เป็นเรื่องเมื่อประธานคณะกรรมาธิการตรวจสอบการใช้จ่ายเงินงบประมาณแผ่นดิน (Public Accounts Committee) ของอังกฤษ กล่าวกับประธานกูเกิลยุโรปเหนืออย่างรุนแรง โดยบอกว่าพฤติกรรมเรื่องภาษีของกูเกิลนั้นแสน "เจ้าเล่ห์-คาดการณ์ไว้ล่วงหน้าแล้ว-ไร้จรรยาบรรณ" แถมจวกเละกรณีกูเกิลยืนยันว่าธุรกิจของกูเกิลที่สามารถทำเงินได้หลายพันล้านปอนด์อังกฤษนั้นไม่ควรถูกเก็บภาษี
และไม่น่าแปลกใจ มาร์การ์เร็ต ฮ็อดจ์ (Margaret Hodge) ประธานส.ต.ง.อังกฤษ ยกคติบริษัท Don't be evil ขึ้นมาโจมตีตรงๆว่า 'I think that you do evil' อย่างกล้าหาญ
สำนักข่าว Guardian ของอังกฤษรายงานว่าขณะนี้ยักษ์ใหญ่ผู้ให้บริการออนไลน์ของโลกอย่างกูเกิล (Google) กำลังถูกโจมตีเรื่องมาตรฐานการจ่ายภาษีในประเทศอังกฤษ โดยรายงานระบุว่ากูเกิลยุโรปเหนือได้ชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการตรวจสอบการใช้จ่ายเงินงบประมาณแผ่นดินของอังกฤษ ว่าธุรกิจที่กูเกิลทำเงินจากชาวอังกฤษมูลค่าหมายล้านปอนด์นั้นไม่ควรถูกเก็บภาษีตามกฏหมายรายได้และศุลกากรหรือ Revenue & Customs
คำอ้างของกูเกิลทำให้ประธานส.ต.ง.อังกฤษฟิวขาด และส่งข้อความถึงแม็ต บริตติน (Matt Brittin) ประธานกูเกิลประจำภาคพื้นยุโรปเหนืออย่างรุนแรง โดยไม่เพียงกูเกิล ยักษ์ใหญ่อย่างอเมซอน (Amazon) ก็เข้าข่ายถูกส.ต.ง.อังกฤษและส.ส.อังกฤษโจมตีเช่นกัน
ทั้งกูเกิลและอเมซอนถูกเรียกตัวให้เข้าชี้แจงต่อรัฐสภาอังกฤษอีกครั้งหลังจากถูกเรียกไปชี้แจงเรื่องการจ่ายภาษีในอังกฤษตั้งแต่ 6 เดือนที่แล้ว ฝั่งรัฐบาลอังกฤษนั้นมองว่าเป็นเรื่องสมควรที่กูเกิลและอเมซอนต้องจ่ายภาษีเพราะทั้งคู่สามารถทำรายได้มหาศาลบนแผ่นดินอังกฤษ รายงานเบื้องต้นระบุว่า ลูกค้าชาวอังกฤษสามารถทำเงินให้ทั้ง 2 บริการมากกว่า 1 ใน 10 ของทั้งหมด โดยตลาดอังกฤษของทั้ง 2 บริการนั้นเติบโตมากกว่า 20% เมื่อปีที่ผ่านมา
กูเกิลกลับมองตรงกันข้าม โดยประธานกูเกิลยุโรปเหนือระบุว่าไม่มีพนักงานรายใตในสำนักงานกูเกิลประเทศอังกฤษ ที่มีหน้าที่"ปิดการขายโฆษณา" เนื่องจากอำนาจในการปิดการขายนั้นอยู่ที่กูเกิลประเทศไอร์แลนด์เท่านั้น เหตุผลนี้ทำให้กูเกิลชี้แจงว่ารัฐสภาอังกฤษเข้าใจผิดเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ซึ่งก่อนหน้านี้ ส.ส. อังกฤษให้ข้อมูลว่าได้รับเบาะแสจากอดีตพนักงานกูเกิล ที่ได้รับเงินมากกว่าเงินเดือน 2-3 เท่าตัวเป็นค่า "ปิดการขาย"
