย่างมาก เมื่อเป็นเช่นนั้น เราจะทำอย่างไรเพื่อจัดการและจูงใจคนสายพันธุ์ “ฉัน” (Generation “Me”) เพื่อสร้างกลุ่มผู้นำรุ่นต่อไป การที่องค์กรต่างๆ มุ่งสู่ตลาดเอเชียนั้นถูกท้าทายด้วยความคาดหวังที่สูงขึ้น ความเสี่ยงทางธุรกิจที่มากขึ้น และตลาดคู่แข่งที่เข้มแข็งมากขึ้น ในขณะที่การเพิ่มขึ้นของความขาดแคลนทางทรัพยากรทางยุทธศาสตร์ เช่น น้ำ แร่ธาตุ โลหะ และน้ำมัน อาจทำให้เกิดการขึ้นราคาสินค้า และนำไปสู่ความไม่มั่นคงทางสังคม
ปุณยชา เตพละกุล ที่ปรึกษาอาวุโส บริษัทเฮย์กรุ๊ป
วิธีเดียวที่จะทำให้องค์กรประสบความสำเร็จในสังคมปัจจุบันที่วงจรเศรษฐกิจมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และมีการติดต่อสื่อสารในโลกดิจิตอลที่ไม่เคยหยุดพักนั้น คือการสรรค์สร้างนวัตกรรม ซึ่งไม่ใช่แค่เพียงผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ สำหรับลูกค้าเท่านั้น แต่รวมไปถึงวิธีที่องค์กรปฏิบัติและใช้จูงใจพนักงาน วิธีเตรียมพร้อมผู้นำ และวิธีบริหารจัดการธุรกิจด้วย แม้นวัตกรรมดูจะเป็นเรื่องง่าย ความท้าทายอยู่ที่การผลักดันเพื่อให้เกิดการนำไปใช้จริงและการสร้างให้เป็นวัฒนธรรมขององค์กร
ธุรกิจแห่งการสรรค์สร้างนวัตกรรม
แม้ว่าจะไม่มีสูตรสำเร็จสำหรับการสร้างสรรค์นวัตกรรม แต่ผลการศึกษาของ “บริษัทเฮย์กรุ๊ป” แสดงให้เห็นถึงวิธีปฏิบัติขององค์กรชั้นนำในตลาดได้นำไปใช้ส่งเสริมและกระตุ้นการสร้างสรรค์นวัตกรรมได้
บริษัท เฮย์กรุ๊ป ระบุเทคนิค 4 ประการที่องค์กรพึงมีเพื่อสร้างบรรยากาศที่สนับสนุนให้เกิดนวัตกรรมที่มีคุณค่าและทำให้นวัตกรรมนั้นเกิดความยั่งยืน ดังนี้
1.ส่งเสริมความคล่องตัว
องค์กรที่มีความกระฉับกระเฉงและคล่องตัวจะสามารถตอบสนองต่อความท้าทายต่างๆ ด้วยนวัตกรรมใหม่ๆ ได้ดีกว่า และสามารถใช้ผลประโยชน์จากความสำเร็จขององค์กรอย่างเต็มที่ องค์กรที่ดีจึงควรวางโครงสร้างองค์กรโดยคำนึงถึงความรวดเร็วและความยืดหยุ่น
2.สร้างสรรค์ความเข้าใจ
นวัตกรรมที่ดีจำเป็นต้องมีความเข้าใจพื้นฐานในความต้องการลูกค้า และพร้อมเสี่ยงที่จะทบทวนนวัตกรรมนั้นใหม่เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลง องค์กรที่ดีต้องสร้างและผลักดันให้พนักงานเกิดเข้าใจในความต้องการของลูกค้าและสนับสนุนวิธีการใหม่ๆ เพื่อจัดการกับลูกค้า
3.เสริมสร้างมุมมองใหม่ๆ ที่เปิดกว้าง
มุมมองที่แปลกและใหม่เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เกิดการสร้างสรรค์นวัตกรรม องค์กรที่ดีควรกระตุ้นให้เกิดการยอมรับวัฒนธรรมและมุมมองที่แตกต่างกันในแต่ละช่วงอายุคน รวมทั้งสนับสนุนให้พนักงานของตนเปิดใจยอมรับในมุมมองใหม่ๆ
