xs
xsm
sm
md
lg

GUNKUL รับรายได้ บ.ลูกขายไฟครบ 30.9 MW มิ.ย.นี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“กันกุล ชูบุ พาวเวอร์เจน” บริษัทย่อย “กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง” เดินเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้ากำลังการผลิต
30.9 เมกะวัตต์ จ่ายไฟเข้าระบบให้ กฟภ.เรียบร้อยแล้วในเดือนมิถุนายน “สมบูรณ์ เอื้ออัชฌาสัย” ระบุโครงการดังกล่าวช่วยเพิ่มฐานรายได้ให้กลุ่มบริษัทมากยิ่งขึ้น คาดหนุนรายได้เข้าบริษัท 280 ล้านบาทต่อปี เตรียมสยายปีกลงทุนพลังงานทดแทนแดด ลม ทั้งในประเทศ และต่างประเทศเพิ่ม

นายสมบูรณ์ เอื้ออัชฌาสัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ GUNKUL เปิดเผยว่า ขณะนี้ บริษัท กันกุล ชูบุ พาวเวอร์เจน จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ GUNKUL สามารถดำเนินการผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้าในเชิงพาณิชย์ทั้งหมด จำนวน 6 สัญญา กำลังการผลิตไฟฟ้ารวมที่ได้รับการอนุมัติคือ 30.9 เมกะวัตต์ ให้แก่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ได้ทั้งหมดแล้ว โดยคาดว่าจะสร้างรายได้ให้แก่บริษัทประมาณ 280 ล้านบาทต่อปี ตามสัดส่วนการถือหุ้น และมีกำไรประมาณ 40% (ในระยะ 10 ปีแรกที่ได้รับ Adder 8 บาท) ซึ่งโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของบริษัทถือว่าเป็นโครงการที่ดีมาก เนื่องจากรัฐบาลให้การสนับสนุน และมองว่าน่าจะเป็นปัจจัยส่งเสริมให้บริษัทเติบโตอย่างมั่นคงต่อไป

นอกจากนี้ โครงการดังกล่าวจะเป็นศูนย์รวมในการถ่ายทอดเทคโนโลยี และจัดตั้งเป็นศูนย์การเรียนรู้ให้แก่นักเรียน และประชาชนที่มีความสนใจเกี่ยวกับโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ อีกทั้งยังช่วยลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึงปีละ 30,000 ตัน/ปี เทียบเท่ากับการใช้รถบัสถึง 30,000 คัน และยังสามารถจำหน่ายไฟให้แก่ประชาชนได้ถึง 30,000 ครัวเรือน อีกทั้งยังช่วยลดการนำเข้าน้ำมันได้ถึง 12,000 ลิตร

ทั้งนี้ โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ของ บริษัท กันกุล ชูบุ พาวเวอร์เจน จำกัด มีทั้งหมด 6 สัญญา โดยสัญญาแรกคือ โครงการโรงไฟฟ้าบ้านกล้วย 1 กำลังการผลิตขนาด 4.4 เมกะวัตต์ สัญญาที่ 2 โครงโรงไฟฟ้าบ้านกล้วย 2 กำลังการผลิตขนาด 3.0 เมกะวัตต์ ซึ่งทั้ง 2 โครงการตั้งอยู่ที่อำเภอชนแดน จังหวัดเพชรบูรณ์ ได้ดำเนินการผลิต และจำหน่ายกระแสไฟฟ้าในเชิงพาณิชย์ให้แก่ กฟภ. ตั้งแต่เดือนมกราคม 2554 และเดือนตุลาคม 2554 ตามลำดับ
ส่วนสัญญาที่เหลือ ประกอบด้วย โครงการโรงไฟฟ้าวิเชียรบุรี จ.เพชรบูรณ์ ขนาด 8.0 เมกะวัตต์,โครงการโรงไฟฟ้าบึงสามพัน จ.เพชรบูรณ์ ขนาด 3.0 เมกะวัตต์ และโครงการโรงไฟฟ้าเนินปอ จ. พิจิตร ขนาด 4.5 เมกะวัตต์ สามารถดำเนินการจำหน่ายไฟฟ้าในเชิงพาณิชย์ได้ทั้งหมดแล้วตั้งแต่เดือนมีนาคม และโครงการโรงไฟฟ้าศรีจุฬา จ.นครนายก ขนาด 8.0 เมกะวัตต์ เริ่มดำเนินการจ่ายไฟฟ้าในเดือนมิถุนายน 2556 นี้เป็นต้นไป และจะทยอยรับรู้รายได้เข้ามาในปีนี้ โดยได้อัตราส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder) ของไฟฟ้าในอัตรา 8 บาทต่อหน่วย

นายสมบูรณ์ กล่าวต่อว่า บริษัทยังมีแผนในการลงทุนด้านพลังงานทดแทนทั้งใน และต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง เพื่อผลักดันให้ผลการดำเนินงานในทุกภาคส่วนของธุรกิจที่บริษัทดำเนินการอยู่เติบโตอย่างแข็งแกร่ง โดยในส่วนของต่างประเทศบริษัทเตรียมลงทุนในระบบสาธารณูปโภคในประเทศสหภาพพม่า ทั้งนี้ โครงการอยู่ในขั้นตอนการศึกษาการลงทุนร่วมกับบริษัทท้องถิ่นในประเทศสหภาพพม่า คาดว่าน่าจะได้ข้อสรุปภายในปีนี้ รวมถึงร่วมประมูลโครงการก่อสร้างพลังงานแสงอาทิตย์เพิ่ม และเพิ่มการลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมในประเทศไทย มูลค่าโครงการประมาณ 4,500 ล้านบาท

“ยังมีอีกหลายโครงการที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งจะส่งผลบวกต่อผลการดำเนินงานของบริษัทแทบทั้งสิ้น เมื่อบวกเข้ากับงานในมือที่ปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 1,200 ล้านบาท และคาดว่าสิ้นปีนี้จะเพิ่มขึ้นเป็น 1,600 ล้านบาท น่าจะผลักดันรายได้เติบโตได้ตามเป้าหมายที่วางไว้คือไม่ต่ำกว่า 10% ได้” กรรมการผู้จัดการ GUNKUL กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น