“คลัง” เสนอที่ประชุม ครม. ทบทวนแหล่งเงินกู้โครงการรถไฟฟ้า “สีม่วง” บางใหญ่-บางซื่อ เล็งเปิดให้กู้ในประเทศแทนการกู้จากรัฐบาลญี่ปุ่น โดยพบว่า ในภาวะตลาดปัจจุบันการกู้เงินเยนจากไจก้าแล้วแปลงหนี้เป็นเงินบาท มีต้นทุนสูงกว่าการกู้เงินบาทในประเทศ นอกจากนี้ ไจก้าคิดค่าธรรมเนียมผูกพันเงินกู้ 0.1% ต่อปีของวงเงินที่ยังไม่เบิกจ่ายทั้งหมด
รายงานข่าวแจ้งว่า การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ (25 มิ.ย.) กระทรวงการคลังจะเสนอเรื่องการทบทวนแหล่งเงินกู้ในโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง (บางใหญ่-บางซื่อ) เข้าสู่วาระการประชุม ครม. โดยเสนอให้ ครม.พิจารณาการทบทวนแหล่งเงินกู้สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง (บางใหญ่-บางซื่อ) ระยะที่ 3 ด้วยการขออนุมัติหลักการในการใช้แหล่งเงินกู้ในประเทศสำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง (บางใหญ่-บางซื่อ) ระยะที่ 3 แทนการกู้เงินจากรัฐบาลญี่ปุ่นผ่านองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA)
ทั้งนี้ การกู้เงินจากแหล่งเงินกู้ในประเทศดังกล่าวให้กระทรวงการคลังเป็นผู้พิจารณาจัดหาแหล่งเงินที่เหมาะสมตามความจำเป็น และให้นำเสนอรัฐสภาเพื่อรับทราบการเปลี่ยนแปลงแหล่งเงินต่อไป
สำหรับการกู้เงินโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-บางซื่อ ของรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) มีการกู้เงินทั้งโครงการ 110,853.40 ล้านเยน หรือ 37,733 ล้านบาท แบ่งการกู้เงินออกเป็น 3 ระยะ 1.โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง (บางใหญ่-บางซื่อ) ระยะที่ 1 วงเงิน 62,442.00 ล้านเยน หรือ 19,876.79 ล้านบาท 2.โครงการรถไฟฟ้ารถไฟฟ้าสายสีม่วง (บางใหญ่-บางซื่อ) ระยะที่ 2 วงเงิน 16,639.00 ล้านเยน หรือ 6,100.44 ล้านบาท และ 3.โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง (บางใหญ่-บางซื่อ) ระยะที่ 3 วงเงิน 31,772.35 ล้านเยน หรือ 11,755.77 ล้านบาท
โครงการรถไฟฟ้ารถไฟฟ้าสายสีม่วง (บางใหญ่-บางซื่อ) เงินกู้ระยะที่ 3 ซึ่งเป็นการกู้งวดสุดท้าย พบว่า หลังจากไทยได้ถูกปรับสถานะจาก Middle - Income Conuntry เป็น Upper - Middle - Income Conuntry ทำให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้สูงขึ้น จากเดิมเงินกู้อายุ 15, 20 และ 25 ปี อัตราดอกเบี้ยแบบ General Terms เท่ากับ 0.80%, 0.95% และ 1.40% ต่อปีปรับขึ้นเป็น 1.50%, 1.60% และ 1.70% ต่อปีตามลำดับ ทำให้กระทรวงการคลังต้องให้ธนาคารพาณิชย์เปรียบเทียบต้นทุนการกู้เงินเยนจากไจก้า แล้วแปลงหนี้เป็นเงินบาท กับการกู้เงินในประเทศช่วงระยะเดียวกัน พบว่า ในภาวะตลาดปัจจุบันการกู้เงินเยนจากไจก้าแล้วแปลงหนี้เป็นเงินบาทมีต้นทุนสูงกว่าการกู้เงินบาทในประเทศ นอกจากนี้ ไจก้าคิดค่าธรรมเนียมผูกพันเงินกู้ 0.1% ต่อปีของวงเงินที่ยังไม่เบิกจ่ายทั้งหมด
ขณะที่สำนักงบประมาณ เสนอเรื่องการเสนอขอเพิ่มงบประมาณรายจ่ายในการพิจารณาของคณะกรรมาธิการ วิสามัญพิจารณา โดยขอความเห็นชอบแนวทาง หลักเกณฑ์ และขั้นตอนการเสนอขอเพิ่มงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2557 ตามที่สำนักงบประมาณเสนอ ดังนี้
