ผ่าปมร้อน “หนี้ครัวเรือนพุ่ง” เกิดจากนโยบาย “ประชานิยม” เน้นกระตุ้นการบริโภค หรือแบงก์เป็นตัวการสร้างหนี้ “เอ็มดีไทยพาณิชย์” ระบุมาตรการกระตุ้น ศก.ของรัฐบาลต้องไม่ก่อหนี้เพิ่ม เพราะหนี้ภาคครัวเรือนที่เป็นปัญหาในขณะนี้ อยู่ในกลุ่มรากหญ้าที่มีรายได้น้อย และเป็นหนี้นอกระบบ ขณะที่ “กิตติรัตน์” หัวหน้าทีม ศก.รัฐ ออกโรงซัด “คนที่ออกมาพูดเรื่องหนี้ครัวเรือน” ล้วนแต่เป็นกลุ่มที่ทำธุรกิจปล่อยสินเชื่อรายย่อยทั้งนั้น แต่หากมีความกังวลเช่นนั้นก็ควรจะควบคุมตัวเองให้ดี พร้อมอัดภาคธุรกิจสถาบันการเงิน ธนาคารพาณิชย์ต่างๆ ที่ปล่อยสินเชื่อควรควบคุมตัวเองให้ดี และถ้าควบคุมตัวเองให้ดีก็ไม่มีใครไปบังคับให้ปล่อยสินเชื่อ
นางกรรณิกา ชลิตอาภรณ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB กล่าวถึงทิศทางธุรกิจของธนาคารยังไปได้ดี แต่มองว่ามาตรการในการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล หากจะดำเนินการจะต้องไม่ใช่มาตรการที่จะทำให้มีการก่อหนี้เพิ่มขึ้น ซึ่งหนี้ภาคครัวเรือนในขณะนี้เป็นหนี้ที่อยู่ในกลุ่มของผู้มีรายได้น้อย และเป็นหนี้นอกระบบ
ทั้งนี้ ยืนยันว่าการปล่อยสินเชื่อของธนาคารไทยพาณิชย์ มีการระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อมาก่อนหน้านี้แล้ว 2-3 ปี ซึ่งในปีนี้มองว่า การปล่อยสินเชื่อตลอดทั้งปีจะเป็นไปตามเป้าหมายที่ร้อยละ 9-12 โดยในช่วง 5 เดือนแรก การปล่อยสินเชื่อของธนาคารขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 12 ในขณะที่เศรษฐกิจภาพรวมมองว่า จะสามารถขยายตัวได้ร้อยละ 4 ในปีนี้
ก่อนหน้านี้ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ออกมาระบุถึงกรณีหลายฝ่ายแสดงความเป็นห่วงเรื่องหนี้ครัวเรือน โดยบอกว่า ความเห็นส่วนตัวของตนเกี่ยวกับหนี้สินครัวเรือน จะเห็นได้ว่าคนที่ออกมาพูดเรื่องหนี้ครัวเรือน ล้วนแต่เป็นกลุ่มที่ทำธุรกิจปล่อยสินเชื่อหนี้ครัวเรือนทั้งนั้น หากเขากังวลเช่นนั้นก็ควรจะควบคุมตัวเองให้ดี
“ภาคธุรกิจสถาบันการเงิน ธนาคารพาณิชย์ต่างๆ ที่ปล่อยสินเชื่อ ก็ควรควบคุมตัวเองให้ดี และถ้าท่านควบคุมตัวเองให้ดีก็ไม่มีใครไปบังคับให้ปล่อยสินเชื่อ”
อย่างไรก็ตาม ในส่วนการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินภาครัฐนั้น การที่มีการปล่อยสินเชื่อให้ผู้มีรายได้น้อย หรือเกษตรกรจำนวนหนึ่ง เพื่อไปทดแทนหนี้นอกระบบนั้น เป็นการทำให้หนี้นอกระบบที่ไม่เคยถูกรายงาน ถูกรายงานกลับมาในหนี้ระบบ และหนี้นอกระบบที่มีอัตราดอกเบี้ย 20% ต่อเดือน เหลือไม่ถึง 1% ต่อเดือน เป็นเรื่องที่ดีมาก
ส่วนกรณีที่นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ประธานกรรมการธนาคารกรุงเทพ ระบุว่า รัฐบาลกระตุ้นเศรษฐกิจมาเป็นเวลา 12 เดือน แต่เศรษฐกิจกลับแผ่วลง นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า ในปี 2555 เศรษฐกิจไทยขยายตัว 6.4% มากกว่าส่งออกที่ขยายตัว 3.1% ต้องถามว่าไม่ใช่เป็นเพราะวิธีการบริหารเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดนี้หรือ
“ฝากถามท่านโฆสิต ว่า ปี 2555 จีดีพีโตมากกว่าการส่งออก ไม่ใช่เพราะวิธีการดูแลเศรษฐกิจของรัฐบาลนี้หรือ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็บอกว่าอย่ากระตุ้นเศรษฐกิจ แต่นักวิเคราะห์วิจารณ์ก็บอกว่า ถ้าแผ่วแล้วไม่กระตุ้นเศรษฐกิจต่อหรือ ถ้ากลัวจะแผ่วก็ลดดอกเบี้ยอีกสิ บางทีก็มองเห็นแต่คนอื่น แต่ไม่มองเห็นตัว”
นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า หากการลงทุนโครงการบริหารจัดการน้ำ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านขนส่ง และการเบิกจ่ายงบประมาณเป็นไปตามแผน เศรษฐกิจจะไม่แผ่ว และหากเอกชนกลัวว่าจะมีสินเชื่อในระบบจะเพิ่มขึ้นจากการปล่อยกู้สินเชื่อรถยนต์ และบ้านใหม่ หากมีการควบคุมกันเอง หนี้ครัวเรือนก็อยู่ในระดับที่เหมาะสมได้
นายกิตติรัตน์ ระบุว่า หนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นเป็นสินเชื่อที่เพิ่มขึ้นในต่างจังหวัด เนื่องจากมีการซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่มีคุณภาพในต่างจังหวัด คนที่มีกำลังซื้ออยู่ก็เข้ามาซื้อ ซึ่งขอให้แยกแยะในส่วนนี้ด้วย และตนมั่นใจว่า สิ่งที่รัฐบาลทำอยู่ เช่น การปล่อยสินเชื่อแก้ปัญหาหนี้สินนอกระบบอัตราดอกเบี้ยโหด รัฐบาลรู้ว่าทำอะไรอยู่ และมั่นใจว่าควบคุมได้
ส่วนสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์อีโคคาร์ที่ทำให้หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นนั้น นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า รถยนต์อีโคคาร์เครื่องยนต์ขนาดเล็ก และรัฐบาลไม่ได้นำงบมาอุดหนุนคนซื้อ แต่เป็นภาษีสรรพสามิตของเจ้าของรถเอง เมื่อถือครองรถยนต์เกิน 1 ปีก็คืนให้ผู้ซื้อรถยนต์ไป
“รถอีโคคาร์ความจริงไม่อยากเก็บภาษีสรรพสามิตด้วยซ้ำไป เอาเป็นว่า หากฐานภาษีดีขึ้น รถเล็กๆ ไม่อยากเก็บภาษีสรรพสามิตเลย เก็บภาษีมูลค่าเพิ่มอย่างเดียวก็ดีแล้ว แต่ถ้ารถแพงๆ ซีซีสูงๆ ใช้น้ำเปลือง ปล่อยคาร์บอนสูงๆ เรามาเก็บภาษีแพงขึ้นดีหรือไม่ ดังนั้น คนที่มีรถหรูๆ ดีๆ อยู่แล้ว อย่าไปตำหนิคนที่ซื้อรถคันแรก 1,400 ซีซีเลย”
สำหรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม หลังการลงทุนโครงการน้ำ และลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านขนส่งจะเบิกจ่ายได้ล่าช้ากว่ากำหนด นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า จะพยายามทำให้ดีที่สุด ไม่ให้ช้ากว่ากำหนดมาก ประเทศนี้เป็นของทุกคน อะไรที่ไม่ควรจะช้าก็อย่าทำให้ช้าด้วยขั้นตอนที่ไม่จำเป็น ส่วนขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดก็ช่วยกันทำอย่างจริงจัง
“อย่าไปกระตุ้นเดี๋ยว ดร.ประสาร ผผู้ว่าการธปท.) เขาเสียใจ เขาเพิ่งห้าม”
ส่วนการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยการลดอัตราดอกเบี้ย นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า เงินที่ไหลออกตอนนี้ น้อยกว่าเงินที่ไหลเข้ามา และในช่วง 9 เดือนแรกของปีงบ 2556 รัฐบาลจัดเก็บรายได้ 1.616 ล้านล้านบาท สูงกว่าเป้าหมายที่วางไว้ 8.2 หมื่นล้านบาท ซึ่งกระทรวงการคลังยุคปัจจุบันไม่ได้มีความสุขที่เก็บภาษีเกินเป้ามาก
“การเก็บภาษีเกินเป้ามากๆ เป็นการดึงเงินจากระบบมาเก็บไว้ และปีนี้การเก็บภาษีก็เกินเป้าอยู่แล้ว ซึ่งผมไม่คิดว่ารัฐบาลอยากมีรายได้จากภาษีน้ำมันเพิ่มขึ้นเลย ยกเว้นเป็นเรื่องการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ซึ่งเราจะดูคำแนะนำของกระทรวงพลังงานเป็นหลัก เช่น กลุ่มเบนซินที่เป็นฟอสซิล และไบโอดีเซล” นายกิตติรัตน์กล่าว