พูดง่ายๆคือ ในเมื่อไม่มีใครใน"กูเกิลประเทศอังกฤษ"ทำหน้าที่ปิดการขาย อังกฤษก็ไม่มีสิทธิ์เก็บภาษี แม้ว่าทีมงานกูเกิลประเทศอังกฤษจะมีส่วนในการเจรจาการขายก็ตาม
ทั้งหมดนี้ ประธานกูเกิลยุโรปเหนือระบุว่า พนักงานกูเกิลอังกฤษไม่สามารถจำหน่ายสิ่งที่พวกเขา (กูเกิลอังกฤษ) ไม่ได้เป็นเจ้าของ โดยเบื้องต้น คาดว่ารัฐบาลอังกฤษและไอร์แลนด์อาจจะมีการเจรจากันถึงขอบเขตการเก็บภาษีต่อไป
น่าเสียดายที่รายงานของ Guardian ไม่กล่าวถึงการชี้แจงของอเมซอนแม้แต่น้อย
นอกจากกูเกิล เฟซบุ๊ก (Facebook) และอีกหลายยักษ์ใหญ่อินเทอร์เน็ตที่มีรายได้จากต่างประเทศหลายพันล้านดอลลาร์ต่อปี แต่แทบจะไม่เสียภาษีเลย โดยวิธีที่บริษัทเหล่านี้ใช้ในการงดการจ่ายภาษี คือการโอนรายได้ไปมาระหว่างบริษัทในเครือของตัวเองข้ามไปยังประเทศที่ไม่ต้องเสียภาษีรายได้ ซึ่งหนึ่งในนั้นมีไอร์แลนด์รวมอยู่ด้วย และที่ผ่านมา วิธีงดจ่ายภาษีลักษณะนี้ได้ผลจนไม่มีประเทศใดสามารถบีบให้บริษัทเหล่านี้จ่ายภาษีได้
ลักษณะนี้เกิดขึ้นในกูเกิลประเทศไทยเช่นกัน ที่ผ่านมา 'อริยะ พนมยงค์ ' หัวหน้าฝ่ายธุรกิจประจำประเทศไทยของ "บริษัท กูเกิล ประเทศไทย จำกัด" เคยให้สัมภาษณ์ว่ากูเกิลประเทศไทยไม่มีการเตรียมทีมงานเพื่อดูแลการจ่ายเงินของธุรกิจ Adsense โดยกระบวนการทุกอย่างจะเป็นลักษณะเดิมเหมือนช่วงก่อนการตั้งกูเกิลประเทศไทย และการจ่ายเงินให้กับพันธมิตรที่ร่วมติดโฆษณาออนไลน์ของกูเกิล (Affiliate) จะยังดำเนินการจากต่างประเทศเช่นเดิม
ครั้งนั้นอริยะยืนยันว่า "ไม่ว่าโครงสร้างกูเกิลไทยจะเป็นแบบไหน หากกฎหมายระบุว่าต้องจ่ายภาษีเราก็ต้องจ่าย เรายินดีปฏิบัติตามข้อบังคับของกฏหมายสรรพากรของทุกประเทศที่ตั้งสำนักงาน ขึ้นอยู่กับองค์กรรัฐเลย"
"กูเกิลไทยแลนด์"จะรับผิดชอบงาน 3 ส่วน การตลาด ทีมขาย และฝ่ายปฏิบัติการ (operation) โดยจะมีทีมเซลที่เข้าถึงกลุ่ม SMB ทุกขนาดทั้งใหญ่กลางเล็ก แต่ไม่มีอำนาจในการปิดการขายเช่นเดียวกับกูเกิลประเทศอังกฤษ
ประเทศไทยก็ไม่ต่างจากประเทศอื่นๆที่ไม่สามารถกดดันให้กูเกิลเสียภาษีตามกฏหมาย ก่อนหน้านี้ ผู้จัดการไซเบอร์เคยสอบถามไปยังโฆษกกรมสรรพากรตั้งแต่ปี 2552 ถึงนโยบายการเก็บภาษีของบริษัทออนไลน์ต่างชาติที่ไม่มีสำนักงานในประเทศไทย ปรากฏว่าหน้าห้องของท่านโฆษกได้แต่ผัดผ่อน ไม่ยอมตอบคำถามโดยระบุว่ากำลังอยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูล กระทั่งเวลาผ่านไปหลายเดือนจึงให้คำตอบว่า ไม่สามารถรวบรวมข้อมูลเพื่อตอบคำถามได้
