xs
xsm
sm
md
lg

คาดผลประชุม กนง. วันที่ 3 เม.ย.นี้ คงดอกเบี้ย 2.75% ช่วยหนุน ศก. ขยายตัวต่อเนื่อง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กสิกร-ซีไอเอ็มบี คาดผลประชุม กนง. วันที่ 3 เม.ย.นี้ มีมติคงดอกเบี้ย 2.75% ช่วยหนุนการขยายตัว ศก. พร้อมระบุการปรับลดอัตราดอกเบี้ยแม้ว่าอาจจะช่วยบรรเทาแรงกดดันของการแข็งค่าของเงินบาทบางส่วน แต่อาจเป็นปัจจัยเร่งความร้อนแรงของระบบเศรษฐกิจ และสร้างความเสี่ยงต่อเสถียรภาพของระบบการเงินในระยะยาว
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ในการประชุมรอบที่ 3 ของปี 56 ในวันที่ 3 เมษายนนี้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) น่าจะมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.75% ซึ่งถือเป็นระดับที่สามารถสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจได้ดี ขณะที่การลดดอกเบี้ยอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อความไม่สมดุลของเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจในระยะยาว

ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยในภาพรวมยังคงสามารถขยายตัวได้ในอัตราที่เหมาะสม โดยการบริโภคภาคเอกชนยังเป็นปัจจัยหนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจ แม้ว่าแรงส่งจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐจะแผ่วลง แต่การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำน่าจะยังคงหนุนการบริโภคของครัวเรือน ขณะที่โครงการการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐมูลค่า 2 ล้านล้านบาท น่าจะส่งผลเชิงจิตวิทยาในการกระตุ้นการลงทุนของภาคเอกชน

สำหรับภาพรวมการส่งออกในปีนี้ คงมีการปรับตัวดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจโลกที่ส่งสัญญาณทยอยฟื้นตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเศรษฐกิจสหรัฐฯ และจีน นอกเหนือไปจากทิศทางของราคาสินค้าเกษตรที่ปรับตัวดี ซึ่งเป็นอีกปัจจัยหนุนการฟื้นตัวของภาคการส่งออกในปีนี้

นอกจากนี้ หากพิจารณาถึงอัตราผลตอบแทนพันธบัตรไทยอายุ 10 ปี จะเห็นได้ว่าอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้าน สะท้อนถึงต้นทุนทางการเงินของผู้ประกอบการไทยที่อยู่ในระดับที่เหมาะสม และสามารถแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ได้ จึงไม่มีความจำเป็นที่ทางการจะต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายนโยบายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

ขณะที่แม้ว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยอาจจะช่วยลดแรงกดดันการแข็งค่าของเงินบาท โดยอาจลดความน่าลงทุนในตลาดพันธบัตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งพันธบัตรระยะยาวที่ได้รับผลตอบแทนที่ลดลง แต่การลดอัตราดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับต่ำเป็นระยะเวลานานนั้น อาจมีผลกระทบต่อเสถียรภาพของระบบการเงินและเศรษฐกิจในระยะยาว โดยอาจส่งผลให้ผู้บริโภคมีแนวโน้มในการกู้ยืมเงินในอนาคตมาบริโภคในปัจจุบันมากขึ้น จากต้นทุนการกู้ยืมที่ปรับตัวลดลง ท่ามกลางสถานการณ์หนี้ครัวเรือนที่มีการปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง อันอาจส่งผลต่อภาระหนี้ และความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากเศรษฐกิจไม่ขยายตัวตามที่คาด รวมไปถึงทิศทางดอกเบี้ยที่อาจปรับตัวสูงขึ้นในระยะถัดไป หลังจากธนาคารกลางประเทศแกนหลักยุติมาตรการผ่อนคลายทางการเงิน ซึ่งคาดว่าจะเริ่มเห็นภาพชัดเจนขึ้นในช่วงกลางปี 57

ในขณะเดียวกัน อัตราดอกเบี้ยแท้จริงที่ติดลบจะกระทบต่อการออมของภาคครัวเรือน และการระดมทุนอาจต้องมีการพึ่งพาเงินทุนจากต่างประเทศมากขึ้น อันจะเพิ่มความเสี่ยงของระบบเศรษฐกิจต่อการเคลื่อนย้ายเงินทุนอีกด้วย นอกจากนี้ การคงอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำอย่างต่อเนื่อง ก็อาจสร้างแรงกดดันต่อการก่อตัวของฟองสบู่ในราคาสินทรัพย์ต่างๆ ได้ ดังที่เกิดขึ้นแล้วในสหรัฐฯ

