xs
xsm
sm
md
lg

เติมเงินSME-ไอแบงก์ คลังจับตาปัญหาหนี้เสียต่อ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คลังใส่เงินเพิ่มทุนเอสเอ็มอีแบงก์-ไอแบงก์ล็อตแรกแล้วรวมพันล้าน หวังฟื้นความเชื่อมั่น พร้อมเตรียมก๊อก 2 อีก 5 พันล้านหลังต.ค.ปีนี้ หลังพบการแก้ไขปัญหาหนี้เสียมีความคืบหน้าตามแผน พร้อมมอบสศค.กำกับดูแลอย่างใกล้ชิด

นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวถึงความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาหนี้เสียของสถาบันการเงินเฉพาะกิจทั้ง 2 แห่ง คือ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยหรือไอแบงก์ และธนาคารเพื่อการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ เอสเอ็มอีแบงก์ ว่าในส่วนของไอแบงก์นั้นได้อนุมัติการเพิ่มทุนจำนวน 555 ล้านบาทไปตั้งแต่สัปดาห์ที่ผ่านมา ส่วนของเอสเอ็มอีแบงก์นั้นคาดว่าจะใส่เงินเพิ่มทุนจำนวน 450 ล้านบาทได้ภายในเดือนเมษายนนี้

ทั้งนี้ ถือเป็นการเพิ่มทุนล็อตแรกให้กับสถาบันการเงินทั้ง 2 แห่งหลังจากที่กระทรวงการคลังอนุมัติแผนฟื้นฟูฐานะและการแก้ไขปัญหาหนี้เสียตามที่เสนอมา โดยใช้เงินที่ได้รับจัดสรรในปีงบประมาณปี 2556 ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้ทั้ง 2 แห่งมีวงเงินที่จะใช้หมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจได้เพียงพอ เพราะขณะนี้การแก้ไขปัญหาหนี้เสียก็มีความคืบหน้าขึ้น ซึ่งจะทำให้แบงก์เริ่มมีกำไรกลับเข้ามา

“การใส่เงินเพิ่มทุนครั้งนี้น่าจะช่วยสร้างให้เกิดความมั่นใจได้ว่ากระทรวงการคลังพร้อมเข้าไปดูแลแก้ไขปัญหาฐานะของทั้ง 2 แห่ง เพื่อให้เกิดความมั่นคงในระยะยาว และหลังจากติดตามความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาอีกระยะคาดว่าภายในเดือนตุลาคมนี้จะสามารถใส่เงินเพิ่มทุนล็อตต่อไปได้ โดยใช้เงินจากที่ได้รับจัดสรรในงบประมาณปี 2557”นายอารีพงศ์กล่าว

สำหรับวงเงินเพิ่มทุนล็อตต่อไปน่าจะทยอยดำเนินการหลังจากเดือนตุลาคมนี้ โดยกระทรวงการคลังได้เสนอขอตั้งงบประมาณในปี 2557 ไว้เบื้องต้น 5 พันล้านบาท อาจจะให้ทั้ง 2 แห่งอย่างละครึ่ง แต่ก็สามารถปรับเปลี่ยนได้เพราะมีสถาบันการเงนรัฐรายอื่นเสนอขอใช้เงินเข้ามาด้วยเช่นกัน และหากเอสเอ็มอีแบงก์และไอแบงก์สามารถแห้ไขปัญหาหนี้เสียได้ตามแผนที่วางไว้ก็จะทำให้มีกำไรกลับเข้ามาหลักพันล้านบาทความจำเป็นในการใช้เงินเพิ่มทุนก็จะลดน้อยลงตามไปด้วย

ทั้งนี้ เนื่องจากแนวทางในการแก้ไขหนี้เสียของทั้งสองแห่งมีความคืบหน้าค่อนข้างมาก โดยใช้กลยุทธ์ในการดึงลูกค้าหนี้เสียรายใหญ่ 100 รายแรกเข้ามาเจรจาก่อน คาดสิ้นปีเอสเอ็มอีแบงก์จะแก้ไขหนี้เสียได้ครึ่งหนึ่งประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาท ส่วนไอแบงก์น่าจะแก้ไขได้ครึ่งหนึ่งประมาณ 1.2 หมื่นล้านบาท

“กระทรวงการคลังก็ได้มีการมอบนโยบายชัดเจนว่าลูกค้าที่มีเจตนาเบี้ยวหนี้ ต้องดำเนินการอย่างเด็ดขาด ไม่อนุมัติวงเงินใหม่ให้จนกลายเป็นหนี้เสียซ้ำซาก หรือ เอ็นพีแอลรีเอ็นทรีเด็ดขาด” นายอารีพงศ์ กล่าวและว่า เพื่อให้แนวทางในการกำกับดูและสถาบันการเงินเฉพาะกิจในอนาคตมีความชัดเจนได้มอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) รับผิดชอบกำกับดูแลแต่เพียงหน่วยงานเดียว จากที่ผ่านมาจะดูแลร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ( สคร.)เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการติดตามความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหา และการตรวจสอบการปฎิบัติงานว่าเป็นไปตามแผนฟื้นฟูฯที่วางไว้หรือไม่ รวมถึงการนำเอาข้อเสนอแนะของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ที่ตรวจสอบสถาบันการเงินของรัฐเป็นประจำทุกปีทั้งเรื่องของฐานะทางการเงินและคุณภาพสินเชื่อมาใช้ในการกำกับดูแลเชิงลึกต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น