xs
xsm
sm
md
lg

ครม.อนุมัติกู้ในประเทศแทนไจก้า ลงโครงการรถไฟฟ้าสีม่วงระยะ 3

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการออนไลน์ - ครม.อนุมัติเปลี่ยนแหล่งเงินกู้สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสีม่วง ระยะที่ 3 แทนแผนเดิมกู้จากญี่ปุ่นที่ต้นทุนสูงกว่าในประเทศ โดยให้คลังพิจารณาหาแหล่งเงินที่เหมาะสมต่อไป

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายธีรัตน์ รัตนเสวี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุม ครม.อนุมัติหลักการในการใช้แหล่งเงินกู้ในประเทศสำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง (บางใหญ่-บางซื่อ) ระยะที่ 3 แทนการกู้เงินจากรัฐบาลญี่ปุ่นผ่านองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA) ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ

ทั้งนีั การกู้เงินจากแหล่งเงินกู้ในประเทศดังกล่าว ให้กระทรวงการคลังเป็นผู้พิจารณาจัดหาแหล่งเงินที่เหมาะสมตามความจำเป็น และให้นำเสนอรัฐสภาเพื่อรับทราบการเปลี่ยนแปลงแหล่งเงินต่อไป

สำหรับการกู้เงินโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-บางซื่อ ของรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) มีการกู้เงินทั้งโครงการ 110,853.40 ล้านเยน หรือ 37,733 ล้านบาท แบ่งการกู้เงินออกเป็น 3 ระยะ คือ 1.โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง (บางใหญ่-บางซื่อ) ระยะที่ 1 วงเงิน 62,442.00 ล้านเยน หรือ 19,876.79 ล้านบาท 2.โครงการรถไฟฟ้ารถไฟฟ้าสายสีม่วง (บางใหญ่-บางซื่อ) ระยะที่ 2 วงเงิน 16,639.00 ล้านเยน หรือ 6,100.44 ล้านบาท และ 3.โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง (บางใหญ่-บางซื่อ) ระยะที่ 3 วงเงิน 31,772.35 ล้านเยน หรือ 11,755.77 ล้านบาท

โครงการรถไฟฟ้ารถไฟฟ้าสายสีม่วง (บางใหญ่-บางซื่อ) เงินกู้ระยะที่ 3 ซึ่งเป็นการกู้งวดสุดท้าย พบว่า หลังจากไทยได้ถูกปรับสถานะจาก Middle - Income Conuntry เป็น Upper - Middle - Income Conuntry ทำให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้สูงขึ้น จากเดิมเงินกู้อายุ 15, 20 และ 25 ปี อัตราดอกเบี้ยแบบ General Terms เท่ากับ 0.80%, 0.95% และ 1.40% ต่อปีปรับขึ้นเป็น 1.50%, 1.60% และ 1.70% ต่อปีตามลำดับ ทำให้กระทรวงการคลังต้องให้ธนาคารพาณิชย์เปรียบเทียบต้นทุนการกู้เงินเยนจากไจก้า แล้วแปลงหนี้เป็นเงินบาท กับการกู้เงินในประเทศช่วงระยะเดียวกัน พบว่า ในภาวะตลาดปัจจุบันการกู้เงินเยนจากไจก้าแล้วแปลงหนี้เป็นเงินบาทมีต้นทุนสูงกว่าการกู้เงินบาทในประเทศ นอกจากนี้ ไจก้าคิดค่าธรรมเนียมผูกพันเงินกู้ 0.1% ต่อปีของวงเงินที่ยังไม่เบิกจ่ายทั้งหมด

อนุมัติแผนลงทุนประปา

ขณะเดียวกัน นายชลิตรัตน์ จันทรุเบกษา รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบแผนการลงทุนหลักโครงการเพื่อการพัฒนาปี 2556-2559 ของการประปาส่วนภูมิภาค ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ โดยโครงการเพื่อการพัฒนาปี 2556-2559 ของ กปภ. เป็นโครงการใหม่ จำนวน 92 โครงการ วงเงินลงทุนรวม 42,402.904 ล้านบาท และอนุมัติให้ กปภ. ดำเนินโครงการเพื่อการพัฒนาปี 2556 ในส่วนของโครงการใหม่ จำนวน 7 โครงการ วงเงินลงทุนรวม 3,315.019 ล้านบาท (ไม่รวม VAT) ประกอบด้วย

2.1 โครงการที่ขอรับเงินงบประมาณประจำปีจากภาครัฐร้อยละ 75 และเงินรายได้สมทบ ร้อยละ 25 จำนวน 4 โครงการ วงเงินลงทุนรวม 2,086.053 ล้านบาท ได้แก่ กปภ. สาขาสีคิ้ว วงเงินลงทุน 587.411 ล้านบาท สาขาระยอง วงเงินลงทุน 712.180 ล้านบาท สาขาลำปาง วงเงินลงทุน 622.187 ล้านบาท และสาขาศรีราชา วงเงินลงทุน 164.275 ล้านบาท

2.2 โครงการที่ใช้เงินกู้ภายในประเทศ จำนวน 3 โครงการ วงเงินลงทุนรวม 1,228.966 ล้านบาท ได้แก่ กปภ. สาขาอุบลราชธานี วงเงินลงทุน 673.497 ล้านบาท สาขาสุรินทร์ วงเงินลงทุน 394.674 ล้านบาท สาขาพัทยา (มาบยางพร-ปลวกแดง) วงเงินลงทุน 160.795 ล้านบาท โดยให้ กปภ. กู้เงินภายในประเทศ (พันธบัตร) เพื่อลงทุนโครงการ โดยมีกระทรวงการคลังเป็นผู้ค้ำประกัน

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเห็นชอบ และอนุมัติแผนการลงทุนหลักเพื่อพัฒนาระบบประปา การประปาส่วนภูมิภาค สาขาเชียงใหม่ ปี 2556-2570 วงเงินลงทุนรวม 2,257.325 ล้านบาท โดยใช้จากเงินกู้ภายในประเทศ ทั้งนี้ การลงทุนโครงการแต่ละระยะภายใต้แผนการลงทุนหลักดังกล่าว ให้ กปภ. นำเสนอโครงการแต่ละระยะให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาตามขั้นตอนต่อไป และที่ประชุมยังอนุมัติให้ กปภ. ดำเนินโครงการปรับปรุงขยาย กปภ. สาขาเชียงใหม่ ระยะที่ 1 ปี 2556 วงเงินลงทุน 1,390.670 ล้านบาท (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) โดยให้ กปภ. กู้เงินภายในประเทศ (พันธบัตร) ทั้งหมด โดยมีกระทรวงการคลัง (กค.) เป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้
กำลังโหลดความคิดเห็น