ทั้งนี้ การปรับลดอัตราดอกเบี้ย แม้ว่าอาจจะช่วยบรรเทาแรงกดดันของการแข็งค่าของเงินบาทบางส่วน แต่อาจเป็นปัจจัยเร่งความร้อนแรงของระบบเศรษฐกิจ และสร้างความเสี่ยงต่อเสถียรภาพของระบบการเงินในระยะยาว

อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยในปีนี้คงขึ้นอยู่กับภาคการส่งออกเป็นสำคัญ ภายใต้สถานการณ์ที่เงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง จะส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออก โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า การแข็งค่าของเงินบาททุกๆ 1% อาจจะการทบต่อการขยายตัวของการส่งออก 0.6-1.1% อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าอัตราดอกเบี้ยของไทยที่สูงกว่าประเทศที่พัฒนาแล้วคงมีผลดึงดูดเงินทุนไหลเข้าอยู่บ้าง แต่ปัจจัยหลักน่าจะมาจากมุมมองต่อผลตอบแทนของการลงทุนซึ่งมาจากพื้นฐานทางเศรษฐกิจเป็นสำคัญ รวมไปถึงการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดสะสมของไทย ซึ่งทิศทางการปรับตัวของค่าเงินคงเป็นไปตามปัจจัยต่างๆ ดังกล่าว และการลดอัตราดอกเบี้ยคงมีผลต่อทิศทางของค่าเงินบาทเพียงชั่วคราวเท่านั้น

นอกจากนี้ ทางการก็ยังมีเครื่องมือในการบริหารจัดการไม่ให้ค่าเงินบาทส่งผลต่อเศรษฐกิจโดยรวมอย่างรุนแรง ในขณะที่บริษัทส่งออกสามารถที่จะเข้าถึงเครื่องมือทางการเงิน เช่น สัญญาป้องกันความเสี่ยงค่าเงิน หรือสัญญาซื้อขายเงินตราล่วงหน้า อันน่าจะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถลดความเสี่ยงจากค่าเงินที่ผันผวนได้ส่วนหนึ่ง นอกจากนี้ ภาครัฐได้มีการออกมาตรการต่างๆ เพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาท เช่น การลดภาษีการนำเข้าเครื่องจักร รวมถึงการส่งเสริมการลงทุนในต่างประเทศ เพื่อช่วยผู้ประกอบการเหล่านี้สามารถที่จะแข่งขันกับประเทศคู่ค้า และสามารถอยู่รอดได้

สำหรับผลต่ออัตราดอกเบี้ยธนาคารพาณิชย์ไทย ศูนย์วิจัยฯ ระบุว่า ทิศทางดอกเบี้ยนโยบายที่ทรงตัว คงส่งผลต่ออัตราดอกเบี้ยธนาคารพาณิชย์ไทยให้ทรงตัวเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ที่ขยายตัวในระดับสูงตามการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจ ขณะที่ภาครัฐมีแนวโน้มเข้ามาระดมทุนในระบบมากขึ้น เพื่อสนับสนุนโครงการต่างๆ ของภาครัฐ ก็อาจเป็นอีกปัจจัยที่จะกระทบสภาพคล่องของระบบธนาคารพาณิชย์ และกระตุ้นให้ธนาคารพาณิชย์อาจมีการเตรียมระดมเงินฝากเพื่อรองรับการขยายตัวของการปล่อยสินเชื่อในระยะข้างหน้า ซึ่งคงจะส่งผลต่อการแข่งขันด้านอัตราดอกเบี้ยเงินฝากให้มีความคึกคักมากขึ้น

ด้านนายอดิศร เสริมชัยวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่สายธุรกิจลูกค้ารายย่อย ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย กล่าวคาดว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันที่ 3 เมษายนนี้ จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 2.75 หลังจากที่ตัวเลขเศรษฐกิจในเดือนกุมภาพันธ์ยังทรงตัว แม้การส่งออกจะชะลอตัว แต่มีการลงทุนของภาครัฐเข้ามาทดแทน และกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตได้ดี ถึงดีมาก จึงไม่จำเป็นต้องผ่อนคลายนโยบายทางการเงิน หรือใช้ดอกเบี้ยต่ำ

ส่วนร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท นั้น มองว่าเป็นการลงทุนระยะยาวที่ดีที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ และการจ้างงาน
กำลังโหลดความคิดเห็น