xs
xsm
sm
md
lg

“พยุงศักดิ์” นำทัพ ส.อ.ท.ยื่นหนังสือถึง “ปู” พรุ่งนี้เร่งแก้ไขบาทแข็งค่า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายพยุงศักดิ์
“พยุงศักดิ์”นำทัพ ส.อ.ท.เข้ายื่นหนังสือถึงนายกฯ พรุ่งนี้ (3 พ.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล หวังให้เร่งออกมาตรการแก้ไขภาะค่าเงินบาทแข็งค่า “ธนิต” เผยผลสำรวจความเห็นผู้ส่งออก 110 รายยืนยันตรงกันกว่าครึ่งลดกำลังการผลิตลงหลังรับออเดอร์ไม่ได้ เจรจาปรับเพิ่มสินค้าได้บางส่วน ชี้แนวโน้มรายได้ครึ่งปีแรกต่ำกว่าปีที่ผ่านมา

นายธนิต
นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า วันที่ 3 พ.ค.นี้ ส.อ.ท.จะเข้ายื่นหนังสือต่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นข้อเสนอของภาคเอกชนในการแก้ไขปัญหาค่าเงินบาท โดยเฉพาะมาตรการที่เอกชนได้หารือร่วมกันเมื่อวันที่ 24 เม.ย.ที่ผ่านมา และคิดว่ารัฐบาลควรจะมีแนวทางในการดูแลเพิ่มเติม 5 มาตรการ

“ขณะนี้เอกชนมีความกังวลต่อค่าเงินบาทที่แข็งค่ามาก ซึ่งมาตรการที่จะเสนอเห็นว่าเป็นมาตรการแรง เช่น การลดดอกเบี้ยนโยบายทันที 1% ออกมาตรการควบคุมเงินทุนไหลเข้าออก หรือ Capital Control ใช้นโยบายดูแลอัตราแลกเปลี่ยนให้เข้มข้นจากเดิมเน้นดูแลอัตราเงินเฟ้อ เพราะสถานการณ์ปัจจุบันอัตราแลกเปลี่ยนเป็นเรื่องที่น่าห่วงกว่า”นาย พยุงศักดิ์กล่าว

นายธนิต โสรัตน์ รักษาการประธานและเลขาธิการ ส.อ.ท.กล่าวว่า จากการจัดสัมมนาเรื่อง “ทิศทางและผลกระทบจากเงินบาทแข็งค่า” เมื่อเร็วนี้ซึ่งมีผู้ประกอบการส่งออกประมาณ 110 รายเข้าร่วมได้ทำแบบสอบถามความคิดเห็น พบว่า 86.9% ได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าโดยอุตสาหกรรมได้กระทบหนักสุด ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม เซรามิก เฟอร์นิเจอร์ ส่งออกผักผลไม้แปรรูป ชิ้นส่วนยานยนต์ ส่งผลกระทบต่อคำสั่งซื้อที่ลดต่ำทำให้ผู้ส่งออก 50% ได้ลดกำลังการผลิตลงแล้วเพราะไม่สามารถรับออเดอร์ได้

นอกจากนี้ ด้านความสามารถในการต่อรองขอปรับราคากับผู้ซื้อในต่างประเทศ พบว่า 43.50% ของผู้ประกอบการ ไม่สามารถปรับราคาได้ ขณะที่ 39% แจ้งว่า สามารถปรับราคาได้บ้างเล็กน้อย และ 17.50% ปรับราคาได้ปานกลาง และประเด็นเผลกระทบต่อธุรกิจครึ่งปีแรกผู้ส่งออกส่วนใหญ่ยืนยันตรงกันว่ารายได้ของธุรกิจครึ่งปีแรกนี้จะต่ำกว่าปีที่แล้ว เนื่องจากต้นทุนคงที่ หรือ Overhead ยังคงเท่าเดิม รวมทั้งต้นทุนวัตถุดิบ โดยเฉพาะผู้ส่งออกที่ใช้ผลิตภัณฑ์ในประเทศจะมีต้นทุนเท่าเดิม ซึ่งจะส่งผลทำให้ธุรกิจประสบกับการขาดทุน

“ผู้ประกอบการที่เป็น SMEs แจ้งว่า บาทแข็งค่าจะมีผลต่อการประกอบธุรกิจมากเนื่องจากส่วนใหญ่ผู้ส่งออกคำนวณต้นทุนการผลิตไว้ที่ 30-31 บาทต่อเหรียญสหรัฐ แต่ผู้ประกอบการก็เริ่มมีการปรับอัตราแลกเปลี่ยนไว้ที่ 29.50-30 บาทต่อเหรียญสหรัฐ หากเงินบาทดิ่งลงไปอยู่ที่ระดับ 28 บาท ก็จะขาดทุน ซึ่งผู้ประกอบการบางส่วนก็จะไม่รับออเดอร์ ส่งผลต่อมูลค่าการส่งออกในไตรมาสที่ 2 ก็จะลดลง” นายธนิตกล่าว

ทั้งนี้ มาตรการที่ผู้ส่งออกต้องการให้ภาครัฐดำเนินการได้แก่ การดูแลอัตราแลกเปลี่ยนให้สอดคล้องกับภูมิภาค มาตรการช่วยเหลือสภาพคล่องเร่งด่วนให้ SMEs หาตลาดส่งออกที่มีศักยภาพให้กับ SMEs
กำลังโหลดความคิดเห็น