1.แนวทางและหลักเกณฑ์การเสนอขอเพิ่มงบบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2557 ให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่น เสนอคำขอเพิ่มงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2557 เฉพาะรายการที่มีความจำเป็นเร่งด่วนอย่างแท้จริง และสอดคล้องกับสถานการณ์ของประเทศ โดยมีแนวทาง และหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
1.1 เป็นไปตามยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2557
1.2 เป็นรายจ่ายที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ประเทศ (Country Strategy) ยุทธศาสตร์การเข้าสู่ประชาคมอาเซียนปี 2558 และนโยบายสำคัญเร่งด่วนของรัฐบาล
1.3 เป็นรายจ่ายที่ส่งผลตต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจให้เกิดการใช้จ่ายในประเทศ ส่งเสริมการผลิตให้เกิดการจ้างงาน และกระจายรายได้ หรือเป็นรายจ่ายลงทุนสำคัญที่ก่อให้เกิดผลในการแก้ไขปัญหา และการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือเป็นรายจ่ายที่ประชาชนได้รับประโยชน์โดยตรง โดยมีเงื่อนไขดังนี้
(1) ไม่ทำให้เกิดภาระรายจ่ายประจำเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ยกเว้นเป็นการดำเนินงานตามนัย ข้อ 1.2 (2) ไม่ควรผูกพันงบประมาณรายจ่ายข้ามปีในปีต่อๆ ไป (3) ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นมีศักยภาพที่จะดำเนินงาน และมีความพร้อมที่จะดำเนินการได้ทันที (4) ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่น ต้องเสนอโครงการ/รายการภายใต้ขอบเขตอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายของหน่วยงานนั้นๆ
2.ขั้นตอนในการเสนอขอเพิ่มงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2557 ของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่น
(1) ให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่น จัดทำคำขอเพิ่มงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2557 ที่ได้มีการตรวจสอบ และรับรองข้อมูลแล้วว่าการดำเนินการนั้นไม่ขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2550 กฎหมาย หรือระเบียบอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง และให้เสนอขอรับความเห็นชอบต่อนายกรัฐมนตรี หรือรองนายกรัฐมนตรีที่กำกับ หรือรัฐมนตรีเจ้าสังกัด รวมทั้งรวบรวมจัดส่งให้สำนักงบประมาณ ภายในวันศุกร์ที่ 5 ก.ค.2556
(2) สำหรับหน่วยงานของรัฐสภา หน่วยงานของศาล และหน่วยงานขององค์กรตามรัฐธรรมนูญและหน่วยงานอิสระตามรัฐธรรมนูญ ให้ปฏิบัติตามบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 168 วรรคเก้า ที่กำหนดว่า “หากหน่วยงานดังกล่าวเห็นว่างบประมาณรายจ่ายที่ได้รับการจัดสรรให้นั้นไม่เพียงพอ ให้สามารถเสนอคำขอแปรญัตติต่อคณะกรรมาธิการได้โดยตรง”
ดังนั้น หากหน่วยงานดังกล่าวพิจารณาแล้วจะเสนอขอเพิ่มงบประมาณก็เห็นสมควรดำเนินการ ตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 168 วรรค 9 โดยให้ยื่นคำขอแปรญัตติต่อประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2557 โดยตรง ภายในวันศุกร์ที่ 5 กรกฎาคม 2556 เพื่อที่สำนักงบประมาณ จะได้สามารถประมวลผลภาพรวมการขอเพิ่มงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2557
(3) ให้สำนักงบประมาณพิจารณาคำขอเพิ่มงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2557 และนำเสนอผลการพิจารณาต่อคณะรัฐมนตรี ในวันศุกร์ที่ 19 กรกฎาคม 2556 เพื่อนำเสนอคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ต่อไป