“ยิ่งลักษณ์” เผยเรียกผู้ว่าฯ ธปท.เข้าประชุม ครม.ฟังแผนแก้เศรษฐกิจแบบบูรณาการร่วมหลายกระทรวง จัดมาตรการเร่งด่วนใน 6 เดือน และระยะยาว โยน “กิตติรัตน์” รายงานเป็นระยะ การันตี 2 บิ๊ก ศก.ไม่มีปัญหา แค่คิดไม่ตรงทางเทคนิค
วันนี้ (28 พ.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 14.10 น. น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) กรณีที่เรียกให้นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เข้ามาชี้แจงเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ต่อที่ประชุม ครม.ว่า เป็นการหารือในวาระ ครม.ที่ให้ทางกระทรวงการคลัง สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ร่วมกับ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.การคลัง นำเสนอกรอบนโยบายการแก้ไขปัญหาสภาวะเศรษฐกิจในช่วงนี้ ซึ่งการแก้ปัญหาเศรษฐกิจนั้น มีทั้งหมด 3 ด้าน คือ การเงิน การคลัง และมาตรการเฉพาะด้าน ที่เป็นมาตรการของแต่ละกระทรวง
“วันนี้เราเลยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวบรวมแผนงานที่ให้ทุกกระทรวงดำเนินการ และที่เราได้สั่งการให้ ครม.ทั้งหมด เป็นแผนแบบบูรณาการที่ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับทราบและรับฟัง ซึ่งเราได้เชิญนายประสารเข้ามาฟังด้วย เพราะว่าเป็นผู้ที่ถ้าเห็นพ้องตามแผนก็จะได้นำรายละเอียดนี้ไปปฏิบัติ เพราะขั้นตอนในการปฏิบัติต้องเป็นหน้าที่ของแต่ละหน่วยงานที่จะต้องไปทำ และในส่วนของรัฐบาลก็มีหน้าที่ในการบูรณาการด้านนโยบายภาพรวม แต่ทางด้าน ธปท.ก็จะเป็นในแง่เทคนิคที่เราไม่สามารถเข้าไปก้าวก่ายได้ ซึ่งตรงนี้เป็นที่มา” น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าว
น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวต่อว่า โดยเบื้องต้นมติ ครม.และผู้ที่เกี่ยวข้องได้เห็นชอบและรับทราบแผนว่าสอดคล้องต้องกัน ก็ถือว่าเป็นการบูรณาการแก้ปัญหาเศรษฐกิจในภาพรวม เราเองถ้าแก้ปัญหาในด้านใดด้านหนึ่งโดยไม่ได้บูรณาการกัน ก็จะทำให้ประสิทธิภาพไม่ได้เกิดอย่างเต็มที่ จึงรวบรวมมาตรการต่างๆ ทั้งมาตรการเร่งด่วนภายใน 6 เดือน และมาตรการระยะยาว ในการที่จะดำเนินการให้สอดคล้องกันในช่วงเวลานี้ โดยเฉพาะภาวะเศรษฐกิจขนาดนี้ และได้ขอให้ทางนายกิตติรัตน์ ได้รวบรวมและติดตามสถานการณ์จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเพื่อรายงานต่อ ครม.เป็นระยะ
ผู้สื่อข่าวถามว่า ระหว่างนายกิตติรัตน์ และนายประสาร ไม่มีอะไรติดใจกันแล้วใช่หรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า ไม่มี เพราะเราก็ทำงานกันได้ แต่บางครั้งอาจจะมีการพูดคุยกันไม่ตรงในด้านของเทคนิคมากกว่า แต่มาวันนี้ก็ชัดเจน ในแง่ของนโยบายภาพรวมก็สอดคล้องต้องกัน แต่เทคนิคนั้นก็ถือว่าต้องให้ผู้ที่รับผิดชอบนั้นดำเนินการ แต่เราก็คงคอยติดตามในเรื่องของผลมากกว่า