4.สนับสนุนและให้รางวัลในความร่วมมือ
หากนวัตกรรมเป็นผลิตภัณฑ์จากมุมมองที่แตกต่าง ความร่วมมือก็เป็นวิธีการที่จะดึงมุมมองต่างๆ ออกมาใช้ร่วมกัน องค์กรที่ดีไม่เพียงแค่บอกกล่าวให้พนักงานสร้างความร่วมมือเท่านั้น แต่ยังสนับสนุนการสร้างความร่วมมือด้วยการให้รางวัลแก่ความสำเร็จที่เกิดขึ้นจากการร่วมมือนั้นด้วย
“สิ่งสำคัญคือการสร้างบรรยากาศ สภาพแวดล้อม และการวางกลไกที่เชื่อมโยงกันที่ส่งเสริมและสนับสนุนความคิดสร้างสรรค์ การแสวงหาทางแก้ปัญหาที่สร้างสรรค์ ที่กระตุ้นให้พนักงานไม่กลัวความล้มเหลว มีความกล้าเสี่ยง ไม่กลัวการเปลี่ยนแปลง และสามารถตอบสนองความเปลี่ยนแปลงอย่างมีประสิทธิภาพที่สนับสนุน ฝึกฝนให้พนักงานกล้าเสี่ยง และจัดการกับความเสี่ยงนั้นด้วยความรอบคอบ” นางปุณยชา เตพละกุล ที่ปรึกษาอาวุโส บริษัทเฮย์กรุ๊ป กล่าว
บทเรียนในการสร้างผู้นำแห่งการสร้างสรรค์นวัตกรรม
ในการบริหารองค์กรระดับโลก ผู้นำชาวเอเชียต้องกำหนดทิศทางและวิธีปฏิบัติเพื่อการสร้างสรรค์นวัตกรรม ความเข้าใจในรูปแบบและภาวะผู้นำของผู้นำแต่ละคน และระบบการสร้างผู้นำรุ่นใหม่ที่สามารถก้าวขึ้นมาแทนได้ ซึ่งนับได้ว่าเป็นเรื่องที่จำเป็นต้องมี แต่นั่นยังไม่เพียงพอสำหรับความสำเร็จอย่างยั่งยืนในหน้าเศรษฐกิจยุคใหม่
ผลการวิจัยของบริษัท เฮย์กรุ๊ป แนะนำบริษัทในเอเชียในการประยุกต์ Best practice ของแต่ละบริษัทชั้นนำดังต่อไปนี้
• พัฒนาโครงสร้างองค์กรให้สนับสนุนการสื่อสารที่รวดเร็ว อันเป็นสิ่งพื้นฐานที่จะเพิ่มความคล่องตัวขององค์กร ความรวดเร็วในการตัดสินใจ และการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของตลาด
• ภาวะผู้นำแบบสั่งการ (Directive Style) เพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ ทุกคนได้รับการคาดหวังให้สามารถเป็นผู้นำแม้จะไม่มีตำแหน่งที่มีอำนาจอย่างเป็นทางการ และผู้นำต้องเรียนรู้ที่จะมอบหมายอำนาจและการตัดสินใจให้กับผู้ปฎิบัติงาน ซึ่งสิ่งนี้จะสร้างแรงจูงใจและความผูกพันของพนักงานต่อองค์กร
• สร้างงานที่มีความหมายต่อตัวบุคคลให้กับพนักงาน การมีกลยุทธ์ในด้านนวัตกรรมไม่อาจรับรองถึงความสำเร็จได้ และบริษัทที่มีนวัตกรรมล้ำหน้าที่สุดก็สนใจในความทุ่มเทเพื่อองค์กร ดังนั้น กลยุทธ์ต้องถูกวิเคราะห์ทั้งในเชิงลึกและเชิงกว้างเพื่อการออกแบบงานที่พนักงานสามารถเห็นถึงความเชื่อมโยงของตนกับวัตถุประสงค์ขององค์กรและเป้าหมายของหน่วยงานได้
“ความท้าทายของผู้นำ คือการนำรูปแบบภาวะผู้นำที่มีหลากหลาย เช่น ผู้นำแบบฝึกสอน ผู้นำแบบใช้ตนเองเป็นมาตรฐาน ผู้นำแบบสั่งการ ผู้นำแบบบเน้นการมีส่วนร่วมมาประยุกต์ให้เหมาะสมกับสถานการณ์และกลุ่มพนักงาน รูปแบบภาวะผู้นำมีอิทธิพลมากต่อบรรยากาศขององค์กร ซึ่งมีผลต่อความรับรู้หรือความรู้สึกของบุคคล ซึ่งมีผลต่อกับผลการปฏิบัติงาน” นางปุณยชากล่าว
ภาวะผู้นำนวัตกรรมนำธุรกิจ
ในสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่ไม่มั่นคง การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นรวดเร็วและไม่สามารถย้อนคืนกลับมาได้ นวัตกรรมจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่องค์กรไม่สามารถละเลยได้ และเพื่อที่จะผลักดันการสร้างสรรค์นวัตกรรมไปสู่ความสำเร็จ ผู้นำจำเป็นต้องมีความชำนาญในการประยุกต์ทั้งในความคิดในเชิงกลยุทธ์และการมองภาพรวม มีความซื่อสัตย์และเปิดรับข้อมูลและเหตุผล หาวิธีใหม่ๆเพื่อสร้างความผูกพันของพนักงาน และอาจต้องยอมลดบทบาทตนเองเพื่อประสานให้เกิดความร่วมมือในองค์กร
การเป็นผู้นำในสภาพแวดล้อมใหม่นี้จะเป็นการทดสอบความสามารถของผู้บริหารในการปรับเปลี่ยนรูปแบบการเป็นผู้นำ ผู้นำแบบใช้อำนาจสั่งการซึ่งพบมากในเหล่าผู้นำชาวเอเชียยังมีความจำเป็นต่อการสร้างความเข้าใจและการยอมรับในแนวคิดต่างๆ อย่างไรก็ตาม การกระตุ้นและผลักดันให้เกิดการสร้างสรรค์นวัตกรรมในระยะยาว จำเป็นต้องมีมากกว่าอำนาจในการสั่งการ ภาวะผู้นำแบบเน้นความร่วมมือร่วมใจเป็นสิ่งที่จำเป็น และถือเป็นความท้าทายที่ผู้นำชาวเอเชียจำเป็นต้องเรียนรู้และประยุกต์ใช้ภาวะผู้นำแบบต่างๆ
นอกจากนั้น ทักษะการจูงใจ จะเป็นปัจจัยสำคัญในการบริหารผลผลิตในยุคคลาวด์ (Cloud) ซึ่งผู้นำจะต้องแบกรับภาระโดยการทำงานแบบหลากหลายหน้างาน และการบริหารแบบข้ามทีมในหลากหลายสถานที่ ซึ่งทีมงานบางคนอาจไม่ได้เป็นผู้ใต้บังคับบัญชาโดยตรง
สุดท้ายแล้ว ผู้นำจำเป็นต้องใช้วุฒิภาวะทางอารมณ์ให้เป็นประโยชน์และนำทีมปรับตัวเข้าสู่สภาพปกติให้ได้หลังพบกับผลตอบรับในเชิงลบและความล้มเหลว ทั้งการฟื้นฟูในทางจิตใจและอารมณ์ การสร้างกรอบแนวทางเพื่อสนับสนุนการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ เป็นขั้นตอนสำคัญมากกว่าตัวนวัตกรรมเอง และการสร้างภาวะผู้นำแห่งการสร้างสรรค์นวัตกรรมอาจเป็นขั้นตอนที่สำคัญที่สุดสำหรับความยั่งยืนขององค์กร
กำลังโหลดความคิดเห็น