xs
xsm
sm
md
lg

คาดสินเชื่อแบงก์ Q2 ยังขยายตัวดี ธปท. ยอมรับ “รถคันแรก” ดันเอ็นพีแอลพุ่ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ธปท. ชี้แนวโน้มตลาดสินเชื่อไตรมาส 2/56 ยังขยายตัวดี ส่วนไตรมาส 1/56 โตลดลงแค่เล็กน้อย โดยสินเชื่อรถยนต์ (ลีสซิ่ง) เป็นสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคที่มีเอ็นพีแอลเพิ่มขึ้นมากที่สุด 1,700 ล้านบาท หรือเพิ่มจาก 1.15 หมื่นล้านบาท เป็น 1.32 หมื่นล้านบาท

นายอานุภาพ คูวินิชกุล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า สินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ในไตรมาส 1 ที่ผ่านมาขยายตัว 13.2% ชะลอลงเล็กน้อยจากไตรมาสก่อนหน้าที่ 13.7% ส่วนแนวโน้มการขยายตัวของสินเชื่อในไตรมาส 2 ปีนี้จะเป็นอย่างไร เป็นเรื่องที่ประเมินยาก เพราะมีตัวแปรจากหลายปัจจัยจัย แต่ทิศทางน่าจะไปในทิศทางเดียวกันอยู่ แม้ภาพรวมของสินเชื่อไตรมาส 1 จะชะลอลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปีที่แล้ว แต่การขยายตัวของสินเชื่อน่าจะมีแนวโน้มดีตามการเติบโต และความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจที่ยังอยู่ในระดับที่ดี

ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานของระบบธนาคารพาณิชย์ ในไตรมาส 1 ที่ผ่านมา พบว่า ระบบธนาคารพาณิชย์มีเสถียรภาพ สินเชื่อขยายตัวได้ต่อเนื่อง คุณภาพสินเชื่ออยู่ในเกณฑ์ดี โดยหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ทั้งระบบมีจำนวน 2.56 แสนล้านบาท ของสินเชื่อรวมทั้งระบบประมาณ 9.8 ล้านล้านบาท ซึ่งเมื่อคิดเป็นสัดส่วนของเอ็นพีแอลต่อสินเชื่อรวมที่ยังไม่หักกันสำรองแล้วลดลงเหลือ 2.2% ของสินเชื่อรวม จากไตรมาสก่อนอยู่ที่ 2.3% ของสินเชื่อรวม โดยสินเชื่อรถยนต์ (ลีสซิ่ง) เป็นสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคที่มีเอ็นพีแอลเพิ่มขึ้นมากที่สุด 1,700 ล้านบาท หรือเพิ่มจาก 1.15 หมื่นล้านบาท เป็น 1.32 หมื่นล้านบาท

ขณะที่กำไรสุทธิของระบบธนาคารพาณิชย์เพิ่มเป็น 5.23 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนถึง 33.5% ด้านฐานะเงินกองทุนก็แข็งแกร่ง โดยเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (บีไอเอส) ทั้งระบบเฉลี่ยอยู่ที่ 15.8% แม้จะลดลงเล็กน้อยจากไตรมาสก่อนหน้าที่ 16.3% เนื่องจากการปรับลดการนับตราสารหนี้ด้อยสิทธิตามเกณฑ์การนับเงินกองทุนใหม่ แต่ยังถือว่าบีไอเอสสูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำที่ ธปท.กำหนดไว้ที่ 8.5%

อย่างไรก็ตาม ภาวะเศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกปีนี้ ขยายตัวจากการใช้จ่ายภาคเอกชน ทั้งเพื่อการอุปโภคบริโภค และการลงทุน ส่งผลให้สินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ขยายตัวต่อเนื่อง โดยสินเชื่อธุรกิจขยายตัว 10.4% จากไตรมาสก่อน 10.6% สินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่สินเชื่อขยายตัว 4.7% ชะลอลงจาก 7% ในไตรมาสก่อนหน้า สินเชื่อเอสเอ็มอีขยายตัว 16.2% จาก 14.1% ในไตรมาสก่อนหน้า และสินเชื่ออุปโภคบริโภค ขยายตัว 20% จากไตรมาสก่อนที่ขยายตัว 21.6% โดยสินเชื่อเติบโตภายใต้เอ็นพีแอลที่ต่ำ แถมธนาคารมีสัดส่วนเงินสำรองต่อหนี้เสียที่เพิ่งกันสำรองเพิ่มขึ้นจากสิ้นปีก่อนถึง 158.9% ส่วนสภาพคล่องของระบบธนาคารพาณิชย์ยังทรงตัว โดยเงินฝากเพิ่มขึ้น 22.4% แม้ว่าสินเชื่อจะขยายตัวดี
กำลังโหลดความคิดเห็น