xs
xsm
sm
md
lg

กองทุนอนุรักษ์ฯ ควัก 1.8 พันล้านบาทหนุนอาคารรัฐติดโซลาร์เซลล์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กองทุนอนุรักษ์ฯ ควัก 1.8 พันล้านบาทหนุนติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาอาคารภาครัฐนำร่อง คาดช่วยประหยัดพลังงาน 476 ล้านบาท/ปี

นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน เปิดเผยภายหลังการประชุม ว่า ที่ประชุมฯ ได้อนุมัติเงินกองทุนฯ จำนวน 1,847 ล้านบาทให้กระทรวงพลังงานไปดำเนินการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (Solar Rooftop) ให้อาคารภาครัฐ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีพลังงานทดแทนที่มีความเหมาะสมในการสนับสนุนเพื่อประหยัดพลังงานไฟฟ้า ลดค่าใช้จ่าย และลดการนำเข้าเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าได้

ทั้งนี้ การดำเนินโครงการดังกล่าวเป็นไปตามเป้าหมายการผลิตพลังงานทดแทนจากแสงอาทิตย์ตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก 25% ใน 10 ปี (พ.ศ. 2555-2564) เท่ากับ 2,000 เมกะวัตต์ ซึ่งได้กำหนดกลยุทธ์การดำเนินการส่งเสริมระบบขนาดเล็กที่สามารถติดตั้งได้ในชุมชนและระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (Solar Rooftop) ให้ได้ 1,000 เมกะวัตต์ใน 10 ปี โดยพิจารณาติดตั้งระบบดังกล่าวในอาคารบ้านเรือน บ้านจัดสรร คอนโดมิเนียม โรงงานอุตสาหกรรม อาคารสำนักงาน และอาคารภาครัฐ เป็นต้น

ปัจจุบันอาคารภาครัฐกระจายอยู่ทั่วประเทศประมาณ 5,298 แห่ง มีการใช้พลังงานในภาพรวมประมาณ 673 ล้านหน่วย/ปี หรือปีละ 57 ktoe ซึ่งภาครัฐมีภาระค่าใช้จ่ายสำหรับค่าไฟฟ้าในอาคารภาครัฐกว่า 2,500 ล้านบาท/ปี ดังนั้น การติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (Solar Rooftop) จะสามารถผลิตไฟฟ้าใช้ในอาคารภาครัฐได้เอง และยังสามารถช่วยตอบสนองความต้องการใช้พลังงานในช่วงกลางวัน (Peak load) อีกด้วย

สำหรับโครงการดังกล่าวตั้งเป้าหมายติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาอาคารศาลากลางจังหวัดในเขตรับผิดชอบของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคทั้ง 74 จังหวัด และหลังคาอาคารของรัฐในเขตจังหวัดในความรับผิดชอบของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคทั้ง 74 จังหวัด เช่น อบต. เทศบาล ฯลฯ รวมทั้งสิ้นประมาณ 25 เมกะวัตต์ โดยแบ่งเป็นจังหวัดขนาดใหญ่ที่มีจำนวนตำบลมากกว่า 180 ตำบล จำนวน 8 จังหวัด รวมกำลังการผลิตติดตั้ง 6 เมกะวัตต์ จังหวัดขนาดกลางที่มีจำนวนตำบลระหว่าง 90-180 ตำบล จำนวน 27 จังหวัด รวมกำลังการผลิตติดตั้ง 10.5 เมกะวัตต์ และจังหวัดขนาดเล็กที่มีจำนวนตำบลน้อยกว่า 90 ตำบลจำนวน 39 จังหวัด รวมกำลังการผลิตติดตั้ง 8.5 เมกะวัตต์

“สำหรับการดำเนินการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์บนหลังคานำร่องในอาคารของรัฐในภูมิภาคครั้งนี้ กระทรวงพลังงานคาดการณ์ว่าจะช่วยประหยัดพลังงานไฟฟ้าได้ 36.5 kwh/ปี คิดเป็นเงินประหยัดได้ปีละ 146 ล้านบาท ลดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าประมาณ 11 ล้านลิตร/ปี หรือปีละประมาณ 330 ล้านบาท นอกจากนี้ยังช่วยลดปัญหาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ได้ประมาณ 18,980 ตัน/ปี ลดการปล่อยซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (Sox) ได้ประมาณ 5 ตัน/ปี และลดการปล่อยไนโตรเจนออกไซด์ (NOx) ได้ประมาณ 52 ตัน/ปี” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานกล่าว

นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ ยังเห็นชอบอนุมัติงบประมาณจำนวน 300 ล้านบาทให้กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ดำเนินโครงการศึกษาวิจัยต้นแบบ “วิสาหกิจชุมชนพลังงานสีเขียวจากพืชพลังงาน (ก๊าซชีวภาพจากพืชพลังงาน)” เพื่อส่งเสริมให้นำพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกต่างๆ ในชุมชนที่มีศักยภาพมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ซึ่งนอกจากจะช่วยให้ประเทศมีความมั่นคงด้านพลังงาน ยังเป็นการช่วยสร้างอาชีพที่มีรายได้มั่นคง ยกระดับฐานะทางเศรษฐกิจให้แก่ชุมชนในท้องถิ่นอีกด้วย

ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวจะส่งเสริมให้เกษตรกรรวมกลุ่มกันเป็นวิสาหกิจชุมชนหรือสหกรณ์การเกษตรทำการปลูกพืชพลังงาน โดยมีสัญญาซื้อขายพืชพลังงานกับโรงงานผลิตก๊าซชีวภาพ โดยก๊าซชีวภาพที่ได้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ใน 3 รูปแบบ คือ ผลิตไฟฟ้า ผลิตก๊าซชีวภาพอัด (Compress Bio Gas : CBG) และนำไปใช้เป็นก๊าซหุงต้มแทนก๊าซแอลพีจี (LPG) นอกจากนี้ยังมีการจัดตั้งศูนย์บริการข้อมูลโครงการวิสาหกิจชุมชนพลังงานสีเขียวจากพืชพลังงาน (One Stop Service) ทำหน้าที่เป็นศูนย์บริการข้อมูลและประชาสัมพันธ์โครงการฯ ติดตามประเมินผลการดำเนินงาน พร้อมจัดตั้งต้นแบบโครงการวิสาหกิจชุมชนพลังงานสีเขียวจากพืชพลังงานเพื่อให้การสนับสนุนภาคเอกชนนำไปขยายผลต่อไป

“กระทรวงพลังงานคาดว่าการดำเนินโครงการดังกล่าวนอกจากจะทำให้มีการผลิตและใช้พลังงานทดแทนอย่างกว้างขวางแล้ว ยังเป็นการช่วยเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานในประเทศ และยังช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการปลูกพืชพลังงานอย่างน้อย 3,500 บาท/ไร่/ปี” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น