ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจไทยพาณิชย์ ปรับคาดการณ์เศรษฐกิจปีนี้โต 5.1% จาก4.9% คาดไตรมาส 1 ปี 56 จีดีพีขยายตัว 6% พร้อมห่วงเบิกจ่ายงบรัฐล่าช้ากระทบจีดีพี
นางสุทธาภา อมรวิวัฒน์ หัวหน้าศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ และ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในปีนี้ยังมีศักยภาพ โดยในไตรมาส 1 ขยายตัวร้อยละ 6 และ ไตรมาส 2 ขยายตัวร้อยละ 3.5 ส่วนเศรษฐกิจทั้งปีนี้จะขยายตัวได้ร้อยละ 5.1 โดยมีแรงขับเคลื่อนหลักมาจากการใช้จ่ายของภาคครัวเรือนที่แข็งแกร่ง และการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องจากภาครัฐ โดยเฉพาะการลงทุนในโครงการบริหารจัดการน้ำ และ ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจ ในระยะต่อไป ซึ่งคาดว่าจะมีเม็ดเงินจากการใช้จ่ายในปีงบประมาณ 2556 ประมาณ 300,000 ล้านบาท และ รวมกับเม็ดเงินในโครงการลงทุนบริหารจัดการน้ำ อีก 140,000 ล้านบาท ทำให้มีเม็ดเงินรวมที่รัฐบาลจะใช้จ่ายในปีงบประมาณ 2556 เท่ากับ 440,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 4 ของจีดีพี แต่หากมีการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐล่าช้า จะส่งผลให้มีเม็ดเงินลงทุนต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ร้อยละ 30 จะทำให้การลงทุนภาครัฐที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 21 เหลือเติบโตเพียงร้อยละ 17 และจะกระทบให้การขยายตัวของเศรษฐกิจลดลงร้อยละ 0.2 หรือเท่ากับจีดีพีปีนี้ขยายตัวร้อยละ 4.9 จากที่คาดว่าจะเติบโตได้ตามศักยภาพที่ร้อยละ 5.1
สำหรับการส่งออกของไทยในไตรมาส 1 ขยายตัวเพียงร้อยละ 4.3 และเพิ่มเป็นร้อยละ 4.5 ในไตรมาส 2 โดยจะฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป ทำให้ส่งออกทั้งปีขยายตัวร้อยละ 7.1 ซึ่งต่ำกว่าที่กระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าไว้ที่ร้อยละ 9 ซึ่งการส่งออกยังต้องเผชิญกับความท้าทายจากทั้งความอ่อนแอของเศรษฐกิจโลก และ การแข็งค่าของเงินบาท ซึ่งไทยพาณิชย์ ประเมินว่า เงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าอยู่ที่ระดับ 28.50-29 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงสิ้นปีนี้ เนื่องจากภาวะเงินทุนไหลเข้าจากการเข้าซื้อสินทรัพย์ทางการเงินในปริมาณมากของธนาคารกลางสหรัฐและญี่ปุ่น และการชะลอการแทรกแซงค่าเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย ( ธปท.) โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่น่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุดจากการแข็งค่าของเงินบาท คือ ยางพารา อาหารทะเลแปรรูป ผักและผลไม้แปรรูป เครื่องนุ่งห่ม อัญมณี และข้าว ขณะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายจะทรงตัวที่ร้อยละ 2.75 จนถึงสิ้นปีนี้ เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังมีความสมดุล จึงยังไม่มีความจำเป็นต้องลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และ เชื่อว่า ธปท.จะสงวนอัตราดอกเบี้ยเป็นเครื่องมือในการรักษาเสถียรภาพราคา
“สำหรับแนวทางการแก้ปัญหาบาทแข็งค่า มีหลายวิธี ทั้งการเข้าไปแทรกแซงด้วยการซื้อเงินดอลลาร์ ซึ่งแนวทางดังกล่าวจนมีผลกระทบต่องบดุลของ ธปท. ส่วนแนวทางการลดดอกเบี้ยมีข้อเสียอาจจะทำให้สินเชื่อเติบโตเร็วเกินไป อาจจะทำให้เงินเฟ้อแรงขึ้น ส่วนการใช้มาตรการควบคุมการไหลเข้าของเงินทุน อาจจะกระทบต่อความเชื่อมั่นในระยะยาว โดยมาตรการมีทั้งมาตรการเบาจนถึงขั้นรุนแรง ซึ่งแต่ละมาตรการมีทั้งข้อดีและข้อเสียแตกต่างกัน” นางสุทธาภา กล่าว
ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไป คาดว่าอยู่ที่ร้อยละ 2.8 และ เงินเฟ้อพื้นฐานที่ร้อยละ 1.6 หลังจากแรงกดดันจากราคาพลังงานลดลง แต่ต้องติดตามในช่วงปลายไตรมาส 2 ที่จะมีแรงกดดันเรื่องการปรับขึ้นราคา LPG