ผู้จัดการไซเบอร์จึงสอบถามไปยังสมาคมบัตรเครดิต ตัวแทนสมาคมระบุว่าไม่สามารถให้ข้อมูลตัวเลขการจ่ายเงินผ่านบัตรเครดิตแก่กูเกิลของบริษัทเอกชนไทยได้ เนื่องจากฐานข้อมูลขั้นต้นไม่มีการจำแนกข้อมูลไว้
ในช่วงเวลานั้น นายอวยพร ตันละมัย หุ้นส่วนด้านภาษีอากร (Tax Partner) กลุ่มบริษัทดีลอยท์ ทู้ช โธมัทสุ ไชยยศ ผู้ให้คำปรึกษาด้านภาษีอากรสำหรับบริษัทไทยและบริษัทต่างประเทศ ให้ความเห็นเกี่ยวกับความเป็นไปได้ของการเก็บภาษีบริษัทออนไลน์ข้ามชาติว่า เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก โดยต่างประเทศไม่ได้ใช้วิธีเก็บภาษีแต่ใช้วิธีส่งเสริมการเติบโตของภาพรวม
"ไม่ใช่กูเกิลเจ้าเดียว ธุรกิจออนไลน์ขยายตัวมาก สามารถทำธุรกิจข้ามประเทศได้แบบไร้พรมแดน ตรงนี้ในประเทศอื่นๆก็มีปัญหา ไม่ใช่เฉพาะกับประเทศไทย ใช้การส่งเมล แฟ็กซ์ และการโทรศัพท์โดยไม่มีการตั้งร้าน ทางออกคือสรรพากรต้องเข้าถึงระบบให้มากกว่านี้ ต้องดูว่ามีการขายยังไง จะได้ดูช่องทางการแก้กฏหมาย อาจจะร่วมมือกับแบงค์ชาติ เพื่อหามาตรการที่ไม่กระทบการเติบโต เชื่อว่าการเก็บภาษีเป็นเรื่องรอง เรื่องหลักคือทำอย่างไรให้การแข่งขันกับต่างประเทศไม่เสียเปรียบ เราควรต้องวางแผนกลยุทธ์ของประเทศ ให้มีการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆให้เราแข่งขันกับคนอื่นได้ จะได้ดึงรายได้เข้ามาในประเทศ"
ครั้งนั้น อวยพรอธิบายว่าหลายประเทศรวมถึงไทยจะมีข้อตกลงอนุสัญญาภาษีซ้อน หลักใหญ่ใจความของอนุสัญญาคือการหลีกเลี่ยงภาษีซ้ำซ้อนหากมีธุรกรรมใดๆเกิดขึ้น เช่น หากเก็บภาษีที่ต้นทางแล้วจะไม่มีการเก็บภาษีที่ปลายทางอีก อนุสัญญานี้ทำให้โอกาสการเก็บภาษีธุรกิจออนไลน์เป็นไปได้น้อยมาก
"อย่างกูเกิล อย่าลืมว่าเค้าก็เสียภาษีเหมือนกันที่สหรัฐฯ อาจจะเสียมากกว่าหากจะต้องเสียที่ประเทศไทยก็ได้ การเก็บภาษีมีข้อดีเพียงส่วนเดียว ทำได้ก็ดีแต่อาจจะมีปัญหาตามมา กฏหมายเราตอนนี้ทำได้บางอย่างเท่านั้น ควรหาทางพัฒนาการค้าเราให้ดีจะดีกว่า อีกอย่างคือทิศทางการเก็บภาษีกำลังกลายเป็นเรื่องรองในตลาดโลก เพราะตอนนี้มีแต่นโยบายที่ทำให้การเก็บภาษีอยู่ในอัตราต่ำที่สุด เพื่อส่งเสริมการเติบโตของเศรษฐกิจภาพรวม"
คำให้สัมภาษณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อปี 2552 และรูปการณ์นี้ยังคงเดิมถึงปี 2556 ไม่แน่ อังกฤษอาจจะเป็นประเทศแรกที่ทำให้เกิดสิ่งใหม่ในวงการออนไลน์โลกก็ได้ ไม่ใช่สรรพากรไทยที่เก็บภาษีจากชามก๋วยเตี๋ยวจนคนบ่นทั้งเมือง.