ครม.เงิบไล่ต้อน “ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ” ไม่จน หลังรุมขย้ำกดดันให้ลดดอกเบี้ย ด้าน “ประสาร” สวน ธปท.ต้องรักษาดุลการเงินในประเทศ ย้ำต้องรอบคอบเหตุมีทั้งคนได้-เสียประโยชน์ ออกตัว “แบงก์ชาติ” ไม่ใช่รัฐอิสระ รบ.เห็นตรงไหนไม่ถูกต้องบอกกันได้ สุดเซอร์ไพรส์ “โต้ง” ไม่ร่วมขบวนรุมขย่ม แถมหยอดทำงานกับ “ประสาร” ราบรื่น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 28 พ.ค. ซึ่งมี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้มีการเชิญนายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มาชี้แจงปัญหาค่าเงินบาทที่แข็งค่า โดยแหล่งข่าวในที่ประชุมแจ้งว่า ในการประชุมวาระดังกล่าวได้มีการหารือนานกว่า 1 ชั่วโมง เนื้อหาส่วนใหญ่เป็นการสอบถามนายประสารถึงมาตรการการแก้ไขปัญหาค่าเงินบาทที่แข็งค่า และทัศนคติต่อแนวทางในการปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย โดยรัฐมนตรีหลายคน อาทิ นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รมว.พลังงาน และนายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย รมช.คลัง ที่ผลัดกันถามย้ำหลายครั้งเพื่อให้นายประสารตอบแนวทางแก้ปัญหาค่าเงินบาทที่แข็งตัวให้ชัดเจน
โดยช่วงหนึ่งนายปลอดประสพกล่าวกับที่ประชุมว่า ภรรยาของตนทำงานอยู่ใน ธปท. แต่ไม่เคยมาอธิบายแนวทางการแก้ไขปัญหาค่าเงินบาทของ ธปท.เลย วันนี้จึงต้องการถามตรงๆ ว่าผู้ว่าฯ ธปท.มีแนวทางในการแก้ไขปัญหาค่าเงินบาทที่แข็งค่าอย่างไร
ด้านนายประสารได้พยายามชี้แจงภาพรวมการแก้ไขปัญหา โดยไม่ได้ตอบคำถามตรงๆ ว่าจะเห็นด้วยกับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายหรือไม่ โดยระบุว่าเรื่องดอกเบี้ยนโยบายเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของหลายฝ่าย มีทั้งคนได้ประโยชน์ และเสียประโยชน์ คนที่มีเงินฝากมากอาจต้องการจะให้ดอกเบี้ยสูง ส่วนนักลงทุนก็อยากให้ดอกเบี้ยต่ำ ธปท.ต้องมีหน้าที่ในการดูแลความสมดุลย์ทางการเงินของประเทศ และให้เกิดความรอบคอบในการแก้ไขปัญหา
ขณะที่นายพงษ์ศักดิ์ได้ซักถามย้ำอีกครั้งว่า ผู้ว่าฯ ประสารมีแนวทางอย่างไรให้ค่าเงินบาทอยู่ในระดับ 29-30 บาท ต่อดอลลาร์สหรัฐ ผู้ว่าฯ ธปท.อธิบายว่าทุกอย่างเป็นไปตามกลไก ค่าเงินบาทอยู่ในระดับนี้ตามสถานการณ์ของเศรษฐกิจ จะให้อ่อนตัวถึง 35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐคงยังไม่สามารถเกิดขึ้นในช่วงนี้
นอกจากนี้ รัฐมนตรีหลายคนยังได้ซักถามถึงความเป็นอิสระของ ธปท. ซึ่งนายประสารอธิบายว่า ธปท.ไม่ได้อิสระร้อยเปอร์เซ็นต์ ทุกอย่างต้องทำตามนโยบายของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง แต่กฎหมาย ธปท.ต้องการให้มีเครื่องมือในการดูแลเรื่องนโยบายการเงิน ซึ่งมีหลายเรื่องอยู่ ถ้ารัฐบาลต้องการเปลี่ยนแปลงนโยบายดูแลค่าเงิน ก็ต้องมีคำสั่งตามนโยบายมา โดยแนวทางในการดูแลค่าเงินบาทมี 2 แนวทางคือ 1. ใช้อัตราแลกเปลี่ยน และ 2. ใช้อัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งสองแนวทางนี้ไม่มีอะไรถูกผิด ขึ้นอยู่กับสถานการณ์
“ตอนนี้ ธปท.ใช้แนวทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการดูแลอยู่ ที่ไม่ใช้เรื่องอัตราแลกเปลี่ยนเพราะกลัวว่าจะถูกกล่าวหาในเรื่องความไม่โปร่งใส ซึ่งหากรัฐบาลมีแนวทางว่านโยบายนี้ใช้ไม่ได้แล้ว ก็ต้องมีคำสั่งทางนโยบายออกมาเพื่อดูแลมาตรการด้านการเงิน” แหล่งข่าวอ้างคำพูดนายประสาร
แหล่งข่าวจาก ครม.ระบุว่า เป็นที่สังเกตว่า นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ซึ่งเคยมีความเห็นต่างจากนายประสารและออกมาแสดงความเห็นให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นระยะ แต่ในที่ประชุม ครม.ครั้งนี้ ทั้งสองคนกลับมีท่าทีถ้อยทีถ้อยอาศัย ไม่มีการเผชิญหน้าหรือตอบโต้กันแต่อย่างใด โดยทั้งสองคนระบุว่า ธปท.และกระทรวงการคลังสามารถทำงานร่วมกันได้เป็นอย่างดี ขณะเดียวกัน นายกิตติรัตน์ยังได้ระบุด้วยว่า ขณะนี้ ธปท.และกระทรวงการคลังทำงานอย่างใกล้ชิด และสิ่งที่ ธปท.อยากให้แก้ไขกฎกระทรวงการคลัง ตอนนี้กระทรวงการคลังดำเนินการแก้ไขเสร็จแล้ว เหลือแต่เพียงรอประกาศในราชกิจจานุเบกษา
ด้านนายวราเทพ รัตนากร รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเสริมในตอนท้ายว่า มาตรการในการดูแลในการรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจ ที่ประกอบด้วย 1. การซื้อขายเงินตราต่างประเทศในอัตราแลกเปลี่ยน 2. ดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ย 3. มาตรการกำกับดูแลสถาบันการเงิน 4. พิจารณาใช้มาตรการจำกัดเงินทุนไหลเข้าอย่างระมัดระวังเมื่อจำเป็น 5. บริหารจัดการเงินทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศ 6. ช่วยเหลือภาคธุรกิจให้สามารถลดผลกระทบค่าเงินบาท และ 7. สร้างความร่วมมือระหว่างประเทศในภูมิภาคในการดูแลอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งมาตรการทั้งหมดนี้ธปท.สามารถทำได้เลยกี่มาตรการ ทำให้ผู้ว่าฯ ธปท.ชี้แจงว่า มาตรการที่สามารถทำได้เลยคือ มาตราที่ 6 และ 7 ส่วนมาตราที่ 1-5 ต้องพิจารณาสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจัยต่างๆ ด้วยความรอบคอบ
จากนั้นนายวราเทพจึงเสนออีกว่า ต่อไปนี้ให้กระทรวงการคลัง และ ธปท.ทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด และมีการรายงานผลการดำเนินงานต่อ ครม.ทุกเดือน ซึ่ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้สนับสนุนกับแนวทางดังกล่าว และกำชับให้มีการทำงานแบบบูรณาการเพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นในทิศทางนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาล