นายสุภศักด์ กฤษณามระ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดีลอยท์ (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า จากการจัดสัมมนาเรื่อง โอกาสในการลงทุนระหว่างประเทศของบรรดาตลาดหลักในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีผู้เข้าร่วมสัมมนาซึ่งเป็นตัวแทนจากดีลอยท์ของประเทศต่างๆ ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับ กฎระเบียบด้านการลงทุนต่างๆ โดยเฉพาะข้อมูลล่าสุดด้านภาษี กับกฎระเบียบอื่นๆ ของประเทศ สำคัญๆ เช่น อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, พม่า, สิงคโปร์ และเวียดนาม รวมทั้งมุมมองจากนักลงทุนในประเทศไทยชี้ชัดว่า ขณะนี้ประเทศพม่าได้ผงาดขึ้นมาเป็นประเทศที่น่าลงทุนที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภายหลังจากที่กฎหมายการลงทุนของคนต่างชาติฉบับใหม่มีผลบังคับใช้เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2555
“ทั้งนี้ จากการให้ข้อมูลของนายโซวิน ผู้ก่อตั้งเมียนมาร์วิกเกอร์ ในฐานะบริษัทพันธมิตรของดีลอยท์ ที่ให้บริการแบบครบวงจรครอบคลุมบริการที่ปรึกษาธุรกิจการจดทะเบียนธุรกิจ การควบรวมกิจการ การสอบบัญชี และการให้คำแนะนำด้านภาษีแก่บริษัทท้องถิ่นของพม่า และบริษัทข้ามชาติได้ให้ข้อมูลที่ชัดเจนว่า ขณะนี้พม่ามีความน่าสนใจมากที่สุดในแง่การลงทุนข้ามประเทศ ภายหลังจากความวุ่นวายทางการเมืองที่มีมาตั้งแต่ปี 2505 เริ่มคลี่คลาย และมีการปรับปรุงระบอบการปกครองใหม่ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ พม่าได้เปิดรับ การลงทุนจากชาวต่างชาติมากขึ้น โดยเฉพาะมีการประกาศใช้ Foreign Investment Law หรือ กฎหมายการลงทุนของชาวต่างชาติเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2555 ซึ่งเป็นกฎหมายที่อนุญาตให้ชาวต่างชาติลงทุนได้ 100% ในกิจการหลายๆ อย่าง นอกจากนี้ ยังมีการกำหนดกฎระเบียบชัดเจนเกี่ยวกับภาระที่นักลงทุนต่างชาติกับรัฐบาลพม่าต้องดำเนินการ ส่งผลให้พม่าคือ อนาคตที่สดใสสำหรับนักลงทุนต่างประเทศที่กำลังมองหาแหล่งลงทุนใหม่ๆ”
สำหรับการลงทุนในประเทศอื่นๆ ยังคงมีประเด็นสำคัญให้พิจารณา เช่น อินโดนีเซีย ถึงแม้ในขณะนี้ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศเจริญเติบโตอยู่ในระดับ 6-6.5% แต่ปัจจัยที่ควรคำนึงก่อนตัดสินใจลงทุนในอินโดนีเซีย ได้แก่ ประเภทของธุรกิจ พื้นฐานด้านภาษีในอินโดนีเซีย เช่น ภาษีบริษัท, ภาษีมูลค่าเพิ่ม, ภาษีหัก ณ ที่จ่าย และภาษีล่าสุดซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อเร็วๆ นี้คือ ภาษีท่องเที่ยว ซึ่งจัดเก็บจากภาคธุรกิจบางประเภท และอีกปัจจัยหนึ่งที่ไม่ควรมองข้ามคือ กฎเกณฑ์เกี่ยวกับการหลีกเลี่ยงภาษีซึ่งมีผลบังคับใช้อยู่ในขณะนี้
ด้านการลงทุนในประเทศมาเลเซีย ปัจจุบัน มีโครงการปฏิรูปด้านเศรษฐกิจซึ่งคาดว่าจะทำให้เศรษฐกิจมาเลเซียมีความมั่นคง และยั่งยืนในระยะยาวต่อไป นอกจากนี้ มาเลเซียยังมีแรงจูงใจด้านภาษีสำหรับนักลงทุนท้องถิ่น และต่างประเทศ
ส่วนการลงทุนในประเทศสิงคโปร์ ซึ่งยังมีศักยภาพในการแข่งขันแข็งแกร่งติดอันดับของเอเชีย ประกอบกับข้อได้เปรียบด้านอื่นๆ ในการลงทุน และแรงจูงใจด้านภาษี ทำให้สิงคโปร์มีความน่าสนใจมาก สำหรับการเป็นฐานในการลงทุน ขณะที่เวียดนามก็มีการสร้างแรงจูงใจด้านภาษีสำหรับธุรกิจบางประเภท เช่น ภาษีนำเข้า ไปจนถึงการหักลดหย่อนเพื่อการท่องเที่ยวสำหรับภาษีเงินได้ ตลอดจนการยกเว้นภาษีเงินได้ส่วนบุคคลสำหรับชาวต่างชาติที่ถูกส่งไปปฏิบัติงานในเวียดนาม
อย่างไรก็ตาม นักลงทุนในประเทศไทยเองก็ยังต้องการการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI ในการส่งเสริมให้นักลงทุนในประเทศไทยไปลงทุนในต่างประเทศ และหลักเกณฑ์สำคัญด้านกฎระเบียบต่างๆ และเรื่องภาษีที่นักลงทุนในไทยควรคำนึงถึงเมื่อไปลงทุนในประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นับตั้งแต่การตัดสินใจลงทุน การบริหารภาษีระหว่างการดำเนินธุรกิจ ไปจนถึงสิ้นสุดการลงทุน