xs
xsm
sm
md
lg

ก.คลังเห็นชอบฟื้นฟูเอสเอ็มอีแบงก์ 3 ปี พร้อมใส่ทุนเพิ่ม 555 ล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงการคลัง
กระทรวงการคลัง เห็นชอบแผนฟื้นฟูเอสเอ็มอีแบงก์ ตั้งเป้าระยะเวลา 3 ปี แก้หนี้เสีย 3.2 หมื่นล้านบาท ปีคาดลดได้ 1 หมื่นล้านบาท ปีที่ สอง 8 พันล้านบาท และปีที่ 3 เหลือหนี้เสีย 1 หมื่นล้านบาท ส่วนแผนปล่อยสินเชื่อสูงสุดไม่เกินรายละ 15 ล้านบาท โดยธนาคารต้องเสนอแผนฟื้นฟู หลัง ก.คลังใส่เงินทุนเพิ่ม 555 ล้านบาท

นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังได้เห็นชอบแผนฟื้นฟูธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือเอสเอ็มอีแบงก์ ในเบื้องต้นแล้ว โดยแผนฟื้นฟูดังกล่าวจะมีระยะเวลา 3 ปี เพื่อแก้ไขหนี้เสียของธนาคารที่มีอยู่ปัจจุบัน 3.2 หมื่นล้านบาท จากสินเชื่อทั้งหมด 9.7 หมื่นล้านบาท โดยมีเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS) อยู่ที่ 1 เท่า ให้ลดลงภายในปีนี้ให้ได้ 1 หมื่นล้านบาท โดยสิ้นปีนี้ หนี้เสียจะต้องอยู่ที่ 2.2 หมื่นล้านบาท และ BIS ที่ 5 เท่า

สำหรับการดำเนินแผนฟื้นฟูในปีที่ 2 จะต้องลดหนี้เสียให้ได้อีก 8 พันล้านบาท ถึง 1 หมื่นล้านบาท และในปีที่ 3 คือ สิ้นปี 2558 หนี้เสียของธนาคารจะต้องลดลงเหลืออยู่ไม่เกิน 1 หมื่นล้านบาท

ทั้งนี้ ในระหว่างที่ธนาคารมีเงินกองทุน BIS ต่ำกว่ามาตรฐาน 8.5% จะถูกควบคุมให้ปล่อยสินเชื่อได้เฉพาะรายย่อยรายละไม่เกิน 15 ล้านบาทเท่านั้น ไม่ให้ปล่อยกู้รายใหญ่เหมือนในอดีต ที่บางรายมีการปล่อยกู้ 500-800 ล้านบาท อีกต่อไป

นอกจากนี้จะมีการปรับการปล่อยสินเชื่อใหม่ ให้มีการอนุมัติโดยคณะกรรมการ และการคิดอัตราดอกเบี้ยตามความเสี่ยงของลูกค้ามากขึ้น ขณะเดียวกันก็ให้มีการแยกฝ่ายการบริหารความเสี่ยง และการปล่อยสินเชื่อออกจากกัน ตามข้อสังเกตของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ด้วย

ขณะเดียวกัน เอสเอ็มอีแบงก์จะต้องเสนอแผนฟื้นฟูให้คณะกรรมการของธนาคารเห็นชอบ ก่อนจะส่งเรื่องกลับมาให้กระทรวงการคลังรับทราบ หลังจากนั้นกระทรวงการคลังก็จะใส่เงินเพิ่มทุนให้ 555 ล้านบาท ซึ่งนอกจากเงินเพิ่มทุน ทางธนาคารมีแผนที่จะเพิ่มเงินกองทุนขั้นที่ 1 และ 2 ในรูปแบบอื่นๆ เพื่อให้เงินกองทุน BIS ขึ้นมาอยู่ในมาตรฐาน 8.5 เท่า

นายนริศ ชัยสูตร อธิบดีกรมธนารักษ์ ในฐานะประธานกรรมการเอสเอ็มอีแบงก์ เปิดเผยว่า นอกจากการปรับการปล่อยสินเชื่อแล้ว ธนาคารจะมีการปรับปรุงระบบไอที การหาแหล่งเงินกู้ต้นทุนต่ำ และมีการปรับโยกย้ายผู้บริหารและพนักงาน ที่สอดคล้องกับภารกิจของธนาคารมากขึ้น.
กำลังโหลดความคิดเห็น